“เห็บ-หมัด” อันตรายกับคนมากแค่ไหน เอาออกจากผิวหนังอย่างไรปลอดภัยที่สุด

“เห็บ-หมัด” อันตรายกับคนมากแค่ไหน เอาออกจากผิวหนังอย่างไรปลอดภัยที่สุด

“เห็บ-หมัด” อันตรายกับคนมากแค่ไหน เอาออกจากผิวหนังอย่างไรปลอดภัยที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“Love me, love my dog” ถ้าเธอรักฉัน เธอก็ต้องรักสุนัขของฉันด้วย น่าจะเป็นประโยคอธิบายความรู้สึกของคนที่รักสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้เป็นอย่างดี แต่ถึงจะพูดอย่างนี้ เราก็รักทุกอย่างที่เป็นของสัตว์เลี้ยงของเราทั้งหมดไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถรักเห็บหมัดตัวดีที่พบตามเส้นขนหนาๆ บนร่างกายของสัตว์เลี้ยงของเราได้นั่นเอง เจ้าของเห็นเมื่อไร ควรรีบกำจัดให้เร็วที่สุด เพื่อสุขอนามัยของคนเลี้ยงอย่างเรา และเจ้าสัตว์เลี้ยงตัวน้อยของเราด้วย

 

เห็บ-หมัด อันตรายแค่ไหน?

ถ้าแค่พูดว่าเห็บ หรือหมัด อาจจะค่อนข้างกว้างไปสักนิด เพราะไม่ใช่เห็บ และหมัดทุกชนิดจะเป็นอันตรายในทางที่เป็นพาหะนำโรค แต่เห็บบางชนิดสามารถเป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

นอกจากเป็นพาหะนำโรคบางชนิดแล้ว ที่เราเห็นว่าเห็บหมัดกัดผิวหนังของสัตว์เลี้ยงของเรา เพราะเห็บหมัดเป็นสัตว์ที่กินเลือดของสัตว์เลื้อยคลาน นก รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร มนุษย์ก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากมีเห็บหรือหมัดมาเกาะอาศัยอยู่บนผิวหนังของเรา เราก็มีความเสี่ยงที่จะโดนเห็บหมัดกัดได้เช่นกัน

อันตรายที่พบได้บ่อยที่สุดจากเห็บหมัด ก็คือรอบแผลที่เห็บหมัดทิ้งเอาไว้หลังกัดเรา หากเรามีอาการแพ้ แผลที่เห็บและหมัดกัดอาจจะอักเสบบวมแดง มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และในบางกรณีอาจจะอักเสบเรื้อรังไปเป็นเดือนได้ แม้ว่าจะมีการรักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ไปหลายเข็ม แต่ด้วยความที่เห็บและหมัดบางชนิดมีขนาดเล็กมาก อาจจะทิ้งอวัยวะบางส่วนเอาไว้บนผิวหนัง จนทำให้ผิวหนังของเราอักเสบอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การแคะ แกะตัวเห็บหรือหมัดออกด้วยนิ้วมือโดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดรอยแผลใหม่ใกล้เคียงที่อาจติดเชื้อแบคทีเรียจากเห็บและหมัดได้มากขึ้น ส่งผลให้แผลอักเสบหนักขึ้นกว่าเดิม หรือติดเชื้อโรคติดต่อต่างๆ ได้

 

วิธีเอาเห็บ และหมัดออกจากผิวหนัง

จริงๆ แล้วเราอยากแนะนำให้พบแพทย์ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้นำเห็บ และหมัดออกมาด้วยเครื่องมือแพทย์ จากนั้นทำการรักษารอบแผลที่เกิดจากเห็บ และหมัดกัดอย่างถูกต้องอีกครั้ง แต่หากพอจะมองเห็นว่าเห็บ หรือหมัดตัวนั้นมีขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ชัด สามารถใช้แหนบถอนขนคีบเห็บ หรือหมัดในส่วนที่ใกล้กับผิวหนังให้มากที่สุด จากนั้นค่อยๆ ดึงออกช้าๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถนำเอาตัวเห็บ และหมัดออกมาจากผิวหนังได้อย่างปลอดภัย และไม่เหลืออวัยวะบางส่วนติดอยู่ที่ผิวหนังจนทำให้อักเสบหนักกว่าเดิม

สิ่งที่ไม่ควรใช้ในการช่วยเอาเห็บ และหมัดออกมาจากผิวหนังเลย คือ การใช้บุหรี่จี้ การใช้น้ำยาล้างเล็บราด หรืออาจจะเป็นขี้ผึ้ง น้ำสบู่ และอื่นๆ สารเหล่านี้อาจจะยิ่งทำให้เห็บที่ยังมีชีวิตอยู่รู้สึกระคายเคือง และอาจปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่มัดกัดเราได้

นอกจากนี้ หลังจากนำเอาเห็บ หรือหมัดออกมาจากผิวหนังได้แล้ว ไม่ควรบีบ บี้ ขยี้ หรือเจาะตัวเห็บและหมัดเหล่านั้น เพราะของเหลวในตัวของเห็บ และหมัด อาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ หรือเป็นโรคได้ ดังนั้นถ้าอยากฆ่าเห็บและหมัด อาจต้องแช่เห็บ และหมัดลงไปในน้ำยาฆ่าเห็บ และหมัดโดยเฉพาะ หรืออาจจะแช่ลงไปในขวดที่มีน้ำเปล่า และปิดฝาขวดให้สนิท เห็บจะตายภายใน 3-7 วัน

 

วิธีป้องกันเห็บ และหมัด

นอกจากเห็บ และหมัดจะมาจากสัตว์เลี้ยง ยังมากับพื้นที่รกๆ ชื้นแฉะอีกด้วย ดังนั้นนอกจากจะต้องรักษาความสะอาดเจ้าตูบ เจ้าเหมียว และสัตว์เลี้ยงมีขนชนิดอื่นๆ ให้สะอาดปราศจากเห็บ และหมัดแล้ว ยังต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้เข้าไปในที่ๆ มีความชื้นแฉะ เช่น ดงหญ้า ป่าเขาลำเนาไพรต่างๆ เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณนั้น ควรสวมเสื้อผ้า กางเกงขายาว ถุงเท้าให้มิดชิด และทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณเท้า ขา แขน ทันทีที่กลับถึงบ้านหรือที่พัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook