“สินไซ ศิลป์สร้างสุข”

“สินไซ ศิลป์สร้างสุข”

“สินไซ ศิลป์สร้างสุข”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

          “สินไซ” หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “สังข์ศิลป์ชัย” เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านสองฝั่งโขงที่ยังปรากฏอยู่และสืบค้นได้ ว่ากันว่าสินไซนี้ได้เค้าโครงเรื่องมาจากปัญญาสชาดก หรือ “พระเจ้าห้าสิบชาติ” คือชาดกในลำดับที่ 29 เรื่อง “ท้าวพยากุดสะราดชาดก”

          สำหรับอีสานบ้านเรา เรื่องราวการต่อสู้ของสามพี่น้องฝ่ายธรรมะ คือ สังข์ สินไซ และสีโห กับฝ่ายอธรรม ได้ถูกแปรรูปและเข้าไปบูรณาการเป็นเนื้อเดียวกับศิลปะและวัฒนธรรมหลายแขนง ทั้งหมอลำ การเทศน์ การแหล่ หนังประโมทัยหรือหนังตะลุงอีสาน ฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนัง

          วัดไชยศรี บ้านสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบสถ์หรือสิม อายุมากกว่า 100 ปี เดิมทีเป็นโบสถ์มุงหลังคาด้วยแผ่นไม้ มีปีกยื่นออกไปสองข้างตามแบบสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิม ต่อมาเมื่อหลังคาเริ่มทรุดโทรม จึงได้รื้อและทำขึ้นใหม่เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ แต่ที่สำคัญ ฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกยังคงปรากฏภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูปแต้ม” เป็นเรื่องราวของสินไซ ที่สมบูรณ์ สวยงาม และเด่นชัด

          ท่านพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี เป็นทั้งพระนักพัฒนา และผู้นำด้านจิตวิญญาณที่ยังคงอนุรักษ์ สืบสาน เชื่อมร้อย และต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอีสาน หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างกลมกลืน ฉันกลับมาที่นี่อีกครั้งกับ “โครงการสินไซโมเดล แห่งบ้านสาวะถี” นำร่องศิลป์อีสานสร้างสุข เพื่อการสร้างพื้นที่ดีวิถีสุข ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

          “ค่ายศิลป์อีสานสร้างสุข” เป็นค่ายที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ รวม 5 แห่งในละแวกนี้ อาทิ 1.โรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฎิ์) 2.โรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ 3.โรงเรียนบ้านลาดนาเพียง 4.โรงเรียนบ้านโนนกู่ และ 5.โรงเรียนบ้านงิ้ว จำนวนกว่า 130 ชีวิต ได้มาเรียนรู้เรื่องราวของสินไซ และสร้างสรรค์สินไซในแบบฉบับของตนเอง ภายใต้บริบทของศิลปะและวัฒนธรรมที่ตนสนใจ โดยมีการจัดเป็นฐานปฏิบัติการการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวม 9 ฐาน ได้แก่ วาดรูป แต่งเพลง เล่นดนตรีกันตรึม ทำหนังประโมทัย ทอผ้า เขียนและร้องเพลงกล่อมลูก วารสาร สารคดี และหนังสั้น

          ใน ฐานวาดรูป เด็กๆ ได้รับแจกกระเป๋าผ้าดิบ คนละหนึ่งใบ จากนั้นวิทยากรก็จะสอนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการวาด และให้เด็ก ๆ ได้วาดภาพตามแบบจิตรกรรมฝาผนังรอบโบสถ์ โดยเลือกเพียงรูปใดรูปหนึ่งที่ตนสนใจ นั่นหมายความว่า พวกเขาก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวของสินไซ และคุณค่าในเชิงคุณธรรม จริยธรรมไปพร้อมกันด้วย

          ฐานหนังประโมทัย หรือหนังบักตื้อ หรือหนังตะลุงอีสาน สิ่งที่ฉันได้ประจักษ์ก็คือ ความสุข ความรักและความสามัคคีที่ก่อตัวขึ้นในระหว่างการทำงานร่วมกัน สิ่งที่สอดแทรกอยู่ในการประกอบสร้างเรื่องราวและการละเล่นดังกล่าว คือ การลดทอนความสำคัญของ “บุคคล” ให้ไปอยู่ที่ “กลุ่มบุคคล” ความสำเร็จไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยระบบ “ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว” แต่มันจะต้องไปด้วยกันทั้งองคาพยพ เบื้องหน้าของฉากขาวใต้เงาไฟที่เรียกรอยยิ้มจากผู้ชมนั้น ด้านหลังฉาก คือ ความพร้อมเพียงของทั้งคนเชิด คนร้อง คนให้จังหวะสัญญาณ รวมทั้งดนตรี และภายใต้ความพร้อมเพรียงนั้น ก็มีสิ่งที่เรียกว่าคุณธรรมอยู่มากมาย ทั้งเรื่องวินัย ความเอื้อเฟื้อ ความกล้าหาญ หรือกล้าที่จะทำดี ความอดทน ตลอดจนการเป็นผู้นำและผู้ตาม

          สำหรับ ฐานหมอลำหุ่น ได้เริ่มจากการให้เด็ก ๆ เข้าไปในหมู่บ้าน และขอรับบริจาคข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำมาประดิษฐ์ เป็น “ฉาก” และ “ตัวละครหุ่น” จากนั้นก็มาช่วยกันออกแบบและประดิดประดอยอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ตั้งอกตั้งใจจนกระติบข้าวหลายๆ ใบและสิ่งของเหลือใช้ กลายเป็น “หุ่น” ที่มีชีวิตเหมือนตัวคนเชิด ส่วนฐานอื่นๆ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ การเรียนรู้เรื่องสินไซ การเก็บรวบรวมข้อมูลและการนำเสนอสินไซในจินตนาการผ่านงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม

สำหรับฉันแล้ว นับได้ว่าโดยกระบวนการดังกล่าวนี้ได้ทำให้เด็กๆ เรียนรู้คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันดีงามด้วย “ความสุข” เป็นการเรียนรู้แบบ “by heart” มิใช่ “by head” ซึ่งจะเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่ฝังลึกอยู่ในตัวตนของเขา มิใช่เป็นเพียงความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือหรือการท่องจำตามตำรา

“สินไซ” ได้ถูกปลุกให้มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในความคิดของเด็ก ๆ แล้ว สิ่งที่เหลือก็คือ เราจะต่อยอดและขยายผลเรื่องนี้กันอย่างไร... ให้ความสุขนี้เป็นสุขที่ยั่งยืน ....

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook