อันตรายของโรค "เบาหวาน" ในเด็กที่แตกต่างจากผู้ใหญ่

อันตรายของโรค "เบาหวาน" ในเด็กที่แตกต่างจากผู้ใหญ่

อันตรายของโรค "เบาหวาน" ในเด็กที่แตกต่างจากผู้ใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคเบาหวานถือเป็นโรคที่พบมากในคนสูงอายุ หากแต่น้อยคนนักจะทราบว่าโรคเบาหวานนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็กรวมทั้งมีสาเหตุ และการดูแลรักษาที่แตกต่างกันกับโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ เนื่องจากในวัยเด็กร่างกายยังต้องการการเจริญเติบโตที่สมวัยจึงต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เด็กๆเจริญเติบโตได้ตามปกติ รพ.พระรามเก้าจึงขอร่วมรณรงค์ห่างไกลเบาหวานในทุกช่วงวัย

โรคเบาหวานที่พบในวัยเด็กและวัยรุ่นแบ่งได้ 3 ชนิด

  1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วยทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน จึงทำให้มีภาวะขาดอินซูลินตามมา

  2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดการที่ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยเป็นเบาหวานชนิดที่พบมากในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพบว่าเกิดในผู้ป่วยที่อายุน้อยลงเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงคือภาวะโภชนาการเกินที่พบมากขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก

  3. โรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น ได้แก่ ภาวะความผิดปกติของสารพันธุกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาของตับอ่อน การติดเชื้อ รวมถึงยาบางชนิด

เบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่เกิดจากเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งสาเหตุของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่ทราบแน่ชัดในปัจจุบัน โดยเชื่อว่าเกิดจากภาวะความเสี่ยงทางพันธุกรรม และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร่วมกับปัจจัยทางสภาวะแวดล้อมเช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน

อาการของเด็กที่พบว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากมีภาวะขาดอินซูลินจึงไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไปใช้เป็นพลังงานในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆมีภาวะขาดน้ำตาลหรือพลังงาน ร่วมกับการมีน้ำตาลสูงในกระแสเลือด โดยในระยะแรกของโรคเด็กๆ จะมีอาการอ่อนเพลียง่าย รับประทานอาหารและน้ำมากขึ้น แต่น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีปัสสาวะมากกว่าปกติ หากไม่ได้รับการรักษาร่างกายจะมีการสลายพลังงานสะสมในร่างกายซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน ที่เรียกว่าภาวะ “ดีเคเอ” (DKA: diabetic ketoacidosis) ตามมา

 

อาการของโรคเบาหวานในเด็ก

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หอบเหนื่อย ซึมลงจากภาวะสมองบวม รวมทั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยแพทย์ต้องอาศัยการซักประวัติอาการดังที่กล่าวไป ร่วมกับการเจาะตรวจน้ำตาลในเลือด เมื่อพบแน่ชัดว่าเป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้อินซูลินทดแทนโดยการฉีดเข้าชั้นไขมันวันละ 3-4 ครั้ง หรือผ่านเครื่องจ่ายอินซูลินเข้าร่างกายอย่างต่อเนื่อง (insulin pump) ร่วมกับการเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเพื่อช่วยในการปรับยาอินซูลินให้เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะน้ำตาลสูงและน้ำตาลต่ำระหว่างการรักษา นอกจากนี้อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะไม่ได้เน้นการจำกัดพลังงานดังเช่นในเด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ควรเป็นอาหารที่มีพลังงานและสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมตามวัยเพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานในเด็ก

เด็กที่เป็นเบาหวานอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  โดยภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้นเกิดได้จากภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมากร่วมกับมีเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนหรือ “ดีเคเอ” ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอินซูลินหรือมีภาวะเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งเกิดจากการได้รับยาอินซูลินในปริมาณที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน โดยเด็กๆ จะมีอาการเหงื่อออกมาก ใจสั่น ซึมลง หรืออาจมีอาการรุนแรงคือชักและหมดสติได้

ส่วนภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เกิดจากการมีภาวะน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานาน โดยอาจประเมินจากค่าน้ำตาลสะสมหรือ HbA1C เป็นระยะซึ่งหากมีค่าสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบต่างๆในร่างกาย เช่น ผลต่อจอประสาทตา ไต ระบบประสาทส่วนปลาย ระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

 

การรักษาโรคเบาหวานในเด็ก

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งพบได้มากในเด็กและวัยรุ่นอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากมาย นอกจากนี้การรักษาต้องใช้ทักษะในหลายๆด้านทั้งความรู้ด้านโภชนาการ การรักษาด้วยยาอินซูลินซึ่งเป็นยาชนิดฉีด และต้องมีการปรับยาตามอาหารและระดับน้ำตาลปลายนิ้ว จึงมีความจำเป็นที่เด็กจะต้องได้รับทั้งกำลังใจและความช่วยเหลือจากทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครองรวมถึงคุณครูเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสม เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดจากโรคนี้ แต่ก็มีการพัฒนาชนิดของยาและอุปกรณ์ที่จะช่วยลดความยุ่งยากและความเจ็บปวดจากการเจาะเลือดและฉีดยาให้ลดน้อยลง จึงทำให้เด็กๆที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีการเจริญเติบโตสมวัยและห่างไกลจากภาวะแทรกซ้อนอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook