ได้เวลาฟื้นฟูความสัมพันธ์แล้วหรือไร?

ได้เวลาฟื้นฟูความสัมพันธ์แล้วหรือไร?

ได้เวลาฟื้นฟูความสัมพันธ์แล้วหรือไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

แขกผู้มาเยือนและ ของขวัญแสดงความยินดี เริ่มซาไปแล้ว เหลือแค่คุณ กับสามีและลูกแบเบาะ ที่ต้องเรียนรู้สร้างความผูกพันระหว่างกันและกันเพื่อให้รอดพ้นช่วงเวลาอันแสนเปราะบางนี้ไปให้ได้

ความพยายามปรับตัวให้เข้ากับลูกแบเบาะจัดเป็นบททดสอบสำคัญแม้กับความสัมพันธ์ที่คุณคิดว่าแข็งแกร่ง ก่อนนี้คุณเคยกอดก่ายกันสองคนบนโซฟาแต่ตอนนี้กลับต้องมาเถียงกันว่าใครจะเป็นคนเปลี่ยนผ้าอ้อมลูก อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะมีเคล็ดลับทำให้ชีวิตคู่ของคุณหวนกลับมาหวานชื่นเหมือนเก่าได้ดังนี้


แข่งกันเหนื่อย

พ่อแม่คนใหม่ไม่เคยเตรียมใจรับกับความเหน็ดเหนื่อยขนาดนี้มาก่อน ซึ่งส่งผลทำให้การทำใจรับกับเรื่องอื่นๆ ยิ่งยากหนักเข้าไปอีก แจ็คกี้ สมิธ วัย 26 ปี คุณแม่ของแซม วัย 8 เดือน บอกว่า "จอห์นกับฉันเคยเถียงกันเรื่องไร้สาระว่าใครเหนื่อยกว่ากัน เพราะเราต่าง เหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย เลยทำให้หงุดหงิด และมีปากเสียงกันบ่อยขึ้น"

คำแนะนำในการฟื้นฟู
ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยจนน้ำตาไหลพราก คุณจะโมโหง่ายกว่าปกติเพราะความเหนื่อยทำให้
ความอดทนของคนเราต่ำลง สิ่งดีที่สุดที่สามารถทำได้คือบอกตัวเองว่านี่แค่ชั่วคราวเท่านั้นเองแม้ตอนนั้นจะไม่รู้สึกว่าใช่ก็ตาม บอกสามีไปตามตรงว่าคุณรู้สึกอย่างไร อย่าหวังให้เขารู้ได้เอง


พูดคุยกันเรื่องเซ็กซ์
คุณเพิ่งคลอดลูกมาหยกๆ อดนอนและต้องให้นมลูก แน่นอนว่าเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องที่แม่คนไหนคิดถึงในยามนี้ แต่กับพ่ออาจไม่เป็นเช่นนั้น คาโรไลน์ วัย 33 ปีคุณแม่ของมอลลี่ วัย 18 เดือน บอกว่า "ฉันรู้สึกไม่เซ็กซี่เอาเสียเลยหลังจากคลอด ทั้งเจ็บเต้านม เจ็บแผลฝีเย็บหุ่นอวบอ้วน และแทบไม่มีเวลาแม้แต่จะ สระผม เฝ้าผัดผ่อนเรื่องเซ็กซ์ไปเรื่อยๆกระทั่งตระหนักได้ว่าไม่มีเซ็กซ์มาหลายเดือนแล้ว พอหวนกลับไปคิดทบทวนก็รู้ว่าน่าจะมีส่วนทำให้ชีวิตคู่ย่ำแย่ลง"

คำแนะนำในการฟื้นฟู
ถ้าสามีของคุณอยากมีเซ็กซ์แต่คุณไม่พร้อมก็อาจต้องพูดจากัน บอกเขาว่าไม่ใช่คุณไม่ต้องการความรัก หรือการกอดกกจากเขา แต่คุณแค่ต้องการเวลาสักนิด แสดงให้เห็นว่าคุณรักเขาแต่อธิบายว่าคุณเหนื่อย ให้ความอุ่นใจกับเขาสักนิดว่าอีกไม่ช้าคุณจะดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติระหว่างนี้ให้หาเวลาอยู่ร่วมกันตามลำพังบ้าง หาคนมาช่วยเลี้ยงลูกเพื่อคุณสองคนจะได้ออกไปข้างนอกเหมือนที่เคยทำก่อนหน้าที่จะมีลูกบ้าง


ใช้เวลาแบบ "คู่หนุ่มสาว"
เมื่อคุณต้องสวมบทบาทพ่อแม่หลังจากเคยอยู่กันสองคนเป็นคู่นั้น ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับสามีมากกว่าที่คุณคิดมากมายนัก แจ็คกี้บอกว่า "จอห์นกับฉันเคยมีสัมพันธ์อันแข็งแกร่ง เราเจอกันในมหาวิทยาลัยและทำทุกอย่างร่วมกันมาตลอด ดังนั้นจัดเป็นเรื่องน่าช็อกที่เราต่างรู้สึกถึงความห่างเหินภายหลังจากมีลูก บางครั้งเราอยู่ด้วยกันทั้งวันโดยไม่ได้พูดคุยกันจริงๆจังๆ เลย หรือถ้าพูดก็มักจะพูดแต่เรื่อง
ของลูก ไม่ค่อยมีเรื่องของ "เรา" อีกแล้ว"

คำแนะนำในการฟื้นฟู
หากความสัมพันธ์ของคุณเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะที่ตึงเครียดอาจถึงเวลาที่คุณต้อง
ปรับเปลี่ยนเช่นกัน เพราะคุณกำลังเรียนรู้ที่จะเป็นคู่หนุ่มสาวในกรอบใหม่ของการเป็นพ่อแม่คนด้วย ดังนั้นต้องลงทุนลงแรงเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในแบบหนุ่มสาวให้พิเศษอยู่เสมอ หาเวลาให้ตัวเองสักชั่วโมงแม้แค่ไปนั่งดื่มกาแฟด้วยกันหน้าปากซอยก็ตาม


ต้องเฉพาะเจาะจง
เมื่อมีเวลาพูดกันน้อยลงและแต่ละคนต่างต้องรับบทบาทพ่อแม่คนใหม่ อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันมากยิ่งขึ้นชอนน่า วัย 33 ปี ซึ่งมีลูกชายวัยใกล้หนึ่งขวบ บอกว่า "ฉันต้องให้นมเจคทุก 2 ชั่วโมง ขนาดจะเข้าห้องน้ำยังเป็นเรื่องยากเลย อย่าได้คิดถึงการดูแลตัวเองเลยบางวันแดนกลับจากทำงานเจอฉันยังใส่ชุดนอนอยู่เลย ฉันรู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจถึงการต้องอยู่บ้านทั้งวันกับลูกตัวแดงๆ เขาคิดว่าฉันอยู่บ้านเฉยๆ ทั้งวัน น่าสบายสุดๆ ทั้งที่ฉันรู้สึกเดียวดายและอ่อนเพลียมาก"

คำแนะนำในการฟื้นฟู
ให้พูดคุยกับสามีถึงความกังวลของคุณและสิ่งที่จะทำได้เพื่อรักษาความพิเศษในความเป็น "เรา" เอาไว้ให้เหมือนเดิม คุณต้องพูดถึง ปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง อย่าพูดแค่ว่า "ฉันคงซักผ้าไม่ได้ในวันนี้" ให้อธิบายกับสามีว่าคุณลงไปข้างล่างไม่ได้เพราะต้อง
คอยดูลูก ให้คิดหาทางแก้ไขร่วมกันความสัมพันธ์เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทุกคน แต่การแบ่งปันความกังวลร่วมกันจัดเป็นสิ่งที่ดี ให้พูดจากันต่อไปเพราะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับลูกด้วยเช่นกัน

 

ให้โอกาสคุณพ่อบ้าง...
คุณเคยปิดกั้นสามีไม่ให้สร้างความผูกพันกับลูกหรือเปล่า? คุณเคยหุบปากไม่เอื้อนเอ่ยวาจาเวลาเห็นเขาทำสิ่งที่ "ผิด" ใช่ไหม? แล้วคุณรู้ตัวไหมว่าทำไปเพราะอะไร ต่อไปนี้ คือวิธีช่วยให้ทั้งคุณและเขาผ่อนปรนเข้าหากันในจุดที่พอดี

คุณแม่มือใหม่มักมองตัวเองว่าเป็น "คนคุ้มกัน" ลูกแบเบาะ ในมื่อคุณแบกท้องมาตั้ง 9 เดือนนี่นา แล้วตอนคลอดคุณก็ต้องทนเจ็บท้องเกือบตายอยู่คนเดียว และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่มีอยู่มากมาย แต่นั่นอาจลงท้ายด้วยการที่คุณไม่ยอมให้สามีมีส่วนร่วมเลี้ยงลูก เวลาเขาช่วยคุณก็บ่นว่าเขาทำไม่ถูกวิธี ถ้าคุณหงุดหงิดที่สามีไม่ "ช่วย" หรือสงสัยว่าตัวเองกำลังจะกลายเป็นจอมบงการไปแล้ว คุณจะทำอย่างไรต่อไปดีล่ะเนี่ย?

ผู้หญิงต้องเรียนรู้การปล่อยวางซะบ้างไม่งั้นจะเหนื่อยอยู่คนเดียวถ้าไม่แบ่งเบาภาระการเลี้ยงลูกให้คนอื่น และยิ่งนานวันเข้า คุณจะยิ่งกังวลมากขึ้นว่าทำไมสามีไม่เคยตื่นขึ้นมาช่วยดูลูกตอนกลางคืนเลย วิธีจัดการกับการทำหน้าที่ตามมุมมองของความเป็นพ่อแม่นั้นสามารถทำได้ 3 ประการ ประการแรกคือมีหน้าที่เลี้ยงลูกเป็นหลัก ซึ่งแม่บางคนรู้สึกเช่นนั้น และถ้าเป็นอย่างนั้นคุณก็ต้องหาคนมาช่วยทำอย่างอื่น เช่น ทำกับข้าว ซักผ้า ทำงานบ้าน ประการที่สองคือเจรจากันเรื่องช่วยกันเลี้ยงลูก ประการที่สามคุณอาจพอใจกับการยอมให้คนอื่นอุ้มลูกแทน ในระหว่างที่คุณทำอย่างอื่น แต่อย่ากังวลหากคุณไม่ได้อยู่ใน 3 ประเภทนี้

แอบบี้ คุณแม่วัย 25 ปี บอกว่า "ฉันแทบทนอยู่ห้องเดียวกับสามีไม่ได้เวลาเขาอาบน้ำให้ลูกตอนค่ำ ต้องพยายามทำเมินซะ ไม่งั้นก็ต้องเข้าไปยุ่งจนได้แต่มีบางเวลาที่อ่อนล้าจนนึกอยากให้เขาเป็นคนลุกขึ้นไปเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกแทนที่จะรอให้ฉันบอก ทุกวันนี้ฉันดีขึ้นกับการเอ่ยปากขอให้เขาช่วยเลี้ยงลูกหรือให้ทำงานอื่น"

สิ่งสำคัญคือการที่คุณให้สามีมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงจุดอ่อนจุดแข็งของเขา คู่สามีภรรยาส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้พูดจากันล่วงหน้าก่อนคลอดว่าพ่อจะต้องทำอะไรบ้าง บางทีพ่ออาจจะเก่งกับการเอาลูกเข้านอนหรือเล่นด้วย ถ้าคุณต้องการให้สามีมีส่วนร่วม คุณต้องให้เวลาเขาได้อยู่ลำพังกับลูกบ้าง ผู้หญิงเรียนรู้จากการกระทำ ดังนั้นเวลาที่เขากำลังทำหน้าที่ เช่น อาบน้ำหรือแต่งตัวให้ลูก คุณสามารถยืนดูอยู่ข้างๆ โดยไม่เข้าไปแทรกแซง มองดูด้วยใจที่เป็นกลางอย่าอคติเพียงเพราะเขาทำไม่เหมือนคุณปล่อยให้เขาคิดวิธีที่เหมาะสมด้วยตัวเขาเองเถอะ

เจนนี่ วัย 28 ปี บอกว่า "เอียนอาบน้ำให้คาเมรอนเวลาเขากลับจากทำงานทำให้เราสองคนมีอะไรให้คอย คาเมรอนรักพ่อแล้วทั้งสองชอบการได้อยู่ด้วยกันและทำให้ฉันมีเวลาครึ่งชั่วโมงในการลงไปเตรียมทำกับข้าวมื้อเย็น" โปรดระลึกไว้เสมอว่าการทำหน้าที่พ่อแม่ของแต่ละคู่ไม่เหมือนกัน และสิ่งสำคัญคือการยื่นมือเข้ามาช่วยจากผู้เป็นพ่อ อาจไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องรู้วิธีการเปลี่ยนผ้าอ้อมเสมอไป อาจหมายถึงเขาเป็นคนทำกับข้าวเพื่อให้คุณให้นมลูกได้สบายๆ มากขึ้น คุณพ่อยุคใหม่ปรับตัวได้ง่าย การรับบทบาทพ่อแม่เป็นเรื่องของการเรียนรู้เพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะสมและใช้การได้ดีสำหรับคุณสองคนเป็นหลักนั่นเอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook