จุฬาฯ วุ่นขอเงินเดือนพนง.คืนเกือบ 10 ล้านบาท "สกสค."เฮ ได้ปรับเพิ่ม21%

จุฬาฯ วุ่นขอเงินเดือนพนง.คืนเกือบ 10 ล้านบาท "สกสค."เฮ ได้ปรับเพิ่ม21%

จุฬาฯ วุ่นขอเงินเดือนพนง.คืนเกือบ 10 ล้านบาท "สกสค."เฮ ได้ปรับเพิ่ม21%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม แหล่งข่าวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ผู้บริหารสำนักงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาฯ มีจดหมายถึงพนักงานมหาวิทยาลัยประมาณ 800 คน ขอหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน 2556 เนื่องจากจ่ายเงินเดือนให้เกิน ซึ่งพนักงานบางคนได้รับแจ้งว่าจะต้องถูกหักเงินเดือนประมาณ 6,000-7,000 บาท จนถึง 2 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับเงินเดือนที่สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์จ่ายเกิน โดยเงินที่ถูกทวงคืนเป็นเงินตกเบิกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ที่จ่ายให้พนักงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแจ้งว่าจะเริ่มหักเงินส่วนที่จ่ายเกินตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป รวมทั้งได้ทำจดหมายถึงหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ให้กำชับพนักงานด้วย ซึ่งเป็นเงินที่จุฬาฯจ่ายเกินไปรวมประมาณ 10 ล้านบาท

"หลังจากมีจดหมายแจ้งไปยังพนักงานที่จะต้องถูกหักเงินเดือน ทางผู้บริหารได้เรียกประชุมชี้แจงเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา มี นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธาน โดยนายพรพจน์ เปี่ยมสมบูรณ์ รองอธิการบดี ที่ดูแลด้านการบริหารทรัพยามนุษย์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมโดยอ้างว่ามีความคลาดเคลื่อนของสูตรเงินเดือน ซึ่งเป็นการทบเศษ ทำให้เงินเดือนของพนักงานเหล่านี้มากกว่าพนักงานที่เข้าทำงานก่อนหน้า ระหว่างชี้แจงได้มีพนักงานสอบถามว่าจะต้องคืนเงินหรือไม่ หรือต้องลดเงินเดือนที่จ่ายเกินหรือไม่ เพราะได้นำเงินไปใช้หมดแล้ว และบางคนได้นำเงินที่ได้รับเพิ่มไปผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นต้น ซึ่งผู้บริหารแจ้งว่าจะพยายามไม่เรียกเงินคืน และไม่ลดฐานเงินเดือน" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้บริหารได้แจ้งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคล และคณะกรรมการนโยบายบุคลากร เพื่อทราบ มีกรรมการบางคนทักท้วงและให้ทำหนังสือมาเป็นทางการ นอกจากนี้ ที่ประชุมเฉพาะอธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี ซึ่งประชุมทุกวันศุกร์ ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือหลายครั้ง แต่มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องเรียกเงินคืน เนื่องจากเป็นงบประมาณแผ่นดิน แต่อีกฝ่ายบอกว่าไม่ต้องเรียกเงินคืน เพราะเกรงว่าพนักงานจะออกมาเคลื่อนไหว แล้วค่อยหาวิธีเพิ่มเงินเดือนให้กับกลุ่มพนักงานที่เข้าก่อนหน้านั้น เพื่อไม่ให้เงินเดือนถูกพนักงานกลุ่มดังกล่าวแซงหน้า

นพ.ภิรมย์กล่าวว่า ตามที่สภาจุฬาฯมีมติปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงาน และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารงานบุคคลไปคำนวณอัตราเงินเดือนพนักงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เมื่อไปดูก็พบว่าหากใช้สูตรคำนวณเดิมจะไม่เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะในสายสนับสนุนที่เมื่อคำนวณออกมาแล้วพบว่าพนักงานใหม่จะได้รับเงินเดือนมากกว่าพนักงานเก่า ส่วนสายวิชาการไม่มีปัญหา เมื่อคำนวณออกมาแล้วไม่มีความเหลื่อมล้ำ สามารถใช้สูตรใดก็ได้ เพราะฐานเงินเดือนมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ดังนั้น คณะกรรมการบริหารบุคคลจึงใช้สูตรคำนวณใหม่แบบปัดเศษ อาทิ ผู้ที่ได้เงินเดือน 13,312 บาท ปัดเป็น 13,320 บาท โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมของพนักงานทุกคนเป็นสำคัญ

นพ.ภิรมย์กล่าวอีกว่า ดังนั้น จุฬาฯจึงเริ่มจ่ายเงินเดือนพนักงานตามสูตรใหม่ จนกระทั่งถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้ทักท้วงว่าสูตรดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และให้กลับไปคิดตามสูตรเดิม ดังนั้น ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงต้องนำเรื่องดังกล่าวมาหารือกันใหม่อีกรอบ แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้จุฬาฯไม่สามารถทำความเข้าใจกับบุคลากรได้ทันที ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงทำเป็นจดหมายไปแจ้งถึงพนักงาน เพื่อแจ้งว่าการจ่ายเงินเดือนอาจมีความคลาดเคลื่อน เพื่อป้องกันว่าหากมีการเปลี่ยนสูตรคำนวณกลับไปใช้สูตรเดิม อาจต้องเรียกเงินคืน ตรงนี้เองอาจทำให้พนักงานเกิดความตกใจ

"ขณะนี้เรื่องทุกอย่างจบลงแล้ว เพราะหลังจากนั้นผมได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารบุคคล ซึ่งที่ประชุมก็ยืนยันให้ใช้สูตรคำนวณเดิม ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเพิ่มเงินเพื่อจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในสายสนับสนุน 800 กว่าคน อีก 0.5% ของจำนวนเงินเดือนพนักงานที่จุฬาฯต้องจ่ายทั้งหมด เท่ากับว่าจุฬาฯจะต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มอีกประมาณ 8 ล้านบาทต่อปี แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คณะกรรมการบริหารบุคคลจึงเห็นชอบให้ยืนยันตามมติเดิม" นพ.ภิรมย์กล่าว

วันเดียวกัน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค.เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติอนุมัติเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานขององค์การค้าของ สกสค.ทั้งหมดกว่า 1,600 คน ซึ่งเป็นการขึ้นเงินเดือนครั้งแรกในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา รวมถึงเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงที่องค์การค้ามีต่อสหภาพแรงงานองค์การค้าว่า หากรัฐวิสาหกิจปรับเพิ่มเงินเดือน องค์การค้าจะต้องปรับเพิ่มให้กับพนักงานด้วย และที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจปรับเพิ่มเงินเดือนไปแล้วถึง 3 รอบ แต่องค์การค้ายังไม่เคยปรับขึ้นเงินเดือนเลย เพราะการดำเนินงานที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีภาระหนี้สินรวมกว่า 3,000 ล้านบาท จึงไม่มีเงินเพิ่มให้พนักงาน

นางพนิตากล่าวต่อว่า แต่หลังจากที่องค์การค้าปรับรูปแบบการบริหารจัดการ โดยมีนโยบายประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อาทิ จากเดิมที่เช่าแท่นพิมพ์ มาจัดพิมพ์หนังสือเรียนเองในปีการศึกษา 2555 ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 100 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังทำให้พิมพ์หนังสือเรียนได้เร็ว จนเป็นปีแรกที่สามารถพิมพ์และจัดส่งหนังสือได้ครบและทันเปิดภาคเรียน โดยไม่มีหนังสือเหลือค้าง ทำให้ไม่เป็นหนี้เหมือนที่ผ่านมา รวมถึงลดเปอร์เซ็นต์ส่วนลดค่าหนังสือที่ให้กับร้านค้าลงจากเดิม 31% เหลือ 25% ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างอีก 6% เท่ากับว่าถ้าขายหนังสือ 1,000 ล้านบาท องค์การค้าจะมีเงินเหลืออีก 60 ล้านบาท

"ตรงนี้ถือเป็นเทคนิคในการบริหารจัดการที่ทำให้องค์การค้ามีกำไรจากขายหนังสือเรียนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 300-400 ล้านบาท ฉะนั้น เมื่อมีกำไรเพิ่มขึ้นจึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานทุกคน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ขณะเดียวกันก็ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาการแก้ไข โดยในเดือนมิถุนายนนี้องค์การค้าจะสรุปภาพรวมผลกำไรทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. เพื่อจะดูว่ามีเงินเหลือสำหรับผ่อนชำระหนี้ได้จำนวนเท่าใด" นางพนิตากล่าว

นายสมมาตร มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนพนักงาน เจ้าหน้าที่องค์การค้าครั้งนี้ใช้ตารางเปรียบเทียบเดียวกับเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจ เท่ากับว่าพนักงานขององค์การค้าทุกคน จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 21% ซึ่งจะต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้กับพนักงานทั้งหมดประมาณเดือนละ 8 ล้านบาท โดยอัตราเงินเดือนใหม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook