แพทย์ชี้ “โรคด่างขาว” ไม่ใช่โรคติดต่อ

แพทย์ชี้ “โรคด่างขาว” ไม่ใช่โรคติดต่อ

แพทย์ชี้ “โรคด่างขาว” ไม่ใช่โรคติดต่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์  ชี้ “โรคด่างขาว” ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยด้านจิตใจและความสวยงาม ผู้ป่วยมักมีความกังวลเนื่องจากการรักษาได้ผลตอบสนองช้า  แนะควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคด่างขาว ไม่ใช่โรคติดต่อ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการสูญเสียเซลล์สร้างเม็ดสี หรือพบในผู้ป่วยโรคไทรอยด์ โรคเลือดจาง โรคความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต โรค SLE โรคข้อรูมาตอยด์ เป็นต้นพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการคือผิวหนังมีสีขาวคล้ายนมสด ลักษณะราบเรียบ ไม่นูนออกมาจากผิวปกติ มีขอบชัด สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ริมฝีปาก มือ แขน ขา หากเกิดขึ้นในบริเวณที่มีผมหรือเส้นขน อาจทำให้เส้นผมหรือเส้นขนบริเวณนั้นเป็นสีขาวได้  อาการมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจมีรอยโรคเพิ่มขึ้น ขยายขึ้น หรือมีรอยโรคใหม่เกิดได้ ทั้งนี้การดีขึ้นของรอยโรคจากการสร้างเม็ดสีสามารถเกิดขึ้นเองได้หรือเกิดจากการโดนแสงแดด โอกาสที่รอยโรคจะหายเองได้ทั้งหมดมีน้อย

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ  วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคด่างขาว ไม่อันตรายแต่มีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยในด้านความสวยงาม และความมั่นใจ บางครั้งอาจใช้การปกปิดด้วยเครื่องสำอาง การสักเม็ดสี หากรอยโรคเป็นบริเวณกว้างและไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจใช้วิธีเปลี่ยนสีผิวของผู้ป่วยให้เป็นสีขาวเช่นเดียวกับด่างขาว ด้วยการใช้ยา และการใช้เลเซอร์บางชนิด สำหรับการรักษามีหลายวิธี ได้แก่

1. การรักษาด้วยยาทากลุ่ม สเตียรอยด์  ได้ผลดีในกลุ่มผู้ป่วยด่างขาวที่มีพื้นที่รอยโรคไม่มาก  แต่ต้องมีการประเมินการเปลี่ยนแปลง เช่น มีจุด หรือรอยโรคแคบลง ถ้าไม่มีสามารถหยุดยาภายใน 2 เดือน 

2. การใช้ยา Calcineurin inhibitor ชนิดทา ได้แก่ tacrolimus และ pimecolimus พบว่าตอบสนองดีโดยเฉพาะรอยโรคบนใบหน้า หรือร่วมกับการตากแดด

3. การรักษาด้วยการฉายแสง เหมาะกับผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการรักษาได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ หากไม่สามารถรักษาต่อเนื่อง ผลการรักษาจะไม่ดี และอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้สูง

4. การรักษาด้วยเลเซอร์และเครื่องกำเนิดแสงชนิดอื่น ได้แก่  Excimer laser, Helium-neon laser  

5. การรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง จะใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ซึ่งกระบวนการรักษามีความยุ่งยากซับซ้อน การรักษาโรคด่างขาวมีหลายวิธีจึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ที่สำคัญผู้ใกล้ชิดควรเข้าใจ และให้กำลังใจผู้ป่วยเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook