โรคติดเชื้อไวรัส “นิปาห์” คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? อันตรายแค่ไหน?

โรคติดเชื้อไวรัส “นิปาห์” คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? อันตรายแค่ไหน?

โรคติดเชื้อไวรัส “นิปาห์” คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? อันตรายแค่ไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่โรคเก่าๆ ก็ยังคงพยายามหาวิธีรักษาที่ดีที่สุดกันอยู่ โรคใหม่ๆ ก็ค่อยๆ กำเนิดขึ้นอย่างช้าๆ ให้เหล่าแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยได้ทำงานกันอีกครั้ง โรคติดต่อล่าสุดคือ โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ เพราะเป็นโรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง

อ่านต่อ >> ไวรัส “นิปาห์” ระบาดใหม่ที่อินเดีย ไม่มีวัคซีนป้องกัน ดับแล้ว 10 ราย

 

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ คืออะไร?

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน ที่เกิดจากการสัมผัสมูลสัตว์ และสารคัดหลั่งของพาหะนำโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ หรือสุกร ม้า แมว แพะ แกะ ที่รับเชื้อมาจากค้างคาวผลไม้อีกต่อหนึ่ง

สามารถติดเชื้อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น เลือด หรือน้ำลาย

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เคยแพร่ระบาดครั้งแรกในช่วงปี 2541-2542 ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ บังกลาเทศ และอินเดีย

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนิปาห์

เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ทั้ง สุกร ม้า แมว แพะ แกะ รวมไปถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่ใกล้กับถิ่นอาศัยของค้างคาวผลไม้ ซึ่งพบได้ตามพื้นที่ป่าทึบ หรือป่าที่ใกล้กับชุมชนทั่วโลก ยกเว้นแถบขั้วโลกเหนือ ในประเทศไทยชนิดที่รู้จักกันดี คือ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteropus vampyrus) จัดเป็นศัตรูพืชของเกษตรกรชนิดหนึ่ง นอกจากนี้การกินผลไม้ เช่น กล้วย ฝรั่ง ที่ค้างคาวกินทิ้งไว้ และปีนต้นไม้ที่มีค้างคาวมาเกาะ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ด้วยเช่นกัน

 

pteropodidae_distribution

แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของค้างคาวผลไม้ (ที่มา : Wikipedia)

 

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์

  1. มีลักษณะอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว

  2. หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก

  3. หากเริ่มมีอาการหนักขึ้น จะเริ่มไอเสียงดัง

  4. อาจมีอาการแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นมา เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ ส่วนใหญ่เมื่ออาการหนักจะมีอาการคล้ายโรคสมองอักเสบ (คนไทยจะเรียกโรคนี้ว่า โรคสมองอักเสบนิปาห์)

  5. เริ่มซึม สับสน หรือมีอาการชัก

หากปล่อยให้อาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รีบทำการรักษา อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ในคนประมาณร้อยละ 40

 

การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์

ปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนที่สามารถต้านทานไวรัสนิปาห์ได้โดยตรง รวมไปถึงยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสนิปาห์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นแพทย์จะทำการรักษาตามอาการ โดยอาจใช้ยาต้านไวรัส Ribavirin ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ สามารถลดความรุนแรงของโรคได้

 

การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์

  1. ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เมื่อต้องสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ ซากสัตว์ (โดยเฉพาะสุกร ม้า แมว แพะ แกะ และค้างคาวผลไม้)

  2. ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ

  3. ชำระล้างเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมถึงอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวต่างๆ ให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เมื่ออยู่ในแหล่งที่มีความเสี่ยงที่จะติดโรค เช่น ในป่าทึบ ในแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์

  4. หากพบซากสัตว์ที่ตายโดยไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจน ไม่ควรนำมารับประทาน ควรทำลายซากด้วยการเผา หรือฝัง

  5. หากพบสัตว์ หรือซากสัตว์ที่ติดเชื้อ ไม่ควรเคลื่อนย้าย หรือลากสัตว์ออกจากจุดที่พบเกิน 2 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

  6. ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้นในป่า หรือตามพื้นในที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่มีรอยกัดแทะของสัตว์

 

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในประเทศไทย แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแพร่ระบาดของโรคนี้ ยังคงติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตรวจสอบผู้ที่เดินทางกลับมาจากแหล่งที่เชื้อโรคระบาด รวมไปถึงเตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อจากผู้ที่เสี่ยงได้รับเชื้อที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขตลอดเวลาราชการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook