ปัทมาวดี งามขจรวิวัฒน์ Landscape Architecture

ปัทมาวดี งามขจรวิวัฒน์ Landscape Architecture

ปัทมาวดี งามขจรวิวัฒน์ Landscape Architecture
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เงยหน้าขึ้นจากโต๊ะทำงาน ลองมองออกไปสัมผัสกับความสวยงามของโลกภายนอก ที่เราเห็นนอกหน้าต่างน่ะ งานของ “ภูมิสถาปนิก” ทั้งนั้นเลยนะ แต่เอ๊ะ อาชีพนี้เป็นอย่างไร มาคุยกับ คุณถิง-ปัทมาวดี งามขจรวิวัฒน์ จาก บ.ดวงฤทธิ์ บุนนาค (DBALP) กันดีกว่า

บทบาทของ 'ภูมิสถาปนิก'
เราต้องพูดถึงภูมิสถาปัตย์กันก่อนเลยค่ะ สาขานี้คือการออกแบบที่เกี่ยวกับภูมิทัศน์ภายนอก ถ้าเราพูดถึงสถาปนิกจะเป็นตัวตึก ตัวอาคาร ส่วนงานภายนอกก็จะหมายถึงตั้งแต่งานสเกลใหญ่อย่างพวกรีสอร์ต สนามกอล์ฟ ลานจอดรถ แม้แต่ทางเข้า ป้ายชื่อ ระเบียง พอก้าวขาออกนอกประตู งานของเราคือการสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าเข้ามาอยู่แล้วมีความรู้สึกอย่างที่เค้าต้องการ เราทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับความงามภายนอก บางทีอาจจะเป็นแค่ลานโล่งๆ แต่ถ้าพูดถึงความสวยงามแล้ว ทั้งหมดก็คืองานของภูมิสถาปนิกค่ะ
 
เสน่ห์งานภูมิสถาปัตย์
ถิงคิดว่างานภูมิสถาปัตย์สามารถสร้างบรรยากาศได้ สาขานี้อาจจะยังไม่ค่อยโด่งดังนัก คนก็จะเข้าใจว่ามาจากงานสถาปนิก แต่จริงๆ แล้วงานนี้ก็สามารถสร้างมูลค่าและบรรยากาศให้ผู้คนได้มากเหมือนกัน แล้วก็สนุกมากค่ะ เพราะมันต้องใช้ศิลปะเยอะ เราสามารถเล่นกับงานอื่นๆ ได้อย่างงานศิลปะ พรรณไม้ ทั้งวัสดุ อุปกรณ์ องค์ประกอบเหล่านี้มีมากมายที่เรานำมามิกซ์ในงานของเราได้ค่ะ
 
คุณสมบัติที่ขาดไม่ได้
จริงๆ แล้วคนที่จะมาทำตรงนี้ได้ต้องเรียนสถาปัตย์ มีความชอบและความเข้าใจด้านศิลปะ เพราะภูมิสถาปัตย์เป็นศาสตร์ที่บวกระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ แต่จะเป็นศิลปะในแง่ที่เป็นความจริง ทุกอย่างจะต้องสร้างได้ ไม่ได้มีแค่ความสวยงาม และต้องเอื้อต่อการใช้งาน ใช้ได้จริงๆ เพราะลูกค้าเป็นคนใช้ ส่วนเราเป็นแค่คนออกแบบที่ต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ลูกค้า ทีนี้ความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องรับฟังแต่ก็ต้องมีจุดยืนของเราด้วยเพราะเราเองก็มีความรู้ที่จะแนะนำเค้าได้
 
ได้ข่าวว่านอนดึก งานหนัก?
ถามว่านอนดึกมั้ย เพราะศิลปะมันไม่มีคำว่า “ดีที่สุด” หรือ “สวยที่สุด” หลายคนเขาเลยจะส่งงานเมื่อเฉพาะเมื่อถึงกำหนดส่งจริงๆ มันไม่มีไทม์มิ่งแน่นอนในการเขียน ไม่มีแบบตายตัว จะเปลี่ยนแบบค่อนข้างบ่อยเพราะความชอบของคนเราก็เกิดขึ้นใหม่ เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ แต่ข้อดีก็มีนะ เราอยู่กับการออกแบบก็คืออยู่กับสิ่งสวยงาม ค่อนข้างสนุกทีเดียวค่ะ
 
ทีมเวิร์กสำคัญที่สุด
บางโปรเจ็กต์อาจจะมีทั้งสถาปนิก อินทีเรีย กับภูมิสถาปนิกในทีมเดียวกัน การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ เพราะเราจะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากหลายๆ คน แต่ทีมก็เหมือนกับฟันเฟือง ถ้าคนใดคนหนึ่งเปลี่ยนไปเราก็ต้องเปลี่ยนตาม แต่ก็ดีค่ะ เพราะเราจะได้ฝึกอะไรมากขึ้นด้วย เราเองก็ไม่สามารถจะทำงานโดยไม่รับผิดชอบหรือไม่มีประสิทธิภาพได้เพราะจะทำให้คนอื่นช้าไปด้วย ตัวถิงเองก็ตั้งใจไว้ว่าเราจะมีความสุขกับการทำงานทุกๆ วัน อะไรที่เกิดขึ้นก็จะเก็บไว้เป็นบทเรียนสำหรับอนาคตต่อไปค่ะ

Career Tip
สำหรับคนที่อยากจะประกอบอาชีพภูมิสถาปนิกจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภูมิสถาปนิก อย่างไรก็ตาม หากใครสนใจข่าวสารหรืออีเวนต์ต่างๆ ในอาชีพนี้ก็ลองแวะไปที่เว็บไซต์ของสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) www.tala.or.th แล้วอย่าลืมคลิก Like ในเฟซบุ๊คเพื่อพูดคุยกับเพื่อนๆ ร่วมอาชีพนะจ๊ะ ครึกครื้นทีเดียวล่ะ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook