โรคพยาธิเม็ดเลือด

โรคพยาธิเม็ดเลือด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุนัข

ความผิดปกติของสุนัขที่พบบ่อยในปัจจุบัน คงมีชื่อของ "โรคพยาธิเม็ดเลือด" เป็นโรคหนึ่งที่คุ้นหูสำหรับผู้เลี้ยงสุนัขทั่วไป โรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่มีความชุกโรคมากในภูมิประเทศที่มีอาการร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย โดยมีตัวการสำคัญในการแพร่โรคหรือพาหะ คือเห็บสุนัข ที่เราจะคุ้นหน้าคุ้นตาบนตัวสุนัขหลังจากพาเจ้าคู่หูตัวโปรดออกไปท่องเที่ยวนอกบ้านหรือไปในพื้นที่ที่มีการกระจายตัวของสุนัขอื่นๆ


Q: โรคพยาธิเม็ดเลือดเกิดจากอะไร
A: โรคพยาธิเม็ดเลือดที่สำคัญในสุนัขและพบมากในประเทศไทย เกิดจากสามตัวการที่สำคัญ ได้แก่ Hepatozoon canis (พบในเม็ดเลือดขาวและอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลืองและกล้ามเนื้อ), Babesia canis (พบในเม็ดเลือดแดงของสุนัข) และ Ehrlichia canis (พบในเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆของสุนัข) จะพบโรคพยาธิเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้ในพื้นที่หรือที่อยู่อาศัยของสุนัขที่มีการแพร่กระจายของเห็บสุนัขอย่างชุกชุม


Q: สามารถติดต่อได้อย่างไร
A: การติดต่อของโรคพยาธิเม็ดเลือดนั้นจะแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับชนิดของตัวก่อโรค เช่น Hepatozoon canis จะเกิดจากการที่สุนัขกินตัวเห็บที่มีเชื้อเข้าไป สำหรับสุนัขที่มีการติดเชื้อ Babesia canis และ Ehrlichia canis จะเกิดจากถูกเห็บที่มีเชื้อกัด

Q: อาการของโรคพยาธิเม็ดเลือด
A: อาการของโรคพยาธิเม็ดเลือดจะมีความแตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุของโรคและขบวนการก่อโรค คือ โรคพยาธิเม็ดเลือดชนิด Hepatozoon canis จะก่อให้สุนัขมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร มีน้ำมูก อ่อนแรง และมีภาวะเลือดจาง ซึ่งมักเป็นๆหายๆ และไม่ค่อยมีความรุนแรงมากหากสุนัขไม่ป่วยเป็นโรคอื่นที่มีความรุนแรงพร้อมๆกัน เช่น ป่วยเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดชนิดอื่นๆร่วมกัน หรือสุนัขป่วยเป็นโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

โรคพยาธิเม็ดเลือดชนิด Babesia canis จะทำให้เกิดความผิดปกติโดยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระดับภูมิคุ้มกันทั่วไปของร่างกายสุนัข ความรุนแรงของเชื้อก่อโรคและปริมาณของเชื้อก่อโรคในร่างกายสุนัข โดยทั่วไปสุนัขจะมีภาวะเลือดจาง มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงและอาจมีปัญหาระบบประสาท

โรคพยาธิเม็ดเลือดชนิด Ehrlichia canis จะมีอาการป่วยแตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. ระยะฉับพลันที่มักมีอาการภายหลังการติดเชื้อก่อโรคประมาณ 1-3 สัปดาห์ และมีอาการนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ สุนัขจะมีอาการเป็นไข้ กระวนกระวาย เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
2. ระยะกึ่งฉับพลัน สุนัขอาจไม่แสดงอาการของความผิดปกติ และสามารถมีอาการอยู่ในระยะนี้ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
3. ระยะเรื้อรัง สุนัขจะแสดงอาการป่วยเนื่องจากความผิดปกติของเกล็ดเลือด มีเลือดออกง่ายผิดปกติ หรือมีจุดจ้ำเลือดออกตามผิวหนัง การจับตัวของเกล็ดเลือดเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน สามารถทำให้เกิดการอักเสบของไต และอวัยวะอื่นๆ

สุนัข

Q: การตรวจวินิจฉัยหากสุนัขมีอาการดังกล่าว
A: โดยทั่วไปอาการป่วยของสุนัขมักมีอาการคลุมเคลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขที่ป่วยด้วยเชื้อ Hepatozoon canis ที่มักมีอาการภายหลังการมีความชุกของเห็บไปแล้วระยะหนึ่ง ดังนั้นการตรวจสอบความผิดปกติของสุนัขนอกเหนือจากการตรวจสอบประวัติทั่วไปเกี่ยวกับสุนัขถึงอาการป่วยต่างๆ และความชุกของเห็บในที่อยู่อาศัยและบนตัวสุนัขในระยะที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องนำสุนัขเข้ารับการตรวจอื่นๆ เพื่อเป็นการยืนยันความผิดปกติ ซึ่งได้แก่ การตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดต่างๆ และการตรวจสอบการทำงานต่างๆของอวัยวะในร่างกาย รวมถึงการตรวจหาตัวเชื้อก่อโรคจากแผ่นฟิล์มเลือดหรือตัวอย่างชิ้นเนื้อภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ในปัจจุบันยังมีวิธีการตรวจคัดกรองโรคพยาธิเม็ดเลือดบางชนิดด้วยการใช้ชุดตรวจโดยใช้ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่สามารถตรวจได้ง่าย และได้ผลรวดเร็ว หากสุนัขมีอาการป่วยค่อนข้างรุนแรงและมีความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วยอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ดูการอักเสบของกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มกระดูก หรือการเอกซเรย์เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะในช่องท้องซึ่งมักต้องทำรวมกับการอัลตร้าซาวนด์ทั้งนี้เพื่อผลการวินิจฉัยที่ครบถ้วนและสำหรับการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Q: โรคพยาธิเม็ดเลือดสามารถรักษาได้หรือไม่
A: โรคพยาธิเม็ดเลือดประเภทต่างๆนั้น สามารถรักษาด้วยการให้ยาที่จำเพาะต่อสาเหตุ อย่างไรก็ตามการรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือดบางชนิด สามารถทำให้อาการของสุนัขดีขึ้น แต่ยังอาจตรวจพบเชื้อที่เป็นต้นเหตุได้ นอกจากนั้นการรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือดยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วยของสุนัขขณะเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เช่น ภาวะเลือดจางหรือการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ที่เป็นผลจากโรคพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้การถ่ายเลือดแก่สุนัข หรือการรักษาอาการอื่นๆข้างเคียงไปพร้อมกัน

Q: เราจะป้องกันโรคพยาธิเม็ดเลือดได้อย่างไร
A:
ปัจจัยสำคัญของการป้องกันโรคพยาธิเม็ดเลือด คือการป้องกันพาหะนำโรคหรือเห็บสุนัข สำหรับการป้องกันเห็บในสุนัขสามารถทำได้ทั้งการระวังพื้นที่ที่สุนัขมีโอกาสสัมผัสกับเห็บจากสุนัขตัวอื่นๆ ได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูที่มีเห็บชุก เช่น หน้าฝน แต่หากการป้องกันดังกล่าวสามารถทำได้ยากแล้วล่ะก็ การป้องกันด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเห็บ เช่น แชมพู ยาหยดหลัง สเปรย์ แป้ง หรือยาจุ่มฆ่าเห็บ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรทำเป็นประจำ อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ต่างๆดังกล่าวมักมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตราย ดังนั้นการศึกษาคู่มือการใช้อย่างละเอียดจะป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่สุนัขมีเห็บมากมาเป็นระยะเวลานาน การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่สุนัขอยู่รวมกับการป้องกันเห็บบนตัวสุนัขรวมกันจะได้ผลดีมากยิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook