4 พฤติกรรมเสี่ยง “ออฟฟิศซินโดรม” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว

4 พฤติกรรมเสี่ยง “ออฟฟิศซินโดรม” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว

4 พฤติกรรมเสี่ยง “ออฟฟิศซินโดรม” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ใช่แค่การนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ เท่านั้นที่จะเป็นสาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม ยังมีพฤติกรรมอีกหลายอย่างที่เราอาจจะทำอยู่เป็นประจำทุกวันเป็นกิจวัตร หรือด้วยหน้าที่การงานที่ทำให้เราต้องทำแบบนั้น แต่ก็สามารถทำร้ายสุขภาพของเราได้โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว ลองเช็คดูกันเลยว่าคุณกำลังทำสิ่งนี้อยู่ทุกวันหรือเปล่า

 

  1. ปรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานอย่างไม่เหมาะสม

พนักงานหลายคนอาจจะเคยประสบปัญหาปวดนิ้ว ข้อมือ คอ บ่า ไหล่ต่างๆ นอกจากการนั่งทำงานท่าเดิมนานๆ โดยไม่มีการขยับเขยื้อนยืดเส้นยืดสายแล้ว อาจเป็นเพราะอุปกรณ์ในสำนักงานที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ไม่เหมาะสม หรือเราอาจจะเลือกใช้ หรือจัดการกับมันได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การปรับความสูงของเก้าอี้ให้สูงพอที่จะวางแขนตั้งฉากกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ การนั่งไม่เต็มเบาะเก้าอี้ นั่งไม่พิงพนักเก้าอี้ ไม่ปรับพนักเก้าอี้ให้เรานั่งหลังตรงขณะทำงาน การวางมือบนเมาส์ผิดท่า การตั้งคอมพิวเตอร์ไกล หรือใกล้สายตามากเกินไป หรือแม้กระทั่งการยกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คออกมาวางบนตักแล้วนั่งพิมพ์งาน อาจไม่ใช่ท่านั่งทำงานที่ถูกต้องนัก เพราะเสี่ยงต่อการที่เราจะนั่งก้มคอ หลังงอเป็นเวลานานได้

อย่างไรก็ตามคุณภาพของอุปกรณ์ในสำนักงานก็มีความจำเป็น โต๊ะ เก้าอี้หลายที่อาจจะปรับระดับไม่ได้ หรือยังใช้จอคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าที่ยังเป็นจอโค้ง ภาพกระพริบๆ ในจอคอมอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ หรือทำให้ตาล้าได้เช่นกัน

 

  1. ใช้งานอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเหมือนเดิมทุกวัน

คนที่ทำงานด้านเอกสารที่ต้องพิมพ์เยอะ ใช้กรรไกร แม็กเย็บกระดาษ หรืออาจจะเป็นคนที่ต้องขับรถตลอดทั้งวัน อาจจะมีอาการของโรคนิ้วล็อกได้ โดยจะมีอาการเจ็บเมื่อพยายามยืดนิ้วให้ตรง รวมไปถึงข้อมือที่ไม่สามารถขยับหรือหมุนได้อย่างอิสระเหมือนก่อน  นอกจากนี้หากมีอาการชาที่ข้อมือ ยังอาจเสี่ยงมีพังผืดก่อตัวหนาจนทำให้ขยับข้อมือไม่ได้เหมือนเดิม

นอกจากนี้ยังมีหลายๆ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมในการใช้อวัยวะเดิมซ้ำๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง เมื่อนั่งก้มหน้าก้มตากับคอมพิวเตอร์ หรือก้มเขียน จดงานเป็นเวลานาน โดยจะเกิดจากอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งสะสมบริเวณคอจนเป็นก้อนเล็กๆ จนทำให้ปวดร้าวลงไปในกล้ามเนื้อส่วนลึก ซึ่งหากยังปล่อยให้มีอาการปวดไปเรื่อยๆ อาจลามใหญ่โตจนกลายเป็นหมอนรองกระดูกเสื่อมในอนาคตได้

 

  1. ยกของหนัก

ลักษณะของงานหลายคนมีความจำเป็นต้องยกของหนักๆ แบกของหนักๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น ช่างภาพ คนถ่ายวิดีโอ คนยกอุปกรณ์ในการถ่ายทำละครหรือภาพยนตร์ แอดมินที่ดูแลกองเอกสาร แม่บ้านยกถังน้ำทำความสะอาด และอื่นๆ นอกจากจะต้องรับผิดชอบกับของหนักๆ เป็นประจำแล้ว ยังอาจจะต้องเปลี่ยนท่าในการยกของให้ถูกต้อง ไม่ยืนแล้วก้มหลังลงไปยกของจากพื้น เพราะอาจทำให้ปวดหลัง หรืออาจเสี่ยงหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ ควรหลีกเลี่ยงการก้มหลังบ่อยๆ และควรลงไปนั่งยองๆ แล้วยกของพร้อมค่อยๆ ยืนขึ้นจะดีกว่า

 

  1. นั่งไขว่ห้างนานๆ

ท่านั่งบนเก้าอี้ที่เป็นอันตรายต่อชาวออฟฟิศมากที่สุดคงหนีไม่พ้นท่านั่งไขว่ห้างที่อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้กล้ามเนื้อสะโพก เอว หลัง ยาวไปถึงหลังศีรษะผิดรูป กล้ามเนื้อข้างกระดูกไม่สมดุล กระดูกชายโครงเกร็งรั้ง และอาจทำให้กระดูกสันหลังคดงอ เส้นประสาททำงานผิดปกติ จนไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทได้

อ่านต่อ >> 7 ท่านั่งอันตราย ปวดหลัง-ไหล่ไม่รู้จบ

 

ออฟฟิศซินโดรมอาจไม่ได้มีแต่พนักงานบริษัทเท่านั้นที่จะเป็น ไม่ว่าอาชีพไหนๆ ก็มีความเสี่ยงได้ทั้งนั้นหากมีพฤติกรรมเหล่านี้เหมือนกัน ดังนั้นหากพบว่าเรามีความเสี่ยงต่อโรคออฟฟิศซินโดรม ควรรีบปรับพฤติกรรมโดยด่วน หรือใครที่มีอาการปวดเมื่อยมือ ข้อมือ บ่า คอ ไหล่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนที่จะมีอาการหนักจนต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่ว ไม่คุ้มกับค่าตอบแทนที่ได้รับแน่นอน

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook