รักษาโรค "เข่ากำเริบ" ของผู้สูงอายุ ด้วยแพทย์แผนไทย

รักษาโรค "เข่ากำเริบ" ของผู้สูงอายุ ด้วยแพทย์แผนไทย

รักษาโรค "เข่ากำเริบ" ของผู้สูงอายุ ด้วยแพทย์แผนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แพทย์แนะทางเลือกในการดูแลสุขภาพข้อเข่าผู้สูงอายุด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย หลังพบอาการกำเริบหนัก ในช่วงอากาศหนาว พร้อมแนะวิธีป้องกันการเกิดโรค

นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะรองโฆษกกรม กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ผู้สูงอายุต้องการการดูแลรักษา รวมถึงการชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทั้งนี้ ช่วงการเปลี่ยนผ่านฤดูกาลส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้เกิดอาการปวดตามข้อต่อต่างๆ โดยเฉพาะข้อเข่าซึ่งจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หรือรู้จักกันดีคือ โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of knee)

โรคข้อเข่าเสื่อม ศาสตร์การแพทย์แผนไทยเรียกว่า โรคลมจับโปง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ จับโปงน้ำจะมีอาการปวดเข่า เข่าบวม อักเสบชัดเจน มีน้ำในข้อเข่า ส่วนจับโปงแห้ง จะมีอาการปวดเข่า อักเสบไม่ชัดเจน มักพบเสียงกรอบแกรบในข้อเข่า ข้อเข่าฝืด สะบ้าติด งอพับเข่าได้ไม่ดีนัก เมื่อพบอาการดังกล่าวแพทย์แผนไทยมีวิธีบรรเทาอาการด้วยการนวดรักษาเฉพาะจุดเพื่อส่งเลือดให้ไปเลี้ยงบริเวณข้อเข่ามากขึ้น ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ กระตุ้นระบบไหลเวียนบริเวณข้อเข่าให้ดีขึ้น หลังจากนั้นจะทำการประคบสมุนไพร หรือใช้ยาพอกเข่าเพื่อลดการอักเสบและอาการปวดเข่า

นอกจากการทำหัตถการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมี การใช้ยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงที่มีการศึกษาวิจัย พบว่า ยาสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงสามารถลดอาการอักเสบ และบรรเทาอาการปวดได้ผลดีเหมือนยาแก้อักเสบแผนปัจจุบัน และไม่ก่อให้เกิดการสะสมของสารเคมีในร่างกาย ยังมีน้ำมันไพลใช้สำหรับถูนวดบรรเทาอาการปวด และลดการอักเสบได้ดี ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับอาการปวดเข่า

นายแพทย์สรรพงศ์ กล่าวอีกว่า หากต้องการที่จะห่างไกลจากโรคข้อเข่า ควรดูแลร่างกายและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น การไม่ยกของหนัก หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดแรงกดต่อข้อเข่ามากเกินไป หลีกเลี่ยงการรับประทานประเภทหน่อไม้ เครื่องในสัตว์ และอาหารหมักดอง รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เพราะจะส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อ และข้อบวมได้ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาหารที่ช่วยบำรุงข้อ ได้แก่ อาหารจำพวกธัญพืช เมล็ดถั่ว เมล็ดงา ออกกำลังกายเป็นประจำ สำหรับผู้มีน้ำหนักเกินไม่ควร  ออกกำลังกายโดยการวิ่ง การกระโดด หรือประเภทที่ก่อให้เกิดแรงกดต่อข้อเข่า ควรใช้การว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอากาศ หรือการทำท่ากายบริหารแบบฤาษีดัดตน ควรพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง และรักษาความอบอุ่นของร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ หากท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือเว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook