ได้เวลาฟื้นฟูความสัมพันธ์แล้วหรือไร?

ได้เวลาฟื้นฟูความสัมพันธ์แล้วหรือไร?

ได้เวลาฟื้นฟูความสัมพันธ์แล้วหรือไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แขกผู้มาเยือนและของขวัญแสดงความยินดีเริ่มซาไปแล้ว เหลือแค่คุณกับสามีและลูกแบเบาะที่ต้องเรียนรู้สร้างความผูกพันระหว่างกันและกันเพื่อให้รอดพ้นช่วงเวลาอันแสนเปราะบางนี้ไปให้ได้

ความพยายามปรับตัวให้เข้ากับลูกแบเบาะจัดเป็นบททดสอบสำคัญแม้กับความสัมพันธ์ที่คุณคิดว่าแข็งแกร่ง ก่อนนี้คุณเคยกอดก่ายกันสองคนบนโซฟาแต่ตอนนี้กลับต้องมาเถียงกันว่าใครจะเป็นคนเปลี่ยนผ้าอ้อมลูก อย่าเพิ่งหมดหวังเพราะ M&B มีเคล็ดลับทำให้ชีวิตคู่ของคุณหวนกลับมาหวานชื่นเหมือนเก่าได้ดังนี้

แข่งกันเหนื่อย
พ่อแม่คนใหม่ไม่เคยเตรียมใจรับกับความเหน็ดเหนื่อยขนาดนี้มาก่อน ซึ่งส่งผลทำให้การทำใจรับกับเรื่องอื่นๆ ยิ่งยากหนักเข้าไปอีก แจ็คกี้ สมิธ วัย 26 ปีคุณแม่ของแซม วัย 8 เดือน บอกว่า“จอห์นกับฉันเคยเถียงกันเรื่องไร้สาระว่าใครเหนื่อยกว่ากัน เพราะเราต่างเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย เลยทำให้หงุดหงิด และมีปากเสียงกันบ่อยขึ้น”

คำแนะนำในการฟื้นฟู
ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยจนน้ำตาไหลพราก คุณจะโมโหง่ายกว่าปกติเพราะความเหนื่อยทำให้ความอดทนของคนเราต่ำลง สิ่งดีที่สุดที่สามารถทำได้คือบอกตัวเองว่านี่แค่ชั่วคราวเท่านั้นเองแม้ตอนนั้นจะไม่รู้สึกว่าใช่ก็ตาม บอกสามีไปตามตรงว่าคุณรู้สึกอย่างไร อย่าหวังให้เขารู้ได้เอง

 

พูดคุยกันเรื่องเซ็กซ์
คุณเพิ่งคลอดลูกมาหยกๆ อดนอนและต้องให้นมลูก แน่นอนว่าเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องที่แม่คนไหนคิดถึงในยามนี้ แต่กับพ่ออาจไม่เป็นเช่นนั้น คาโรไลน์ วัย 33 ปีคุณแม่ของมอลลี่ วัย 18 เดือน บอกว่า“ฉันรู้สึกไม่เซ็กซี่เอาเสียเลยหลังจากคลอด ทั้งเจ็บเต้านม เจ็บแผลฝีเย็บหุ่นอวบอ้วน และแทบไม่มีเวลาแม้แต่จะสระผม เฝ้าผัดผ่อนเรื่องเซ็กซ์ไปเรื่อยๆกระทั่งตระหนักได้ว่าไม่มีเซ็กซ์มาหลายเดือนแล้ว พอหวนกลับไปคิดทบทวนก็รู้ว่าน่าจะมีส่วนทำให้ชีวิตคู่ย่ำแย่ลง”

คำแนะนำในการฟื้นฟู
ถ้าสามีของคุณอยากมีเซ็กซ์แต่คุณไม่พร้อมก็อาจต้องพูดจากัน บอกเขาว่าไม่ใช่คุณไม่ต้องการความรัก หรือการกอดกกจากเขา แต่คุณแค่ต้องการเวลาสักนิด แสดงให้เห็นว่าคุณรักเขาแต่อธิบายว่าคุณเหนื่อย ให้ความอุ่นใจกับเขาสักนิดว่าอีกไม่ช้าคุณจะดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติระหว่างนี้ให้หาเวลาอยู่ร่วมกันตามลำพังบ้าง หาคนมาช่วยเลี้ยงลูกเพื่อคุณสองคนจะได้ออกไปข้างนอกเหมือนที่เคยทำก่อนหน้าที่จะมีลูกบ้าง

 

ใช้เวลาแบบ “คู่หนุ่มสาว”
เมื่อคุณต้องสวมบทบาทพ่อแม่หลังจากเคยอยู่กันสองคนเป็นคู่นั้น ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับสามีมากกว่าที่คุณคิดมากมายนัก แจ็คกี้บอกว่า “จอห์นกับฉันเคยมีสัมพันธ์อันแข็งแกร่ง เราเจอกันในมหาวิทยาลัยและทำทุกอย่างร่วมกันมาตลอด ดังนั้นจัดเป็นเรื่องน่าช็อกที่เราต่างรู้สึกถึงความห่างเหินภายหลังจากมีลูก บางครั้งเราอยู่ด้วยกันทั้งวันโดยไม่ได้พูดคุยกันจริงๆจังๆ เลย หรือถ้าพูดก็มักจะพูดแต่เรื่องของลูก ไม่ค่อยมีเรื่องของ “เรา” อีกแล้ว”

คำแนะนำในการฟื้นฟู
หากความสัมพันธ์ของคุณเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะที่ตึงเครียดอาจถึงเวลาที่คุณต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน เพราะคุณกำลังเรียนรู้ที่จะเป็นคู่หนุ่มสาวในกรอบใหม่ของการเป็นพ่อแม่คนด้วย ดังนั้นต้องลงทุนลงแรงเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในแบบหนุ่มสาวให้พิเศษอยู่เสมอ หาเวลาให้ตัวเองสักชั่วโมงแม้แค่ไปนั่งดื่มกาแฟด้วยกันหน้าปากซอยก็ตาม

 

ต้องเฉพาะเจาะจง
เมื่อมีเวลาพูดกันน้อยลงและแต่ละคนต่างต้องรับบทบาทพ่อแม่คนใหม่ อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันมากยิ่งขึ้นชอนน่า วัย 33 ปี ซึ่งมีลูกชายวัยใกล้หนึ่งขวบ บอกว่า “ฉันต้องให้นมเจคทุก 2ชั่วโมง ขนาดจะเข้าห้องน้ำยังเป็นเรื่องยากเลย อย่าได้คิดถึงการดูแลตัวเองเลยบางวันแดนกลับจากทำงานเจอฉันยังใส่ชุดนอนอยู่เลย ฉันรู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจถึงการต้องอยู่บ้านทั้งวันกับลูกตัวแดงๆ เขาคิดว่าฉันอยู่บ้านเฉยๆ ทั้งวัน น่าสบายสุดๆ ทั้งที่ฉันรู้สึกเดียวดายและอ่อนเพลียมาก”

คำแนะนำในการฟื้นฟู
ให้พูดคุยกับสามีถึงความกังวลของคุณและสิ่งที่จะทำได้เพื่อรักษาความพิเศษในความเป็น“เรา” เอาไว้ให้เหมือนเดิม คุณต้องพูดถึงปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง อย่าพูดแค่ว่า“ฉันคงซักผ้าไม่ได้ในวันนี้” ให้อธิบายกับสามีว่าคุณลงไปข้างล่างไม่ได้เพราะต้องคอยดูลูก ให้คิดหาทางแก้ไขร่วมกันความสัมพันธ์เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทุกคน แต่การแบ่งปันความกังวลร่วมกันจัดเป็นสิ่งที่ดี ให้พูดจากันต่อไปเพราะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับลูกด้วยเช่นกัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook