เตือน! พบเด็กป่วย “โรคไอกรน” สูงขึ้น ติดจากผู้ใหญ่ที่ไม่แสดงอาการ

เตือน! พบเด็กป่วย “โรคไอกรน” สูงขึ้น ติดจากผู้ใหญ่ที่ไม่แสดงอาการ

เตือน! พบเด็กป่วย “โรคไอกรน” สูงขึ้น ติดจากผู้ใหญ่ที่ไม่แสดงอาการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรคเตือน พบแนวโน้มเด็กป่วย “โรคไอกรน” สูงขึ้น ห่วงส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนในครอบครัวที่ไม่แสดงอาการ

กรมควบคุมโรค ออกประกาศพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ประจำวันที่ 29 เม.ย.- 5 พ.ค. 2561 ระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 26 เม.ย. 2561 มีรายงานโรคไอกรน 19 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 1 ปี (ร้อยละ 59.26) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 1 - 3 เดือน (ร้อยละ 40.74) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556 - 2560) มีรายงานผู้ป่วย 16 - 77 ราย เสียชีวิตปีละ 0 - 3 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงาน 4 เหตุการณ์ จากจังหวัดสงขลา ภูเก็ต นครพนม และ นครศรีธรรมราช

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไอกรนเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลการสอบสวนโรค พบว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคไอกรนส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัวที่ไม่แสดงอาการป่วย ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไอ จาม ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กแรกเกิด หรือไม่ควรพาเด็กเล็กไปในสถานที่ชุมนุมชนหรือแออัด และหากพบเด็กแรกเกิดมีอาการไอแห้งเป็นชุดๆ ไอมาก หายใจไม่ทัน ให้รีบพาไปแพทย์ทันที

สำหรับโรคไอกรน เป็นโรคติดต่อที่มักพบในเด็กแรกเกิด ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อจากการไอ จาม ของบุคคลที่มีเชื้อโรคในร่างกายทั้งที่มีอาการป่วยหรือไม่แสดงอาการ โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตามช่วงเวลาที่กำหนด (2 เดือน, 4 เดือน,6 เดือน, 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี) สำหรับหญิงตั้งครรภ์สามารถปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคได้เช่นกัน

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีการป้องกันและควบคุมโรค ดังนี้ หากมีผู้ป่วยไอกรน ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ในผู้สัมผัสโรคควรสังเกตว่ามีอาการไอหรือไม่ ติดตามอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่สัมผัสโรคใกล้ชิด ควรไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ แม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook