กฎหมายใต้พรมออฟฟิศ - กฎหมายใต้โต๊ะทำงาน

กฎหมายใต้พรมออฟฟิศ - กฎหมายใต้โต๊ะทำงาน

กฎหมายใต้พรมออฟฟิศ - กฎหมายใต้โต๊ะทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สาวๆ สมองไม่กลวงและไม่อยากกลวงฟังทางนี้ อย่ายอมให้ใครหลอกได้ง่ายๆ สุดสัปดาห์ฉบับนี้รวมกฎหมายในที่ทำงาน บางเรื่องก็ใกล้ตัวคุณจนน่ากลัว ถ้าไม่อยากมีหมายศาลมาแปะประจานหน้าบ้านละก็อ่านด่วน !!! ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก : นับ-สิริพรรณ เกรียงวัฒนพงษ์ ทนายความ ประจำบริษัท Siam Premier Internation Law Office กับประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายกว่า 5 ปี CASE 1 : ลาออกโดยไม่บอกล่วงหน้า 30 วันผิดไหม ภณิศรทำงานอยู่บริษัทแห่งหนึ่งประมาณ 2 เดือน และตัดสินใจลาออกจากงาน เหตุผลเพราะไม่พอใจการทำงานของหัวหน้าที่ไม่โปร่งใส แต่บังเอิญเธอขอลาออกกับหัวหน้าด้วยปากเปล่า เพราะเคยเห็นเพื่อนพนักงานคนหนึ่งทำแบบนี้เช่นกัน หลังจากนั้นก็มีหมายศาลส่งมาถึงบ้าน ระบุว่าทางบริษัทจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากภณิศร 5 หมื่นบาท เพราะลาออกโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน 30 วัน จนทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย ต้องจ้างพนักงานใหม่โดยกะทันหัน SOLUTION Q: ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ภณิศรควรทำอย่างไรต่อไปดีคะ A: พี่ว่าหนูควรสู้คดีนะคะ โดยยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 15 วัน ถ้าหากได้รับหมายกับตัว หรือภายใน 30 วัน ในกรณีมีหมายศาลมาปิดไว้หน้าบ้าน Q: เป็นไปได้ไหมคะที่จะชนะคดี A: คงต้องดูข้อเท็จจริงที่สำคัญค่ะ เช่น มีสัญญาว่าจ้างหรือไม่และในสัญญาจ้างกำหนดให้แจ้งลาออกล่วงหน้าหรือไม่ นอกจากนี้น้องอยู่ระหว่างทดลองงานหรือเปล่า ถ้าอยู่ในช่วงทดลองงานแล้วขอลาออกเองต้องแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้า 1 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง และขึ้นอยู่กับการตกลงเซ็นสัญญาจ้างกันครั้งแรก ดังนั้นขอเตือนว่าควรอ่านและทำความเข้าใจอย่างละเอียดก่อนเซ็นชื่อทุกครั้ง แต่ถ้าในสัญญาจ้างไม่ได้กำหนดไว้ น้องสามารถใช่ช่องโหว่นี้ฟ้องร้องได้และมีโอกาสชนะสูงค่ะ Q: เป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัทจะสร้างหลักฐานเท็จ A: เป็นไปได้ค่ะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะเชื่อหรือไม่ น้องสามารถยกหลักฐานขึ้นมาพิสูจน์ได้ว่าตั้งแต่เข้ามาทำงานในบริษัทนี้ บริษัทไม่ได้แจ้งหรือติดประกาศเกี่ยวกับระเบียบการลาออกของพนักงานว่ามีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไรเลย Q: ถ้าออกจากงานด้วยความเต็มใจควรทำอย่างไรจะดีที่สุด A: ขอกระซิบดังๆ ว่าให้ลองทำเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้ว่าจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนดีที่สุดค่ะ หรือถ้ากฎระเบียบของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ควรทำตามนั้น แต่ในกรณีที่ทำสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา และลาออกเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ก็ไม่จำเป็นที่ต้องบอกกล่าวค่ะ CASE 2 : ทำอย่างไรถ้าอยู่ๆ ก็ถูกเลิกจ้าง บริษัทที่ณัฐศมนประชาสัมพันธ์สาวทำงานอยู่ ประสบปัญหาทางการเงินและมีนโยบายลดพนักงาน ณัฐศมนไม่อยากลาออก แต่ถูกหัวหน้าแกล้งด้วยการไม่มอบหมายงานให้ ทั้งยังพูดล่อใจว่า ถ้าเขียนใบลาออกจะจ่ายเงินชดเชยให้ 3 เดือน แต่ถ้าไม่เขียนก็จะเลิกจ้างและไม่ให้เงินชดเชยใดๆ สุดท้ายณัฐศมนตัดสินใจลาออก แต่หลังจากลองมาทบทวนดูอีกครั้งก็พบว่า ถ้ายื่นใบลาออกช้ากว่านี้อีก 15 วัน เธอก็จะทำงานครบ 3 ปี ซึ่งจะทำให้ได้เงินชดเช 6 เดือนด้วยซ้ำ SOLUTION Q: ถ้าฟ้องร้องทางบริษัทเรียกเงินชดเชย 6 เดือนจะได้หรือไม่คะ A: ถ้าบริษัทเลิกจ้างหลังจากทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ ณัฐศมนสามารถฟ้องบริษัทได้อย่างภาคภูมิค่ะ แต่ถ้าในกรณีที่ถูกหลอกให้เขียนใบลาออกก่อนครบปีที่ 3 และเขียนใบลาออกแล้ว พี่ก็ขอแสดงความเสียใจว่าไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยอัตรา 6 เดือนได้ค่ะ เพราะถือว่าตอนที่ลาออก ยังทำงานไม่ครบ 3 ปี แม้ว่าจะเหลือเวลางานอีก 15 วันก็ตาม ตามกฎหมายแล้วถ้าถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างต้องได้ค่าชดเชยตามอายุการทำงานของลูกจ้างดังนี้ * ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 3 เดือนแต่ไม่ครบ 1 ปี ให้นายจ้างจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน) * ถ้าทำงานติดต่อกัน 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ให้นายจ้างจ่ายไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน (3 เดือน) * ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้นายจ้างจ่ายไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน) * ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้นายจ้างจ่ายไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน) * ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน (10 เดือน) เหตุผล 4 ประการเมื่อถูกเลิกจ้างแล้วทำใจไว้เลยว่าคุณไม่ได้เงินชดเชยแน่ ถ้า... * ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำคดีอาญาต่อนายจ้าง * จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย * ประมาท เลินเล่อต่อหน้าที่ จนสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อนายจ้าง * ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง CASE 3 : มีคนแอบเปิดจดหมายทวงหนี้ มีสิทธิ์ฟ้องได้หรือไม่ ศศิมา ครีเอทีฟบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งเป็นหนี้บัตรเครดิตในวงเงินกว่า 5 หมื่นบาท ถูกบริษัทการเงินส่งจดหมายตามทวงหนี้ผ่านทางบริษัทที่ทำงานอยู่เสมอ บังเอิญมีคนในบริษัทมาเปิดซองเข้าจึงนำไปติฉินนินทา จนศศิมาเสื่อมเสียชื่อเสียง SOLUTION Q: กรณีนี้สามารถฟ้องร้องจากบริษัททางการเงินได้หรือไม่คะ A: ในกรณีที่บริษัทบัตรเครดิตส่งจดหมายทวงหนี้มาที่บริษัท แล้วคนอื่นรู้เนื่องจากแอบเปิดดูจดหมาย ถือว่าบริษัทการเงินไม่ผิด แต่คนที่แอบดูและเปิดเผยคือผู้กระทำผิดค่ะ ศศิมาสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคนเหล่านั้นได้ด้วยค่ะ ฝ่ายบุคคลจะช่วยเรารับมือการทวงหนี้แบบนี้ได้ไหมคะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มักจะมีผู้แอบอ้างว่าโทรมาจากสำนักงานทนายความเพื่อทวงหนี้พนักงานอยู่เสมอ แต่ทางบริษัทจะดำเนินการเฉพาะกรณีที่มีหมายศาลแจ้งมาเท่านั้นค่ะ โดยเรียกพนักงานคู่กรณีมาพูดคุยและตกลงว่าจะยินยอมให้บริษัทการเงินเหล่านั้นหักหนี้จากรอบเงินเดือนหรือไม่ CASE 4 : บริษัทไม่ทำประกันสังคมให้ทำไงดี บริษัทที่พิยะดาทำงานอยู่ปัจจุบันสัญญาว่าเมื่อผ่านช่วงทดลองงาน จะทำสวัสดิการประกันสังคมให้ตามระเบียบบริษัท แต่พิยะดาผ่านโปรฯ มาตั้งนานแล้ว บริษัทยังไม่จัดการเรื่องสวัสดิการประกันสังคมอย่างที่บอกไว้เลย SOLUTION Q: บางบริษัทไม่ทำสวัสดิการประกันสังคมให้พนักงานถือว่าผิดกฎหมายไม่คะ A: เรื่องนี้พี่ขอบอกว่าคุณน้องสบายใจได้ค่ะ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ให้บริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จัดให้มีประกันสังคมแก่พนักงานอย่างเหมาะสม ถ้านายจ้างฝ่าฝืน มีความรับผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ Q: อัตราส่วนของเงินเดือนกับการเก็บค่าประกันสังคม เขาคิดกันอย่างไรคะ A: ฟังให้ดีและตั้งสติให้มั่นนะคะคุณน้อง ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบในกองทุนฯ ในสัดส่วนที่เท่ากัน คือร้อยละ 5 ของสัดส่วนเงินเดือนของลูกจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และกฎหมายประกันสังคมยังบังคับให้ลูกจ้างทุกคนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยนายจ้างจะเป็นผู้หักเงินนั้นทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างและนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเงินสมทบส่วนของลูกจ้างเองค่ะ Q: ถ้าย้ายบริษัทบริษัทต้องทำประกันสังคมใหม่หรือไม่คะ A: เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่งอธิบายว่า เพียงแค่ยื่นเอกสารเปลี่ยนชื่อนายจ้างเท่านั้น และนายจ้างรายใหม่ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 15 วัน นับจากวันที่ลูกจ้างเริ่มทำงาน แต่สำหรับพนักงานที่ย้ายเข้าบริษัทใหม่ก็ยังสามารถใช้บัตรประกันสังคมของบริษัทเดิมได้อีก 1 เดือน หรือถ้าตกงานก็สามารถใช้บัตรประกันสังคมได้ต่อไปอีก 6 เดือนเช่นกัน ประกันสังคมสำคัญอย่างไร โดยทั่วไปแล้วการประกันสังคมเป็น วิธีการออกเงินสมทบ หมายถึง เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ร่วมกันจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อจ่ายเป็น ประโยชน์ทดแทน ให้แก่ผู้ประกันตน เมื่อเกิดเคราะห์ภัยหรือประสบความเดือดร้อนและเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด การคุ้มครองนั้นจะคุ้มครอง 7 กรณีคือ ประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน -------------------------------------------------------------------------------- จาก...คอลัมน์ Career Focus นิตยสารสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 573 ปักษ์หลัง เดือนธันวาคม 2549

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ กฎหมายใต้พรมออฟฟิศ - กฎหมายใต้โต๊ะทำงาน

กฎหมายใต้พรมออฟฟิศ - กฎหมายใต้โต๊ะทำงาน
กฎหมายใต้พรมออฟฟิศ - กฎหมายใต้โต๊ะทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook