เตือนแซ่บอีสาน "ปลาร้า ปลาส้ม ก้อยปลา" กินดิบเสี่ยง "มะเร็งท่อน้ำดี"ถึงตาย!

เตือนแซ่บอีสาน "ปลาร้า ปลาส้ม ก้อยปลา" กินดิบเสี่ยง "มะเร็งท่อน้ำดี"ถึงตาย!

เตือนแซ่บอีสาน "ปลาร้า ปลาส้ม ก้อยปลา" กินดิบเสี่ยง "มะเร็งท่อน้ำดี"ถึงตาย!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย มติชนรายวัน


ศุภชัย โพธิ์สุ อดีต ส.ส.นครพนม ร่วมในงานกิจกรรมรณรงค์ที่ อ.ศรีสงคราม

3 ปีก่อน เรารับรู้กันว่ากินอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียน เสี่ยงต่อการเป็นพยาธิใบไม้ในตับ

แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการพูดถึงการเชื่อมโยงกันของ "พยาธิใบไม้ในตับ" กับ"มะเร็งท่อน้ำดี"

แม้ว่าองค์ความรู้ในปัจจุบันจะชี้ชัดแล้วว่า การติดพยาธิใบไม้ในตับเป็นปัจจัยเสี่ยงของ "โรคมะเร็งท่อน้ำดี" ในประเทศไทย โรคที่เป็นมากอันดับ 1 ในทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ตัวเลขของคนอีสานที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งท่อน้ำดีมีมากถึงปีละ 14,000 คน ถ้ายังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ในอีก 20-30 ปีข้างหน้าอัตราการเสียชีวิตนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 คนต่อปี

ที่น่าสนใจ องค์การอนามัยโลกจัดให้โรคมะเร็งท่อน้ำดีและโรคพยาธิใบไม้ตับอยู่ในประเภท "โรคที่ถูกปล่อยปละละเลย"

100 ปี พยาธิใบไม้ตับยังสับสนกับมะเร็งตับ คนโดยมากยังสับสนและเข้าใจผิดว่า "มะเร็งเนื้อตับ" คือมะเร็งท่อน้ำดี ในความเป็นจริงโรคทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง "มะเร็งเนื้อตับ" เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การบริโภคเชื้อราอัลฟาท็อกซิน จากอาหารประเภทถั่ว รวมถึงการบริโภคสุราอย่างยาวนาน ทำให้ตับทำงานอย่างหนัก ฯลฯ

ขณะที่ "มะเร็งท่อน้ำดี" เกิดจากการติดพยาธิใบไม้ในตับอย่างยาวนาน ซึ่งสถิติจากการสำรวจของโรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีมีมากถึง 75% เมื่อเทียบกับมะเร็งตับ

รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รองประธานกรรมการมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี และผู้อำนวยการ "โครงการแก้ไขปัญหามะเร็งใบไม้ในตับและท่อน้ำดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" หรือแคสแคป (CASCAP) มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า ปัจจุบันมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาสำคัญของภาคอีสานและภาคเหนือ

โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีผู้เสียชีวิตเพราะโรคนี้มากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมการกินอาหารของคนอีสานที่นิยมบริโภคอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาตะเพียน อย่างปลาร้า ปลาส้ม และก้อยปลา ทำให้พยาธิที่มักอยู่ใต้เกล็ดปลาตะเพียนเข้าไปอยู่ในทางเดินท่อน้ำดี ซึ่งจะไม่รู้ตัวจนกระทั่งอีก 30 ปีต่อมา



ผศ.พญ.เนตรเฉลียว สัณฑ์พิทักษ์ ประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี (ที่ 3 จากซ้าย)


"พยาธิจะอยู่ในทางเดินท่อน้ำดี 20 ปี ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง โดยมันจะออกไข่ทุกวัน วันละ 1,000 ฟอง ถ้ามี 10 ตัว ก็ 10,000 ฟอง ถ้ามี 1,000 ตัว ก็ 1,000,000 ฟอง"

เมื่อนานเข้าทำให้ท่อน้ำดีเกิดการอักเสบเรื้อรังจนเป็นพังผืดรอบท่อน้ำดี และมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

คนอีสานที่อายุมากๆ 90% เป็นมะเร็งท่อน้ำดี ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตมักเป็นหัวหน้าครอบครัว

ทั้งนี้ โรคมะเร็งท่อน้ำดีหากสามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้นจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ในความเป็นจริง กว่าครึ่งของผู้ป่วยรู้ตัวก็เมื่ออยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว

เมื่ออยู่ในสภาพแสดงอาการตัวเหลืองตาเหลือง คันตามร่างกาย การรักษาก็ทำได้เพียงประคับประคองอาการ "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ที่ทุกคนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

เดินสายจัดงานรณรงค์ "วาระอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดี" มาถึง 27 ครั้งแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงพิษภัยจากการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาตะเพียน ปลาน้ำจืดที่เป็นต้นเหตุของการเป็นพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งนำไปสู่โรคมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด

สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนทั้งสิ้น 14,000 ราย และมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงประมาณ 6,000,000 คนทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่เราค้นพบพยาธิใบไม้ในตับตั้งแต่ พ.ศ.2458

"มีการตายปีละ 14,000 คน ซึ่งเป็นมานานแล้ว ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่ยังไม่มีการทำอะไรที่เป็นการป้องกันเลย" คุณหมอณรงค์ย้ำถึงความน่ากลัวของพยาธิตัวจ้อย

หนึ่งศตวรรษมาแล้วที่เรารู้จักพยาธิใบไม้ตับ เราพบเมื่อ 2458 เรารณรงค์ให้อีสานไม่กินปลาดิบตั้งแต่ 2530 จนถึงตอนนี้ 28 ปีแล้ว ยังเหมือนเดิม เพราะการรณรงค์ตอนนั้นบอกว่า "กินปลาดิบ ติดพยาธิ แล้วกินยา" ไม่มีการรณรงค์ต่อว่า "กินปลาดิบ ติดพยาธิ เป็นมะเร็งท่อน้ำดี ตาย" ข้อความตรงนี้คนยังไม่มีใครพูดถึง


คุณหมอ ผอ.แคสแคปบอกว่า ประเด็นการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเคยถูกผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติมาแล้ว โดยประกาศเป็นวาระภาคอีสานผ่านกลไกทางการเมือง โดยอดีต รมช.สาธารณสุข นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ แต่เมื่อมีการปรับ ครม.เรื่องนี้ก็เงียบไป

ในฐานะที่ ม.ขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตระหนักถึงปัญหานี้ ในวาระครบ 50 ปีของมหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำโครงการแคสแคป เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดี ลดการสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการผลักดันประเด็นมะเร็งท่อน้ำดีให้เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของคนทั้งประเทศ

เราเพิ่งมาพูดคุยเรื่องพยาธิใบไม้จริงๆ จังๆ เมื่อปี 2555 นี่เอง แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ

เราพยายามผลักดันเข้าไปอยู่ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 7 ครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน ทั้งๆ ที่ปัญหาสุขภาพนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่พึงมีพึงได้รับ

ในนามของมูลนิธิเราจึงพยายามรณรงค์ให้ 1.ทุกคนหันมาตระหนักว่าการกินปลาดิบนั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง 2.ต้องการให้รัฐบาลหันมาใส่ใจในเรื่องนี้ และนำเข้าไปอยู่ในระบบสุขภาพ เพราะคนที่เป็นกันมากคือ ชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีสตางค์

ถ้ารัฐบาลนำเข้าสู่ระบบสุขภาพ ปีหนึ่งเสียค่าใช้จ่ายหัวละ 200 บาท แต่แลกมาซึ่งสุขภาพของทุกคน เป็นเรื่องที่ดี ควรสนับสนุน และเป็นสิ่งที่รัฐควรจัดทำให้กับทุกคน

"โรคที่ถูกละเลย" กระจกสะท้อนความเป็นจริง

แม้ว่า มะเร็งท่อน้ำดีจะเป็นโรคที่น่ากลัว เพราะเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนอีสาน ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงด้วย

แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่ายๆ โดย 1.การกินอาหารที่สุก 2.เข้ารับการตรวจร่างกาย แค่ตรวจอุจจาระก็จะทราบแล้วว่ามีพยาธิอยู่ในร่างกายเราหรือเปล่า ถ้ามี กินยาก็หายได้

"พยาธิใบไม้ในตับนั้น ถ้าอยู่ในร่างกายเรา 10 ปี แล้วเราทราบก็ยังรักษาได้ทัน ฉะนั้นสิ่งที่มูลนิธิรณรงค์คือ ให้ทุกคนได้เข้ารับการอัลตราซาวด์เพื่อตรวจหาร่องรอยของโรคก่อนจะสายเกินไป ซึ่งถ้าร่างกายปรากฏอาการตัวเหลือง พุงป่อง ผิวซีด ฯลฯ เรียกว่ามาไกลเกินไปแล้ว มาถึงขั้นสุดท้ายของมะเร็งท่อน้ำดีแล้ว"

รศ.นพ.ณรงค์บอก และว่า ทุกวันนี้เราได้ให้ชาวบ้านเข้ามาลงทะเบียนในระบบแล้ว 104,000 ราย และทยอยตรวจร่างกาย มีคนที่ได้รับการตรวจอัลตราซาวด์แล้วประมาณ 68,000 ราย พบผู้ต้องสงสัยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่า 800 ราย ซึ่งเรามีการจัดกิจกรรมสัญจรเช่นนี้เป็นประจำ โดยการเวียนไปตามแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบให้รัฐบาลเห็นและนำไปเป็นแบบอย่าง

"ที่เราต้องมารณรงค์ก็เพราะรัฐยังไม่ได้ทำ เราอยากให้รัฐทำ เพราะถ้าตรวจอัลตราซาวด์แล้วจะทำให้เราเจอมะเร็งท่อน้ำดีตั้งแต่แรก รักษาหายได้ แต่พอมีอาการ-ตัวเหลืองตาเหลือง ตับโต ท้องโต คันตามร่างกาย ปัสสาวะเข้ม อุจจาระซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โอกาสรักษาหายแค่ 10% เท่านั้นเอง 90% เป็นการรักษาแบบประคับประคอง"

คุณหมอณรงค์บอกว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลใดที่ครอบคลุมถึง ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือประกันสังคม เพราะยังไม่เกิดเป็นนโยบาย

"เราจึงรณรงค์เพื่อให้รัฐอุดหนุนหัวละ 200 บาท เพื่อให้ชาวบ้านทุกคนได้รับการดูแล ตอนนี้มูลนิธิกับทางแคสแคป ได้เตรียมจัดทุกอย่างไว้แล้ว ตั้งแต่ตรวจอัลตราซาวด์ ลงทะเบียนกลุ่มเสี่ยงอยู่ในเว็บไซต์เพื่อจะสามารถติดตามอาการตั้งแต่ป่วย รักษา เสียชีวิต

เราออกตรวจอัลตราซาวด์ทุกอำเภอ ใน 20 จังหวัดในอีสาน อาทิตย์เว้นอาทิตย์ ตรวจชาวบ้านได้ 500 รายต่อครั้ง เราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ ส่วนราชการรับรู้รับทราบ และทำให้องค์กรของรัฐมาสนใจและเอาไปทำ"

ถ้ารัฐบอกโอเค สามารถนำไปใช้ได้เลยเพราะมันอยู่ในเว็บไซต์แล้ว ชาวบ้านก็จะเข้าถึงการรักษาอย่างทันเวลา เท่าเทียมกัน เข้าถึงในทุกที่ และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยไม่ต้องไปร้องขอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook