กตัญญูและสู้ กุญแจสู่ความสำเร็จ “หนูเล็ก” ก่อนบ่าย

กตัญญูและสู้ กุญแจสู่ความสำเร็จ “หนูเล็ก” ก่อนบ่าย

กตัญญูและสู้ กุญแจสู่ความสำเร็จ “หนูเล็ก” ก่อนบ่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนชอบมองความสำเร็จที่ปลายทาง ไม่ได้มองที่ต้นทางว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ บุคคลที่ประสบความสำเร็จได้ผ่านความลำบากอะไรมาบ้าง เหมือนตลกหญิง หนูเล็ก  ภัทรวดี  ปิ่นทอง เจ้าของประโยคฮิต "ไม่เห็นจะยากเลย ก่าก๊ะ" ที่ชีวิตวันนี้สบายขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ มีรถคันงาม แต่ทั้งหมดเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย

ครอบครัวจนมาก แต่สอนให้ทำงานเป็น และเข้มแข็ง

หนูเล็กเกิดที่อำเภอกระแสสินธุ์  จังหวัดสงขลา หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากร้านค้าและความเจริญ  ตั้งแต่จำความได้ หนูเล็กเล่าว่าครอบครัวลำบากมาก อาชีพหลักที่ทำคือทำนา ส่วนที่ว่างเว้นจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว ก็รับจ้างขุดดิน ถอนหญ้า ได้เงินกลับมา 50 บาทก็ดีใจมากแล้ว  ตอนนั้นด้วยความที่ไม่สามารถเลือกงานได้ งานใช้แรงงานจึงเป็นงานหลักของครอบครัว หนูเล็กบอกว่าเห็นมือของแม่เต็มไปด้วยรอยแผลและมีเลือดกลับมาเกือบทุกครั้ง

เมื่อเห็นความลำบากของครอบครัว หนูเล็กจึงฝึกตัวเองให้เข้มแข็ง ช่วยแม่ทำงาน โดยไม่รู้สึกอายเพื่อน  เพียงแต่คิดอยู่ในใจเสมอว่า “ชีวิตเราต้องดีขึ้นกว่านี้”

 “ข้าวทุกมื้อต้องมีกะปิพอกกับไม้ แม่ไปหักไม้มาและก็พอกกะปิ เอามาย่างกินกับข้าว อันนี้มื้อหลักของเราเลย”

 

ชีวิตวัยเรียนที่ขัดสน และต้องดิ้นรน

สำหรับชีวิตวัยเรียน  หนูเล็กบอกว่า เธอเรียนที่จังหวัดสงขลา ตั้งแต่เล็กจนถึงมัธยมปลาย ชีวิตนักเรียนก็เรียบง่าย แต่ไม่ได้สบายมากนัก ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานทุกอย่าง ทั้งไถนา ปลูกข้าว นวดข้าวได้วันละ 10 บาท แต่นั่นไม่ได้ทำให้หนูเล็กรู้สึกท้อแท้หรือยอมแพ้ต่อโชคชะตากลับเป็นแรงผลักดันให้อยากช่วยเหลือพ่อแม่ในทุกสิ่ง เพื่อแบ่งเบาความเหน็ดเหนื่อยที่ครอบครัวได้รับ

นอกจากการช่วยเหลืองานครอบครัว ด้วยความที่เป็นเด็กกล้าแสดงออก ทำให้หนูเล็กมักจะได้รับเลือกให้ทำกิจกรรมของทางโรงเรียนเสมอๆ เช่น การเต้นประกอบเพลง อ่านเรียงความ รวมถึงร้องเพลงประกวดซึ่งเป็นสิ่งที่หนูเล็กรัก และสามารถทำได้ดีเพราะหนูเล็กสามารถคว้ารางวัลอันดับที่ 1 และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

“คนอื่นคุณครูให้ซื้อชุดเขาซื้อได้เลย แต่เราแม่ต้องขโมยข้าวไปขายเพื่อนำเงินมาซื้อ ขนาดจะซื้อดอกไม้ติดผมที่ใช้ในการแสดงแม่ก็ต้องขโมยข้าวพ่อไปขายอีก เพราะหากพ่อรู้คงโดนด่า ”

ครั้นเรียนจบมัธยมปลาย หนูเล็กมีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ โดยทำงานส่งเสียตัวเองทุกอย่าง ไม่เคยขอเงินจากทางบ้านเลยแม้แต่บาทเดียว ถึงแม้ตอนนั้นพี่ๆ ที่มาทำงานในกรุงเทพฯ จะส่งเงินให้พ่อแม่ใช้บ้างแล้ว หนูเล็กเลือกวิธีทำงานพาร์ทไทม์ตามร้านอาหารเพื่อนำเงินมาเป็นค่าหน่วยกิตและเช่าหอพัก

“ค่าจ้างได้เป็นรายชั่วโมง ชั่งโมงละ 25 บาท เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 100 บาท เมื่อหักลบค่าเดินทาง 30 บาท เหลือเงิน 70 บาทที่เก็บไว้กิน ส่วนเงินกู้เรียนจะแบ่งไว้เป็นค่าหอพักที่ออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่งกับเพื่อน”

สำหรับการกินอยู่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหนูเล็กบอกอย่างไม่อายว่า กว่า 2 ปีเต็มที่ท้องได้รับแต่ข้าวกับไข่เจียว จะกินดีบ้างเป็นบางมื้อเท่านั้น

ประตูสู่วงการบันเทิงเปิด ชีวิตค่อยๆ เปลี่ยน

หลักจากเรียนปี 4 โอกาสในการเข้าวงการบันเทิงก็เปิดขึ้น เมื่อหนูเล็กสมัครโครงการค้นคว้าหาดาวตลก ของรายการก่อนบ่ายคลายเครียด หนูเล็กเล่าว่าวันที่ไปแสดงความสามารถเธอมีเงินติดตัวไปแค่ 500 บาท โดยใช้เช่าชุดมโนราห์จนหมดตัว เมื่อถึงเวลาขึ้นเวที อาเป็ด  (เป็ด เชิญยิ้ม) ก็บอกให้แสดงความสามารถให้ดู ตอนนั้นหนูเล็กตอบปฏิเสธไป เนื่องจากไม่มีความสามารถพิเศษอะไรเลย รำก็ไม่เป็น

“ไหนลองรำดูหน่อยสิ หนูก็บอกหนูรำไม่ได้ อาเป็ดบอกแล้ว มึงมาหาพ่อมึงหรอ”

จากนั้นอาเป็ดก็เดินเข้าหลังเวทีเพื่อไปเข้าห้องน้ำ และระหว่างที่คณะกรรมการคนอื่นๆ สัมภาษณ์ ก็ลองให้ร้องมโนราห์ดู คราวนี้หนูเล็กร้องด้วยสำเนียงใต้ ซึ่งทันทีที่อาเป็ดได้ยินถึงกับวิ่งออกมาดู พร้อมพูดประโยค “ตัวนี้เอา ตัวนี้เอา หลังจากนั้นหนูเล็กก็ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบ 30 คนสุดท้ายอย่างไม่คาดฝัน และด้วยความสามารถที่โดดเด่น สามารถรับส่งมุกกับตลกรุ่นพี่ในรายการก่อนบ่ายคลายเครียดได้ ทำให้หนูเล็กก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรายการตลกชั้นนำระดับประเทศ

เมื่อเข้ามาทำงานจริงจังหนูเล็กเล่าว่า ปีแรกไปอัดรายการก่อนบ่ายคลายเครียด นั่งร้องไห้ทุกครั้ง เพราะมันกดดันมาก รับส่งมุกต้องได้ ผสมกับหนูเล็กมองว่าตัวเองความจำไม่ดี ถึงแม้ว่าจะพยายามมากแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น แต่เมื่อฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า การรับส่งมุกที่ดูเหมือนติดขัดก็ลื่นไหล

สำหรับที่มาของคำว่า “ก่าก๊ะ” หนูเล็กเล่าว่าตอนนั้น อาเป็ด ชอบในสำเนียงใต้ของตน เลยให้ลองรับบทเป็นลูกสาว เด๋อ ดอกสะเดา ในก่อนบ่ายฯ และสร้างการจำจดให้กับผู้ชมด้วยการให้หนูเล็กพูดลงท้ายด้วยคำว่า ก่าก๊ะ เช่น สวัสดีก่าก๊ะ  ซึ่งแรกๆ จะออกเสียงลากยาว เมื่อเล่นไปสักพักจึงตัดสั้นๆ เป็นคำว่า ก่าก๊ะ นั่นเอง

“จริงๆ แล้วหนูไม่ใช่ตลกนะ แต่แค่พ่อหนูเป็นตลก ก็คืออาเป็ด หนูยังใช้คำว่าตลกไม่ได้ ถ้าตลกจริงๆ ต้องอาเป็ด อาโน๊ต พี่นุ้ยพี่บอลอะไรพวกนี้ หนูไม่ได้เก่งขนาดนั้น ได้แค่เป็นตัวของตัวเอง บ้าบอ ต้องมีคนอื่นช่วยหนูถึงจะเล่นได้”

ในส่วนการแสดง  “บ้านนี้มีรัก”  ช่วยได้มาก  หนูเล็กบอกว่า  การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของซิทคอมเรื่องนี้ทำให้พัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด มีสมาธิในการแสดงมากขึ้น เมื่อก่อนจำบทไม่ค่อยได้ แต่บทเรื่องนี้ยาวมาก และต้องท่องแบบเป๊ะๆ ต้องทำการบ้าน ต้องอ่านต้องทวน ในนั้นมีแต่คนเก่งๆ  “ทุกวันนี้ทำได้แต่ถ้าเต็ม 10 หนูเล็กให้คะแนนตัวเองแค่ 6 ”

ครอบครัวสิ่งสำคัญที่ต้องดูแล

ตอนนี้ชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก พ่อแม่ไม่ต้องทำงานหนักแล้ว โดยหนูเล็กรับหน้าที่ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายในบ้าน และหากว่างเว้นจากการทำงานก็จะกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ทุกครั้ง นอกจากไม่ลืมพ่อแม่แล้ว หนูเล็กยังกลับไปช่วยเหลือโรงเรียนสมัยประถมโดยบริจาคคอมพิวเตอร์ เพื่อสานฝันให้รุ่นน้องต่อไป

เส้นทางชีวิตของตลกหญิงร่างเล็กผ่านความยากลำบากและความขัดสนมาอย่างสาหัส ความสำเร็จและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในวันนี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย แต่เชื่อเหลือเกินว่า หนึ่งในนั้นต้องมาจากความกตัญญูและความขยันอย่างแน่นอน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook