10 แนวทาง ดูแลฟื้นฟูจิตใจ "ทีมหมูป่าอะคาเดมี"

10 แนวทาง ดูแลฟื้นฟูจิตใจ "ทีมหมูป่าอะคาเดมี"

10 แนวทาง ดูแลฟื้นฟูจิตใจ "ทีมหมูป่าอะคาเดมี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมสุขภาพจิต ใช้ 10  แนวทางดูแลฟื้นฟู เด็กและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี /จัดทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเยียวยาใจครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในถ้ำหลวงฯขณะปฏิบัติหน้าที่

กรมสุขภาพจิต ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทั้งในและนอกสังกัด จัดแผนฟื้นฟูเด็กและโคชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ภายหลังออกมาจากถ้ำอย่างดีที่สุดรวมทั้งครอบครัว โดยใช้ 10 แนวทางดูแล อาทิ การเสริมทักษะเพิ่มภูมิคุ้มกันทางใจ การช่วยให้เกิดการทบทวนและเรียนรู้จากเหตุการณ์เพื่อการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท เยียวยาใจครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในถ้ำหลวงฯระหว่างปฏิบัติหน้าที่อย่างใกล้ชิด 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแผนความพร้อมในการดูแลฟื้นฟูด้านจิตใจของทีมฟุตบอลหมูป่าพร้อมโค้ชรวม 13 คน หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือออกมานอกถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงรายว่า  แผนการดูแลฟื้นฟูจิตใจของทีมหมูป่าที่ประสบภัยติดถ้ำครั้งนี้  จะมีความแตกต่างจากภัยพิบัติหรือสาธารณภัยที่ผ่านมา เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจทั้งผู้ประสบภัยและครอบครัวเป็นหลัก  โดยได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญของกรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  และอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และทีมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่  เพื่อระดมสมองวางแผนการดูแลจิตใจทั้งระยะสั้นและระยะยาว  ป้องกันไม่เกิดความผิดปกติทางใจ ให้เด็กสามารถปรับตัวได้เป็นปกติหรือดีกว่าเดิม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

ผลสรุปการประชุมได้กำหนด 10 แนวทางดูแล ดังนี้

  1. การประเมินสภาพจิตใจและให้การแก้ไขป้องกันโดยเร็ว

  2. จัดกิจกรรมให้เกิดการผ่อนคลายและการปรับใจให้สงบ

  3. ช่วยปรับความคิดและอารมณ์ด้านลบที่เกี่ยวข้องกับการติดในถ้ำ

  4. เสริมทักษะและสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ เพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจ

  5. ช่วยให้เกิดการทบทวนและเรียนรู้จากเหตุการณ์ เพื่อการปรับตัวที่ดีขึ้น

  6. ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มช่วยเหลือกันเอง

  7. ช่วยวางแผนชีวิตอนาคต

  8. เตรียมการกลับสู่การเรียน

  9. การเตรียมการกลับสู่ชุมชน

  10. การเตรียมการตอบสนองต่อสังคมรอบข้าง 

ทางด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการดำเนินการดูแลตาม 10 แนวทางที่กล่าวมา จะแบ่งเป็น 3  ระยะ ช่วงที่อยู่ในโรงพยาบาล หลังออกจากโรงพยาบาลถึง 3 เดือน และ ระยะ 6 เดือน ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้โดยทีมสุขภาพจิตของเชียงราย แต่อาจมีบางวิธีที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นของกรมสุขภาพจิตร่วมด้วย  โดยในวันนี้คณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย และกรมสุขภาพจิต ได้ประชุมร่วมกับทีมสุขภาพของจ.เชียงราย เพื่อพิจารณาแนวทางในพื้นที่จริงที่อำเภอแม่สาย

นอกจากนี้ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การซักถามหรือการสัมภาษณ์เด็กและครอบครัวต่อจากนี้ ที่ควรหลีกเลี่ยงการถามถึงเหตุการณ์วิกฤต เนื่องจากเป็นการตอกย้ำจิตใจ สร้างบาดแผลทางใจให้เกิดขึ้นกับเด็กได้ จึงไม่ควรใช้คำถามที่ทำให้เขารู้สึกหวาดกลัว ซ้ำเติม หรือตำหนิ หรือพูดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ ชี้นำสภาพจิตใจ ให้แย่ลง เป็นต้น จึงไม่ใช่เวลาในการหาจำเลย ตั้งข้อหา หาสาเหตุ หรือสั่งสอนให้หลาบจำ เพราะเรื่องได้เกิดขึ้นแล้ว และเหตุการณ์นี้ จะทำให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่า ต่อไปเขาต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างไร และต้องไม่ประมาทกับการใช้ชีวิต เป็นต้น การถามจึงควรถามในประเด็นเชิงบวก สร้างขวัญกำลังใจ เช่น พวกเขาอยู่ได้อย่างไร ทุกคนในทีมช่วยเหลือกันและกันอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจและช่วยด้านสภาพจิตใจพวกเขาได้ อย่างไรก็ตาม ควรรอให้เด็กได้รับการประเมินและดูแลจนพร้อมก่อน ซึ่งในการดูแลด้านสุขภาพจิตนั้น ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook