"กระดูกอักเสบ" ภัยเงียบใกล้ตัว

"กระดูกอักเสบ" ภัยเงียบใกล้ตัว

"กระดูกอักเสบ" ภัยเงียบใกล้ตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากมีไข้หนาวสั่น ปวดบวมตามกระดูก เคลื่อนไหวได้น้อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร  อย่ามองว่าเล็กน้อย อาจเป็นโรคกระดูกอักเสบได้

 

โรคกระดูกอักเสบ คืออะไร?

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีการการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกระดูกอักเสบ คือโรคที่เกิดจากกระดูกติดเชื้อโรค โดยทั่วไปมักเป็นจากเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจพบจากติดเชื้อราได้ โรคกระดูกอักเสบเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นของร่างกายที่พบบ่อยคือ กระดูกขา เท้า และกระดูกสันหลัง โดยทั่วไปมักพบกระดูกอักเสบเพียงตำแหน่งเดียว แต่อาจพบหลายตำแหน่งพร้อมกันได้ นอกจากนี้ยังพบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และมีโอกาสเกิดเท่ากันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

 

สาเหตุของโรคกระดูกอักเสบ

สาเหตุของโรคกระดูกอักเสบเกิดได้ 3 ทาง คือ การติดเชื้อจากกระแสเลือด เนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียงกระดูกที่อักเสบติดเชื้อ และการติดเชื้อจากเนื้อเยื่อกระดูกขาดเลือดจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี อาการที่พบบ่อย ได้แก่  มีไข้หนาวสั่น ปวดบวมตามกระดูกที่อักเสบ เคลื่อนไหวกระดูกส่วนที่อักเสบได้น้อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ในกระดูกอักเสบเรื้อรังมักมีแผลและหนองไหล ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงกับกระดูกอักเสบเจ็บ โต คลำพบก้อน

 

กลุ่มเสี่ยงโรคกระดูกอักเสบ

นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากโรคกระดูกอักเสบ อาทิ

  • เกิดอุบัติเหตุ หรือผ่าตัดกระดูกหรือข้อในระยะเวลา 1-3 เดือนก่อนเกิดกระดูกอักเสบ

  • ป่วยด้วยโรคที่ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง

  • ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดยา

    เป็นต้น

 

วิธีวินิจฉัยโรคกระดูกอักเสบ

แพทย์จะวินิจฉัยโรคกระดูกอักเสบได้จากประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายในตำแหน่งกระดูกที่มีอาการโดยการเอกซเรย์ การเพาะเชื้อจากหนอง และอาจตัดชิ้นเนื้อกระดูกชิ้นที่มีอาการเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อนำมาวินิจฉัยให้ได้ผลแน่นอนที่สุด

 

การรักษาโรคกระดูกอักเสบ

การรักษาโรคกระดูกอักเสบ มี 2 วิธีหลัก ได้แก่

  1. การให้ยาฆ่าเชื้อที่มีคุณสมบัติตรงกับเชื้อที่ตรวจพบ โดยให้ยาทางหลอดเลือดดำและรับประทานยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะประเมินจากชนิดของเชื้อ ความรุนแรงของอาการอักเสบ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย

  2. การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเพื่อปลูกกระดูกใหม่ การตัดขาหากเกิดกระดูกขาอักเสบรุนแรงมากและเรื้อรัง

 

ทั้งนี้วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การรักษาความสะอาดของร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้อยู่เสมอ คอยระวังอย่าให้มีดบาดหรือเกิดอุบัติเหตุจนมีแผล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกอักเสบ ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่แน่ใจในอาการ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook