เชิญ ปชช. นำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า

เชิญ ปชช. นำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า

เชิญ ปชช. นำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จังหวัดสมุทรปราการ ขอความร่วมมือเจ้าของรีบนำสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ สุนัขและแมว ไปฉีดวัคซีนตามจุดที่ อปท.ในพื้นที่กำหนด เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรง ไม่มียารักษา เมื่อมีอาการป่วยแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า 60,000 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก โดยถูกสุนัข หรือแมวกัดหรือข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วและครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด โดยสุนัขเป็นสัตว์นำโรคหลักที่แพร่โรคพิษสุนัขบ้ามายังคนและสัตว์อื่น

จากรายงานการสอบสวนโรคพิษสุนัขบ้า พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เมื่อถูกสุนัข หรือแมวกัด หรือข่วน แล้วไม่ให้ความสำคัญดูแลล้างบาดแผล และไม่ได้พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ จึงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะผู้ที่ถูกลูกสุนัขกัด เนื่องจากคิดว่าลูกสุนัขไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อมีอาการป่วย จึงเสียชีวิตทุกราย โรคนี้โดยทั่วไป เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-7 เดือน แต่มักมีบางรายอาจสั้นหรือนานกว่านี้

ทั้งนี้ สุนัขที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าสังเกตได้คือ สุนัขจะมีนิสัยพฤติกรรมเปลี่ยนไปในระยะแรก ต่อมาจะมีอารมณ์หงุดหงิด หางตก น้ำลายไหล กัดสิ่งของที่ขวางหน้า ระยะสุดท้ายอาจมีอาการ บางตัวอาจแสดงอาการคล้ายกระดูกหรือก้างติดคอ ซึ่งทำให้เจ้าของเข้าใจผิดจนเอามือไปล้วงที่ปาก คลำหาก้างหรือกระดูก หากพบสุนัขมีอาการดังกล่าว ขอให้นึกถึงโรคพิษสุนัขบ้าและแยกสุนัขไว้ไม่ให้คลุกคลีกับสุนัขอื่นหรือคน และแจ้งปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที

โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ความรู้ที่จำเป็นแก่ประชาชน และเร่งค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งกำชับ อสม.ให้เคาะประตูบ้าน เพื่อเพิ่มค้นหา และติดตามผู้ถูกกัดหรือสัมผัสโรคมารับวัคซีนให้ครบทุกราย สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่องสัตว์แปลกหน้าที่มีอาการดุร้าย และแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่โดยเร่งด่วน หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook