เรื่องราวความสำเร็จแบบไม่มี Shortcut ของ Aluna เจ้าหญิงแห่งวงการเพลงลาว

เรื่องราวความสำเร็จแบบไม่มี Shortcut ของ Aluna เจ้าหญิงแห่งวงการเพลงลาว

เรื่องราวความสำเร็จแบบไม่มี Shortcut ของ Aluna เจ้าหญิงแห่งวงการเพลงลาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชื่อของ Aluna หรือ อาลุนา ถาวรสุข อาจเป็นชื่อที่แฟนเพลงชาวไม่คุ้นหูเท่าไร แต่สำหรับที่ลาว ชื่อของเธอคือชื่อที่คนลาวรู้จักและให้การยอมรับในฝีมือจากผลงานเพลงทั้งสามอัลบั้ม รวมถึงมิวสิกวิดีโอซีรีส์ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมาให้ได้ชมกันเมื่อไม่นานมานี้ เพราะเธอไม่ใช่แค่นักร้องที่ใช้เสียงสวยๆ ถ่ายทอดเนื้อเพลงไปตามทำนอง แต่ยังเป็นศิลปินตัวจริงที่ทั้งร้อง ทั้งแต่งเพลง ไปจนถึงกล้าที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับคนฟังเพลงที่นั่น โดยไม่กลัวความล้มเหลว

นักร้องสาววัย 38 ปีบอกกับเราว่า เธอก้าวเข้าสู่วงการเพลงอย่างเต็มตัวครั้งแรกตอนอายุ 23 ปี ซึ่งถือว่าช้ากว่านักร้องอีกมากที่เปิดตัวในวงการกันตั้งแต่วัยรุ่น ทั้งๆ ที่เธอเริ่มต้นจับกีตาร์มาตั้งแต่ 5 ขวบ แต่ถึงแม้ว่าระยะเวลาในช่วงเริ่มต้นของเธอจะกินเวลานานกว่าคนอื่น แต่นั่นก็เหมือนเป็นการยืนยันถึงสิ่งหนึ่งที่เธอเชื่อและย้ำหลายครั้งในบทสนทนา นั่นคือ “ความสำเร็จมันบ่มี shortcut”

ครอบครัวนักธุรกิจที่ทุกคนมีดนตรีในหัวใจ

“เราโตมากับเพลงที่คุณพ่อคุณแม่ร้องให้ฟัง อย่างเพลงสากลในยุค ’70s อย่าง The Beatles, The Carpenters แล้วก็เอลวิส เพลงลาวก็มี เพลงไทยก็ฟังอย่าง The Impossible เกิดมาก็ได้ยินเพลงพวกนี้เลย เพราะคุณพ่อเป็นนักร้อง นักดนตรี เล่นได้ทั้งกีตาร์ เบส คีย์บอร์ด กลอง แล้วคุณพ่อทำธุรกิจก็จริง แต่ก็มีวงดนตรีกับเพื่อนๆ ที่บ้าน คุณแม่เองไม่ได้เล่นดนตรี แต่ก็ชอบร้องเพลง เลยสอนให้เราร้องเพลงตั้งแต่เด็ก พี่ชายก็เล่นดนตรีและร้องเพลงด้วยเหมือนกัน”

“เพราะคุณพ่อเป็นนักดนตรี เล่นได้หลายอย่าง ก็เลยมีเครื่องดนตรีเต็มบ้าน เราเลยเริ่มจับ เริ่มฟังเสียงเครื่องดนตรีมาตั้งแต่ 5 ขวบ ตอนนั้นจะอุ้มกีตาร์ยังอุ้มไม่ได้ ต้องเอาวางนอนลงบนตัก แล้วก็เล่นแบบเล่นพิณ ใช้วิธีจำเสียงเอาว่าเสียงนี้มันคือโน้ตไหน มาเริ่มหัดเป็นเรื่องเป็นราวก็ตอนอายุประมาณ 12-13 ที่ตั้งใจไปลงเรียนแบบเป็นคอร์สๆ”

“ถ้าไปสัมภาษณ์ศิลปินคนอื่น เขาอาจจะบอกว่า ชอบฟังเพลงแต่เด็กก็เลยมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นศิลปินตอนโตขึ้น แต่เรานี่ไม่เลย ตอนเด็กรู้อย่างเดียวต้องเรียนหนังสือ เรื่องเพลงเป็นงานอดิเรกเท่านั้น

นักเรียนทุนด้านบริหารธุรกิจที่มีกีตาร์เป็นสัมภาระติดตัว

“ตอน ม.ปลาย ตั้งใจเรียนจนสอบชิงทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียไปเรียนที่ Deakin University ตอนไปเรียนนั่นก็แบกกีตาร์ไปนะ ตอนแบกไปก็ไม่รู้หรอกว่าจะเอาไปทำอะไรได้อีก รู้แต่ว่าดนตรีมันเหมือนเป็นเพื่อนเรา เวลาเราเครียดจากเรื่องเรียน เราก็ยังมีดนตรีที่ช่วยให้สบายใจ เล่นแล้วกำลังใจจะมา”

“จริงๆ แล้วก่อนไปเรียนที่ออสเตรเลีย ภาษาอังกฤษนี่ไม่เก่งเลย มาเริ่มตั้งใจฝึกตอนที่คิดจะสอบชิงทุน ตอนนั้นใช้วิธีว่า ตื่นเช้ามาก็จะต้องท่องศัพท์ที่ติดไว้ที่หัวเตียง 5 คำ ท่องเสร็จก็เดินเข้าไปแปรงฟันในห้องน้ำ ก็มีอีก 5 คำติดไว้ที่หน้ากระจก ระหว่างแปรงฟันก็อ่านไปด้วย ในหัวก็ท่องไปด้วย แปรงฟันอาบน้ำเสร็จ ก่อนออกจากบ้านก็จะท่องให้ได้อีก 5 คำ พอกลับมาบ้านตอนกลางคืนเห็นคำพวกนี้อีกก็ท่องซ้ำ เพราะฉะนั้นแต่ละวันก็จะได้ศัพท์แล้ว 15 คำ นอกจากเขียนบนผนังก็ต้องเขียนใส่ในสมุดจดด้วยว่า คำที่เราท่องเป็นคำประเภทใด ความหมายคืออะไร และสามารถใช้แบบไหนได้บ้าง”

“การฟังเพลงสากลมาตั้งแต่เด็กมันก็มีส่วนช่วยด้วย เพราะเวลาที่เราเรียนภาษาผ่านเพลง มันก็มีแรงจูงใจ อยากรู้เรื่องต่างๆ ในเพลง ทำให้เราไม่เครียดด้วย”

ค้นพบ passion ที่มีอยู่ในตัวเองบนถนนในปารีส

“ช่วงเรียนที่ออสเตรเลียก็ได้ไปเล่นดนตรีตามงานที่จัดขึ้นโดยสมาคมคนลาวบ้าง ไปเล่นตามวัดลาวบ้าง วัดไทยบ้าง คือมีที่ไหนอยากให้เราเล่น เราก็ไปแจม แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเป็นนักร้องเลย”
“ตอนที่เรียนจบ ได้ปริญญาแล้ว ก็ยังคิดว่าชีวิตเราจะทำอะไรดี เพื่อนบางคนก็เรียนต่อปริญญาโท บางคนก็แต่งงาน แต่เรายังรู้สึกเหมือนอยู่ในช่วงเสาะหาตัวเอง เลยเดินทางไปยุโรป แล้วก็ไปเจอเรื่องประทับใจที่ปารีส เพราะว่าถนนหนทางที่เราผ่านไป หรือสถานีรถไฟ ก็มีคนร้องเพลง เล่นดนตรี มันเหมือนเป็นอีกโลกที่มีคนมาปลุกเรา มาบอกเราว่า ร้องเพลงสิ ดนตรีอยู่ในตัวเธอตั้งแต่ 5 ขวบแล้วนะ ปลุกมันขึ้นมาสิ มันเป็นความรู้สึกประมาณนี้เลย ซึ่งก็ต้องขอบคุณประสบการณ์ตัวเองครั้งนั้นที่ทำให้รู้ว่าเราควรทำอะไร หลังจากนั้นก็เขียนเพลงเลย พอกลับมาจากยุโรปก็เอาเพลงไปยื่นที่ค่ายเพลงเลย”

“ตอนนั้นรู้เลยว่า ดนตรีมันคือ passion สำหรับเรา ยังไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่ามันจะกลายเป็นเงินได้ไหม เพราะเราคิดว่าทำตาม passion แล้วมันมีความสุข เดี๋ยวเงินก็มาเอง เล่าให้พ่อกับแม่ฟังว่าจะเป็นศิลปิน พ่อกับแม่ก็เตือนว่าการทำงานแบบนั้นต้องเจออะไรบ้าง เราจะรับได้ใช่ไหม เราก็เลยถามตัวเองอีกครั้งจนได้คำตอบว่า เราอยากทำ ถ้าไม่ทำก็จะเสียใจไปตลอดชีวิต ก็เลยลงมือทำ”

“สเต็ปจาก 0 มาถึง 1 นี่มันไม่ง่ายเลยนะที่จะก้าวออกจาก comfort zone ของตัวเอง แต่พอก้าวออกมาได้แล้ว เราก็รู้สึกเหมือนชนะใจตัวเอง เอาชนะความกลัว ทั้งกลัวว่าจะไม่สำเร็จ กลัวว่าจะไม่มีคนฟัง หรือกลัวว่าจะล้มเหลว ตอนนั้นตัดความกลัวทุกอย่างออกหมด เอาแค่เรารู้ว่าเราทำแล้วมีความสุข ไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่อเงิน”

เปิดตัวด้วยเพลงป๊อป แต่ไม่หยุดที่เพลงป๊อป

“อัลบั้มแรกชื่อ Aluna ออกมาตอนปี 2006 มี 11 เพลง เป็นเพลงป๊อปทั้งหมด ก่อนที่จะเปิดตัว เราก็ไม่รู้ว่าจะมีคนฟังมากน้อยแค่ไหน เราแค่คิดว่า เราได้ทำสิ่งที่อยากทำแล้ว แต่ปรากฏว่าฟีดแบ็กดีเกินคาด จนได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกาด้วย ไปทั้งซีแอตเทิล ชิคาโก แอลเอ ซาคราเมนโต”

“จากอัลบั้มแรกที่เราไม่กดดัน พอมาถึงอัลบั้มที่สองที่ชื่อ The Journey to Part ll: There’s No Shortcut to Success กลายเป็นว่ากดดันมาก เพราะเราคิดตลอดว่าจะทำเพลงแบบไหนถึงจะไม่ copy ตัวเอง แล้วก็รู้ว่ามันจะต้องมีการเปรียบเทียบอัลบั้มที่สองกับอัลบั้มแรกแน่นอน แรงกดดันก็เลยมากกว่า เราเองก็อยากให้เพลงมันแอดวานซ์ขึ้น เนื้อหาแน่นขึ้น แข็งแรงขึ้นกว่าเก่า การร้องก็ต้องใหญ่ขึ้น เพิ่มทีมคอสตูม ทีมออกแบบท่าเต้นเข้ามาด้วย”

“ฟีดแบ็กที่ได้จากอัลบั้มสองที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือ หลายคนบอกว่าการแสดงสดของเราดีขึ้น ดูแล้วแข็งแรงขึ้น นั่นก็เพราะว่าเราฝึกฝนมากขึ้น”

“แต่พอมาถึงอัลบั้มที่สามซึ่งทิ้งช่วงจากอัลบั้มที่สองไปประมาณ 3 ปี เป็นช่วงปี 2011 ตอนนั้นเป็นช่วงที่วงการเพลงหลายที่ ไม่ใช่แค่เฉพาะที่ลาว เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มันเริ่มมี MP3 เริ่มขายซีดีไม่ได้ แล้วในวงการศิลปินก็เกิดแนวคิดที่ไม่อยากมีอัลบั้ม แต่อยากมีซิงเกิ้ลเพื่อรับงาน”

“เราก็มาคิดว่า การมีอัลบั้มมันสำคัญนักร้องนะ เพราะว่ามันเป็นซิกเนเจอร์อย่างหนึ่ง แล้วแฟนคลับตัวจริงเขาก็อยากได้อัลบั้มเก็บไว้ จากที่ออกเป็นซิงเกิ้ลก็เลยอยากรวมเป็นอัลบั้มชื่อ The Third Diary เพราะเพลงที่เขียนในอัลบั้มนี้เป็นเหมือนไดอารีที่เราบันทึกจากประสบการณ์ของตัวเองและคนรอบข้าง”

“ด้วยความที่ตอนนั้นเราออกมาเป็นศิลปินอิสระแล้ว เลยอยากลองแนวเพลงใหม่ๆ ให้แฟนเพลงได้ลองฟังกัน ความสำเร็จจากสองอัลบั้มแรกมันทำให้เรามั่นใจมากพอที่จะนำเสนออะไรที่มันต่างจากเดิม ก็เลยเลือกแนวเพลงดิสโกฟังกี้ เนื้อเพลงก็ท้าทายขึ้น เพราะเราพูดถึงชนชั้นทางสังคม โดยตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้ไหมว่าถ้าคนไฮโซกับโลว์โซจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความมีน้ำใจ ถ้าคนไฮโซเขาไม่ได้ไฮแต่ข้างนอก แต่ไฮจากข้างใน ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ คุยกันได้”

“ตอนที่ทำเพลงชุดนั้นบอกตรงๆ ว่า คนฟังจะชอบไหมยังไม่สำคัญเท่ากับเราเองจะชอบไหม เพราะมันเป็นเพลงที่เน้นปรัชญาชีวิตมากขึ้น เอาเนื้อหามาใส่ในดนตรีสไตล์ดิสโกฟังกี้ สวนกระแสแนวเพลงฮิตของลาวซึ่งตอนนั้นเขาฮิตเพลงเคป๊อปกัน”

ความท้าทายใหม่ที่พากลับไปสู่รากเหง้าของเสียงเพลง

“ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีความอยากรู้ในเรื่อง music route ของลาวแท้ๆ ก็เลยไปตามดูว่ารากมันมาจากไหน เพราะเรารู้สึกว่า เราเป็นศิลปินลาวก็ควรเรียนรู้เรื่องที่มันเป็นของลาวแท้ๆ จากที่เคยเล่นกีตาร์ เล่นคีย์บอร์ด เล่นฮาร์โมนิกา ก็เลยไปเรียนเป่าแคน ไปเรียนลำ เรียนแล้วรู้เลยว่ายากหลาย แล้วก็กลายเป็นมีความสุขเวลาได้ยินเสียงแคน”

“ส่วนเรื่องเรียนลำ ตอนแรกเราก็งงว่าทำไมตัวเองไปเรียนแล้วจับทำนองไม่ได้เลย ทั้งที่เราร้องแจ๊ซมาซึ่งก็ไม่ได้ง่าย เรายังเก็ตทำนอง จนมาค้นพบว่าที่เราไม่จับทำนองไม่ได้เพราะการเรียนลำจะต้องรู้ก่อนว่า การขับลำมันมีในหลายภาคของลาว ตั้งแต่เหนือถึงใต้ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ก่อนว่าในพื้นที่นั้น สำเนียงเป็นยังไง ถ้ารู้ว่าสำเนียงทางใต้เป็นแบบไหน ก็จะลำแบบใต้ได้ รู้ของเหนือก็จะลำแบบเหนือได้ เรามาจากภาคกลาง ก็จะต้องไปเรียนพูดสำเนียงใต้ก่อน ถึงจะลำได้ ไม่ใช่แค่จำแล้วร้องตามอย่างนกแก้ว ซึ่งเราดีใจมากที่สุดท้ายก็ค้นพบเรื่องนี้”

“ก่อนหน้านี้ เคยออกหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่ง ชื่อ The Journey to Part ll: There’s No Shortcut to Success ชื่อเดียวกับอัลบั้มที่สอง เราเขียนเกี่ยวกับการเสาะหาความฝันว่ามันสำคัญสำหรับตัวเราขนาดไหน หนังสือเล่มนี้ตั้งใจเขียนเพื่อนำไปแจกในโรงเรียนมัธยมปลาย แจกตามห้องสมุด เพราะอยากเชิญชวนให้น้องๆ ตามหาความฝันของตัวเอง ให้มีความเพียรในการสร้างความฝันของตัวเอง โดยเล่าถึงประสบการณ์ของเราเองนี่ล่ะมันเริ่มได้ยังไง ความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ มีอะไรบ้าง อยากให้คนที่อ่านอ่านแล้วรู้สึกว่า ถ้าเราทำได้ ทุกคนก็น่าจะทำได้เหมือนกัน ขอแค่ให้มีความมุ่งมั่นพอ”

“เพราะเฮาเชื่อว่า ความสำเร็จมันเฟคบ่ได้ มันต้องเรียลอีหลี ต้องมาจากความเพียร”

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook