นักวิทยาศาสตร์ห่วง ปัญญาประดิษฐ์อาจก่อภัยคุกคามมวลมนุษยชาติ

นักวิทยาศาสตร์ห่วง ปัญญาประดิษฐ์อาจก่อภัยคุกคามมวลมนุษยชาติ

นักวิทยาศาสตร์ห่วง ปัญญาประดิษฐ์อาจก่อภัยคุกคามมวลมนุษยชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ai

การคืบคลานเข้ามาของระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของวิทยาการทั่วโลกไปอย่างก้าวกระโดด ทว่ารายงานชิ้นล่าสุดที่รวบรวมข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลก แสดงความกังวลว่า ความก้าวหน้าของ AI ได้มาพร้อมภัยคุกคามที่คาดไม่ถึง

ไม่นานมานี้ เราได้เห็นศักยภาพของระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการตรวจจับข่าวโคมลอยที่กลุ่มก่อการร้ายได้สร้างขึ้นมาบนโลกออนไลน์ ที่มีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 94 ซึ่งถือเป็นการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยให้สังคมปลอดภัยขึ้นได้

แต่ทุกเทคโนโลยี มีเหรียญอีกด้านเสมอเช่นกัน ...

เมื่อปีที่แล้ว University of Washington เผยคลิปบทสัมภาษณ์ของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ แต่นี่ไม่ใช่คลิปธรรมดา เพราะเป็นคลิปปลอมที่ระบบ AI สร้างขึ้นมา ผ่านการเรียนรู้ท่าทางการพูดของอดีตประธานาธิบดีได้เหมือนตัวจริง

ที่ใกล้ตัวกว่านั้น คือภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ ที่เรียกกันว่า Phishing การโจมตีบนโลกออนไลน์อันแยบยล ด้วยการปลอมแปลงอีเมลหรือสร้างข้อความปลอม เพื่อหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลสำคัญ เช่น หมายเลขบัตรเครดิต บัตรประชาชน หรือรหัสผ่านเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินหรือแหล่งข้อมูลส่วนตัว

ชาฮาร์ อาวิน ผู้ร่วมเขียนรายงานภัยคุกคามของปัญญาประดิษฐ์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อธิบายว่า ตอนนี้ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างอีเมลแบบ Phishing ด้วยการจำลองลักษณะเฉพาะของบุคคล ตั้งแต่ความสนใจ รูปแบบการเขียนเพื่อสื่อสารกับคนภายนอก หรือการสื่อสารกับคนใกล้ตัว จนสามารถสร้างข้อความปลอมเพื่อหลอกให้กลุ่มเป้าหมายเปิดอ่านหรือทำตาม

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังขับเคลื่อนด้วยระบบ AI คือ การพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่บริษัทยานยนต์หลายแห่งกระโจนเข้าสู่การแข่งขันอันดุเดือด เพื่อชิงเจ้าแห่งเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้ให้ได้

แต่ นายอาวิน กลับมองต่างออกไปว่า เราอาจจะได้รถยนต์ที่ดีเทียบเท่า หรือดีกว่าการควบคุมโดยมนุษย์ แต่หากผู้ผลิตยานยนต์ไม่สามารถแก้ไขความบกพร่อง เช่น การจำแนกป้ายจราจรที่มีความใกล้เคียงกันมากๆ อาจทำให้เราได้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่ แต่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมได้

รายงานยังเตือนด้วยว่า โดรน หรือ หุ่นยนต์ต่างๆที่ควบคุมโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ อาจถูกแฮกเกอร์ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ายึด ควบคุม หรือใช้เป็นอาวุธโจมตี หรือเรียกค่าไถ่ได้

ในอนาคตอันใกล้ ระบบ AI จะมีส่วนสำคัญในการทหารมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ โดรน และ หุ่นยนต์สังหาร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ท่านนี้ กังวลว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้หุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ในการสงครามแทนการใช้มนุษย์อย่างเต็มตัว การส่งผ่านข้อมูลมหาศาลจะเกิดขึ้น ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถวิเคราะห์หรือประมวลข้อมูลมากมายเช่นนั้นได้ และต้องพึ่งพาการตัดสินใจที่ประมวลด้วย AI วันนั้นมนุษย์อาจไม่มีความหมายในการตัดสินใจอีกต่อไป

รายงานจากความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัญญาประดิษฐ์ 26 คนทั่วโลกชิ้นนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปแค่แง่ลบของระบบ AI เพียงแต่เน้นย้ำความสำคัญและรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ได้มหาศาลและหาทางป้องกันหากเทคโนโลยีนี้ตกไปอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook