"การฉีดสีเซลล์มะเร็ง" จะช่วยให้แพทย์ผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้น

"การฉีดสีเซลล์มะเร็ง" จะช่วยให้แพทย์ผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้น

"การฉีดสีเซลล์มะเร็ง" จะช่วยให้แพทย์ผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดยปกติแล้ว การผ่าตัดเนื้อร้ายเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง และโดยทั่วไปหากผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดกลับมาเป็นมะเร็งอีก เหตุผลสำคัญก็คือยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ หรือแพทย์ตรวจไม่พบเนื้อร้าย ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดเซลล์ดังกล่าวออกไปได้หมด

แต่ขณะนี้ เทคโนโลยีการแพทย์ใหม่อาจจะช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถเห็นและแยกแยะเซลล์เนื้อดีกับเนื้อร้ายได้ดีขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของคนไข้โรคมะเร็งด้วย

โดยขณะนี้กำลังมีการทดลองใช้สีเพื่อย้อมให้เซลล์มะเร็งเรืองแสง เพื่อช่วยให้แพทย์ผ่าตัดสามารถทำงานได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

และกำลังมีการศึกษาทดลองขนาดใหญ่อยู่สองชิ้นเพื่อนำผลไปขออนุมัติต่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ และบริษัทเวชภัณฑ์ Johnson & Johnson ก็เพิ่งลงทุนราว 40 ล้านดอลลาร์ในการทดลองชิ้นหนึ่งด้วย

การทดลองชิ้นหนึ่งใช้สีย้อมที่เรียกว่า ICG ซึ่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์หลายด้านอยู่แล้ว โดยฉีดสีดังกล่าวทางเส้นเลือดเข้าไปในตัวคนไข้ หนึ่งวันก่อนการผ่าตัดและสีนี้จะไปจับตัวอยู่ที่เซลล์มะเร็ง และเรืองแสงขึ้นเมื่อถูกฉายด้วยไฟที่มีคลื่นใกล้แถบแสงอินฟราเรด

มีการทดลองดังกล่าวกับเซลล์มะเร็งทั้งที่ปอดและในสมอง โดยนายแพทย์ Sunil Singhal ศัลยแพทย์ผ่าตัดมะเร็งจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า การย้อมสีหรือการทำให้เซลล์มะเร็งเรืองแสงนี้ ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดมั่นใจได้ว่าจะไม่ตัดเซลล์เนื้อร้ายน้อยไป หรือมากไปเกินกว่าที่จำเป็น

ในการทดลองชิ้นหนึ่ง เม็ดสีที่ฉีดเข้าไปในตัวคนไข้ช่วยให้แพทย์เห็นเซลล์มะเร็ง 56 จาก 59 ตำแหน่งได้อย่างชัดเจนรวมทั้งยังช่วยให้พบเซลล์มะเร็งอีก 6 ตำแหน่ง ซึ่งไม่เคยเห็นหรือตรวจพบมาก่อนด้วย

การทดลองย้อมสีเซลล์มะเร็งนี้ถ้าเป็นผลสำเร็จ ก็จะนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับสตรีที่เป็นมะเร็งเต้านม เพราะราว 1 ใน 3 ของสตรีที่ต้องรับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมนั้น มักต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำสอง เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถตัดเซลล์เนื้อร้ายออกไปได้หมด

แพทย์หญิง Barbara Smith ศัลยแพทย์ทรวงอกที่โรงพยาบาล Massachusetts General บอกว่า การผ่าตัดที่อาศัยการย้อมสีเซลล์มะเร็งนี้ จะเป็นการดีกว่ามาก ถ้าช่วยให้แพทย์สามารถเห็นและระบุตำแหน่งได้ชัดเจนเพื่อตัดเนื้อร้ายออกไป แม้จะมากกว่าที่จำเป็นบ้างก็ตาม แทนที่จะตัดน้อยไปแต่ยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ ทำให้ต้องกลับไปทำการผ่าตัดเป็นครั้งที่สอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook