CER ทางออกใหม่ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

CER ทางออกใหม่ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

CER ทางออกใหม่ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ท่านผู้อ่านที่จ่ายเงินค่ายาหรือค่ารักษาพยาบาลที่คลินิกและที่โรงพยาบาลเอง คงจะพบความจริงว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงขึ้นตามลำดับ โดยอัตราเพิ่มจะเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับ เมื่อไม่กี่ปีก่อนค่ารักษาและผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบในโรงพยาบาลระดับ 3 - 4 ดาว จะตกประมาณหมื่นกว่าบาท แต่เดี๋ยวนี้ต้องเตรียมเงินไว้ตั้งแต่ห้าหมื่นถึงแสนบาท

ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน หลายๆประเทศจึงหาทางชะลอค่ารักษาพยาบาลไม่ให้แพงขึ้นด้วยมาตรการต่างๆ โดยใช้แนวคิดที่ว่าต้องเป็นวิธีการรักษาพยาบาลที่คุ้มค่าและคุ้มทุน (Cost - Effective และ Cost - Benefit) แต่เนื่องจากการรักษาโรคต่างๆ มีวิธีการที่ดีๆ มากกว่าหนึ่งวิธี แต่ละวิธีก็มีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน หลายประเทศ จึงใช้วิธีที่เรียกว่า การวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลการรักษา หรือ CER (Comparative - Efficiency Research) ซึ่งที่สหรัฐอเมริกาทางรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ประมาณหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณปัจจุบัน โดยตั้งความหวังว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว

ตอนแรกที่รัฐบาลประกาศแนวคิดดังกล่าว มีสมาชิกรัฐสภาบางคนคัดค้านแล้วประณามว่าทางรัฐบาลกำลังจะปันส่วนการรักษา และเลือกปฏิบัติ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ โดยมีตัวอย่างงานวิจัยเปรียบเทียบที่พบว่าการรักษาแบบใหม่ที่มีราคาแพงบางครั้งก็จำเป็น เช่นวิธีรักษาคนไข้ที่กล้ามเนื้อหัวใจตายแล้วหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ (MI with Nonsustained Ventricular Tachycardia) โดยใช้อุปกรณ์ฝังเข้าไปในหัวใจเพื่อกำกับการเต้นของหัวใจ (Implantable Defibrillator) ซึ่งมีราคาแพงระยับ จะมีประสิทธิผลดีกว่าการใช้ยาและมีความคุ้มค่ากว่าแม้จะแพงกว่า ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและอายุยืนขึ้น

ในอีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งมีชื่อย่อว่า ALLHAT (Antihypertensive And Lipid-Lowering Treatment To Prevent Heart Attack Trial) นักวิจัยพบว่ายาขับปัสสาวะราคาถูกที่แพทย์สมัยใหม่พากันลืมเลือนเลิกใช้ เพราะเป็นยาเก่า กลับได้ผลดีกว่าการให้ยาลดแรงดันโลหิตกลุ่มใหม่ที่มีราคาแพงกว่า ไม่เป็นจะเป็นยากลุ่ม ACE Inhibitor, ยาปิดกั้นแคลเซียมและกลุ่ม Alpha-Blocker ก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะว่าบรรดาบริษัทยายักษ์ใหญ่ที่มีงบประมาณวิจัยยามากๆ ควรจะพิจารณาลงทุนวิจัยเปรียบเทียบการรักษาแบบใหม่กับแบบเดิมว่าดีกว่าจริงๆ ยิ่งถ้าค่ารักษาโดยรวมถูกกว่ายิ่งดีใหญ่ ซึ่งปรากฏว่าขณะนี้ประเทศอังกฤษ, ออสเตรเลีย และแคนาดา เริ่มใช้มาตรการวิจัย CER ในการอนุมัติยาใหม่ที่มีข้อมูลประจักษ์ว่าดีกว่าจริงๆ

CER จะให้ข้อมูลทางวิชาการแก่ผู้ให้บริการสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาแพทย์ ทั้งหลายที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ค่อยยอมรับคำสั่งจากใคร แต่ถ้าเป็นผลงานวิจัยเปรียบเทียบที่บ่งชี้ว่าการรักษาวิธีหนึ่งดีกว่าวิธีหนึ่งอย่างชัดเจน อย่างนี้เธอจะยอมรับและนำไปประกอบการตัดสินใจทางคลินิกได้ดีกว่า แทนที่จะใช้กลไกการตลาดมาชักชวนคุณหมอให้ใช้ยาที่เพิ่งวางตลาดโดยไม่มี CER

ด้วยความปรารถนาดีจาก พลตำรวจตรี นายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ กรรมการแพทยสภา

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Getty Images

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook