“สายสืบผักสด” สอนเพาะปลูกผักผลไม้ปลอดภัยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์

“สายสืบผักสด” สอนเพาะปลูกผักผลไม้ปลอดภัยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์

“สายสืบผักสด” สอนเพาะปลูกผักผลไม้ปลอดภัยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากการดำเนินงานของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ใน “โครงการเครือข่ายผักสดปลอดภัย” (สายสืบผักสด) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งร่วมกันทำงานลักษณะเชิงรุก โดยมีการตรวจสอบคุณภาพผักสดที่ปนเปื้อนสารเคมี ทั้งนี้การดำเนินงานที่ผ่านมา1ปีเต็ม ทำให้โครงการได้รับพันธมิตรทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และที่สำคัญคือกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของโครงการสายสืบผักสด ปัจจุบันเกษตรกรให้ความไว้ใจและเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้แนวทางการเพาะปลูกผักผลไม้ที่ปลอดภัย


ดังนั้น วันที่ 26 กันยายน 2558 “สายสืบผักสด” โดย พันตำรวจเอกวัฒนา แก้วดวงเทียน รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (รอง ผบก.ปคบ.) ประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้แทนจากภาคีเครือข่าย และผู้แทนเกษตรกร พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์กิจกรรมเครือข่าย “สายสืบผักสด”และกลุ่มเกษตรกร ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเรียนรู้แปลงเพาะปลูกผักผลไม้ที่ปลอดภัย เพื่อให้ท่านเกษตรกรได้เรียนรู้ ศึกษา แลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาในการเพาะปลูกและการสร้างรายได้ให้แก่ผลผลิตโดยไม่เป็นอันตรายต่อการรับประทานของผู้บริโภค


“ตามที่โครงการ สายสืบผักสด ได้ดำเนินงานที่ผ่านมานั้น ได้จัดอบรมเสวนาทางวิชาการเพื่อให้ความรู้ โดยท่านเกษตรกร นักวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สำหรับวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สามารถให้ผู้แทนเกษตรกรได้ลงพื้นที่จริง และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรซึ่งจะส่งผลประโยชน์นี้ไปยังผู้บริโภค ที่จะได้บริโภคผัดสดที่ปลอดภัย ซึ่งสิ่งดีๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่ให้การตระหนักในการลดใช้สารเคมีในพืชผักผลไม้” พ.ต.อ.วัฒนา กล่าว


ในช่วงเช้า “สายสืบผักสด” ลงพื้นที่พร้อมกลุ่มเกษตรกรดูงาน ศึกษา เรียนรู้ การเพราะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี และทำการตรวจสอบสารเคมีในผักสดของ 108 เทคโนฟาร์ม จังหวัดอ่างทอง โดยคุณสมเจตน์ เจริญศรีสัมพันธ์ เกษตรกรผู้บริหารฟาร์มในนโยบายตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ได้บรรยายถึงวิธีการเพาะปลูกผักสดโดยไม่ใช้สารเคมี แต่เป็นการหาวิธีการแก้ปัญหาและป้องกันด้วยวัสดุจากธรรมชาติในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยมาตรฐานThaiGap และจุดที่น่าสนใจคือการสร้างฐานเครือข่ายเกษตรกรในชุมชุม โดยคุณสมเจตน์ ได้ผลักดันและรวบรวมสมาชิกเกษตกรภายในจ.อ่างทอง จัดตั้งเป็นสำนักงานเกษตรกรและสหกรณ์ จังหวัดอ่างทอง โดยมีศูนย์กลางเพื่อรวบรวมผลผลิตให้ได้ปริมาณที่ต้องการจากยอดสั่งซื้อของลูกค้าที่เพียงพอและสามารถตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยได้ จากนั้น พ.ต.อ.วัฒนา แก้วดวงเทียน (รองผบก.ปคบ.) นำทีมเกษตรกรลงสำรวจพื้นที่เรียนรู้บริเวณแปลงผักภายในฟาร์มและเก็บตัวอย่างผักสดเพื่อนำไปตรวจสอบหาสารเคมีปนเปื้อนตามกิจกรรม “สายสืบผักสด”


จากนั้นกิจกรรม “สายสืบผักสด” ได้พากลุ่มเกษตรกรไปเยี่ยมชมเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนโรงเรือนเพื่อการเพาะปลูก เมล่อน และ ผักสดปลอดสารพิษ จากสำนักงานเกษตรกรและสหกรณ์ จังหวัดอ่างทอง โดยเกษตรกร แพทย์หญิงศิริ ดิลกวัฒนะโยธิน ซึ่งผลการเพาะปลูกเป็นที่น่าสนใจของกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมเครือข่าย “สายสืบผักสด” เป็นอย่างมาก


ช่วงบ่ายกิจกรรมเครือข่าย “สายสืบผักสด” ยกทัพลงพื้นที่ไปถึงจังหวัดสระบุรี เพื่อนำผู้แทนจากภาคีเครือข่ายและเกษตรกรเรียนรู้ ศึกษา ดูงาน ที่ ฟาร์มเกษตร สมเกียรติ ผักอร่อย ซึ่งดำเนินงานโดยเกษตรกร คุณสมเกียรติ ลำพันแดง และคุณสุนันท์ สตะจิตร ด้วยตัวพื้นที่ฟาร์มที่พึ่งเริ่มเพาะปลูกเพียง 3 เดือน และเป็นการเพาะปลูกผักแบบแนวคิดที่ทันสมัย อย่างเช่นการเพาะต้นอ่อนของผักบุ้ง โดยไม่ต้องรอให้โตเต็มที่ แต่เก็บเกี่ยวมาจำหน่ายเพื่อประกอบอาหารในลักษณะต้นอ่อน ทำให้เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมทานผักสด


จากนั้น คุณสมเกียรติ ได้เรียนเชิญ “สายสืบผักสด” และกลุ่มเกษตรกร โดย พ.ต.อ.วัฒนา ไปเยี่ยมชมศึกษาและตรวจสอบความปลอดภัยในการดำเนินกิจการค้าส่งผักสด “ สมเกียรติ ผักอร่อย” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฟาร์มเพาะปลูก ทั้งนี้คุณสมเกียรติ ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรมาประมาณ 6ปี ในฐานะ “ผู้รวบรวมผัก” ซึ่งพืชผักเกษตรที่ได้ GMP ทั่วทั้งจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งผักจากฟาร์ม “ สมเกียรติ ผักอร่อย” เป็นผักตามมาตรฐาน GMP ทั้งสิ้น ซึ่งลูกค้าหลักคือ ศูนย์การค้าส่ง แม็คโคร (Makro) ซึ่งมียอดสั่งซื้อประมาณ5-6 ตัน/วัน จากกิจกรรมการเยี่ยมชมการดำเนินงาน ทำให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความสนใจในกระบวนการจำหน่ายผักผลไม้ปลอดภัย เพราะได้เรียนรู้วิธีการตรวจสอบสารเคมีที่ปนเปื้อนมาในผักผลไม้ด้วยเทคโนโลยีภายในฟาร์ม ตลอดจนถึงการเข้าเยี่ยมชมการเตรียมผัดสดเพื่อทำการบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานจนถึงกระบวนการจัดส่ง


ทั้งนี้ตลอดทั้งวันของกิจกรรมเครือข่าย “สายสืบผักสด” ลงพื้นที่ศึกษาและเรียนรู้แปลงผักผลไม้ที่ปลอดภัยทำให้ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายและผู้แทนเกษตรกรได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของโครงการ “สายสืบผักสด” เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ได้เรียนรู้ ศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยประสบการณ์จริง


“ผมนายโชคชัย หาระภูมิ ผู้แทนเกษตรกร จังหวัดนนทบุรี รู้สึกประทับใจในการเข้าร่วมกิจกรรมกับสายสืบผักสด เป็นอย่างมากเพราะทำให้ได้ความรู้ และข้อคิดเพื่อการหันมาคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งถ้าศึกษาจริงๆก็สามารถลดการใช้สารเคมี และตัวเกษตรกรก็ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายเวลาลงการกำจัดศัตรูพืชด้วยสารเคมีอีกด้วย” คุณโชคชัย กล่าว


อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ผู้บริโภคควรทำความสะอาดผักสดก่อนรับประทาน โดยใช้เกลือ หรือน้ำส้มสายชูผสมน้ำ แช่ทิ้งไว้ 10 ถึง 15 นาที แล้วล้างออกหรือล้างด้วยน้ำสะอาด ให้น้ำไหลผ่านนาน 2 นาที เพื่อลดปริมาณสารเคมีตกค้างให้น้อยลง และการเลือกซื้อผักสดจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหลีกเลี่ยงจากผักสดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย ทั้งนี้สามารถแจ้งแหล่งผลิตผักสดที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนแหล่งผลิตและจำหน่ายสารเคมีที่ผิดกฎหมาย ได้ทางสายด่วน 1135 หรือ 02-939 3435 หรือ www.cppd.go.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook