“กระดูกพรุน” ภัยเงียบเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

“กระดูกพรุน” ภัยเงียบเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

“กระดูกพรุน” ภัยเงียบเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคกระดูกพรุน อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากปล่อยปะละเลยไม่สังเกตอาการ หรือไม่รีบรักษา ผู้สูงวัยเสี่ยงกว่าวัยอื่น และจากสถิติพบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด


สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุนมาจากการที่ร่างกายขาดแคลเซียม รวมถึงในแต่ละช่วงวัยได้รับแคลเซียมในปริมาณที่ไม่เหมาะสม รวมถึงอายุที่มากขึ้นที่ทำให้มวลกระดูกเสื่อมลงตามวัย กระดูกของคนเราจะมีความหนาแน่นสูงสุดที่อายุประมาณ 30 ปี และ จะคงที่อยู่ระหว่าง 30-40 ปี และมวลกระดูกจะลดลงเรื่อยๆทุกปีหลังจากนั้นจนกระทั่งวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง จะมีการลดลงของมวลกระดูก อย่างรวดเร็ว และ เมื่ออายุมากกว่า 65 ปี มวลกระดูกจะลดต่ำลงจนถึงจุดเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มวลกระดูกลดลง

  1. อายุที่มากขึ้น (โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือน)

  2. ได้รับแคลเซียม / ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ไม่เพียงพอ

  3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

  4. ดื่มแอลกอฮอล์

  5. สูบบุหรี่

  6. รับประทานยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

เป็นต้น    


อันตรายของโรคกระดูกพรุน

อาจารย์นายแพทย์เทพรักษา เหมพรหมราช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมุทรสาคร เผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับสถิติของโรคนี้ว่า ผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก จะมีโอกาสเสียชีวิตในปีแรกราว 20% และ 50% จะเสียชีวิตภายใน 6 ปี นอกจากนี้ โรคกระดูกพรุนยังก่อให้เกิดอาการปวดหลัง หลังโก่งงอ เคลื่อนไหวลำบาก หายใจลำบาก ปอดทำงานได้ไม่ดี มีอาการเหนื่อยง่าย ส่งผลให้เกิดทุพพลภาพหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด


สัญญาณอันตราย “กระดูกพรุน”

อันที่จริงแล้วโรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่แทบจะไม่แสดงอาการอะไรให้เห็นได้ชัดเจนเลย เพราะการที่มวลกระดูกของเราจะบาง หรือเสื่อมลง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานเป็นปี โดยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ แต่หากเริ่มแสดงอาการหลังโค้งงอจนดูหลังค่อม และดูตัวเตี้ยลงอย่างเห็นได้ชัด และหากประสบอุบัติเหตุจนมีแนวโน้มว่ากระดูกอาจจะหัก ควรรีบให้แพทย์ตรวจรักษาอย่างถูกวิธี


อาหารไทยในชีวิตประจำวัน ปริมาณแคลเซียมอาจไม่เพียงพอ

ข้อมูลจากกองวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์ปริมาณแคลเซียมในอาหารของไทย พบว่า อาหารภาคกลาง มีปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อร่างกาย โดยมีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยต่อวันน้อยที่สุดเพียง 156 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ส่วนอาหารของภาคเหนือ มีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยมากที่สุดอยู่ที่ 251.8 มิลลิกรัมต่อวัน


ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมในแต่ละวัย

การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละช่วงวัย ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนได้ โดยในแต่ละวัยควรได้รับปริมาณแคลเซียม ดังนี้

  • วัยทารกต้องการปริมาณแคลเซียม 270 มิลลิกรัมต่อวัน 

  • วัยเด็กต้องการปริมาณแคลเซียม 800 มิลลิกรัมต่อวัน 

  • วัยรุ่นต้องการปริมาณแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน 

  • วัยผู้ใหญ่ต้องการปริมาณแคลเซียม 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน 

  • ตลอดช่วงชีวิตร่างกายต้องการปริมาณแคลเซียม เฉลี่ยประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน


ตัวอย่างปริมาณแคลเซียมในอาหาร

อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เนย ชีส กุ้งแห้ง ปลากรอบ งาดำ ถั่วแดง เต้าหู้ ผักใบเขียว เช่น คะน้า ใบชะพลู เป็นต้น

นมรสจืด 1 กล่อง (200 ซีซี) มีแคลเซียม 226 มิลลิกรัม

เต้าหู้เหลือง 1 ก้อน มีแคลเซียม 240 มิลลิกรัม

งาดำ 1 ช้อนโต๊ะ มีแคลเซียม 132 มิลลิกรัม

ถั่วแรกต้ม 100 กรัม มีแคลเซียม 194 มิลลิกรัม

ปลาฉิ้งฉ้าง (ปลาเล็กปลาน้อย) 100 กรัม มีแคลเซียม 537 มิลลิกรัม

ผักคะน้า 100 กรัม มีแคลเซียม 245 มิลลิกรัม

ยอดแค 100 กรัม มีแคลเซียม 395 มิลลิกรัม

ใบยอ 100 กรัม มีแคลเซียม 469 มิลลิกรัม

ใบชะพลู 100 กรัม มีแคลเซียม 601 มิลลิกรัม


การป้องกันโรคกระดูกพรุน

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเพื่อให้ลำไส้เล็กดูดซึมแคลเซียมไปใช้ด้วย อาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่ ตับ ไข่แดง น้ำมันตับปลา เนื้อปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู หรือเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดหอมสด นอกจากนี้ผิวหนังสามารถสร้างวิตามินดีเพิ่มขึ้นได้จากการได้รับแสงแดดอ่อนๆ ทุกวันในตอนเช้าหรือตอนเย็น อย่างน้อยวันละ 15-20 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

นอกจากนี้ยังควรออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเน้นการลงน้ำหนักที่กระทำต่อกระดูก เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ เต้นรำ เต้นแอโรบิก รำมวยจีน รำไทเก็ก เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook