"โสดเข้าไส้" ก็เป็นสุขได้เหมือนกัน!

"โสดเข้าไส้" ก็เป็นสุขได้เหมือนกัน!

"โสดเข้าไส้" ก็เป็นสุขได้เหมือนกัน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลงานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ "จิตวิทยาสังคมและศาสตร์แห่งบุคลิกภาพ" เมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยข้อเท็จจริงว่า แม้สังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีซึ่งสามารถเชื่อมโยงมนุษย์เราเข้าด้วยกันและสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกันได้มากกว่าทุกยุคทุกสมัยก็ตามที ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง

นอกจากนั้น งานวิจัยดังกล่าวยังแสดงด้วยว่า ไม่ว่าขนบธรรมเนียมในสังคมหรือความคาดหวังทางวัฒนธรรมจะผลักดันไปสู่การมีชีวิตคู่ แต่ผู้ที่ใช้ชีวิตโสดบางส่วนก็มีความสุขโดยสมบูรณ์อยู่กับการใช้ชีวิตโดดเดี่ยว ไม่ได้หดหู่หรือเศร้าซึมกดดันแต่อย่างใด

งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลการศึกษาวิจัยของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ นำโดย ยูธิกา เกอร์เม นักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตวิทยา สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวนิวซีแลนด์มากกว่า 4,000 คน อายุระหว่าง 18-94 ปี โดย 1 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า "เป็นโสด" ในขณะที่ผู้ที่มีชีวิตคู่ในการสำรวจนั้นใช้ชีวิตคู่มาต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 22 ปี

ผลการสำรวจพบว่า ผู้ที่เป็นโสดและมีทัศนคติในเชิงหลีกเลี่ยงที่จะทำตามเป้าหมายตามขนบธรรมเนียมของสังคมสูง หรือคนที่มีความคิดปฏิเสธการใช้ชีวิตคู่สูงและชัดเจน เพราะไม่ต้องการเปิดปัญหาขัดแย้งหรือเผชิญกับสถานการณ์ที่สร้างความกระวนกระวาย หงุดหงิดใจ เป็นกลุ่มคนที่มีความสุขในการใช้ชีวิตมากพอๆ กับคนที่ใช้ชีวิตคู่เหมือนกัน

ผลวิจัยเชิงสังเกตการณ์ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคม เมื่อปี 2013 ที่พบว่า ใครก็ตามที่มีความกลัวอย่างแรงกล้าต่อการมีชีวิตโสด มักลงเอยด้วยการมีชีวิตคู่ที่ปราศจากความสุข สืบเนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีแนวโน้มให้ความสำคัญต่อสถานะการมีชีวิตคู่มากกว่าการให้ความสำคัญต่อคุณภาพของการใช้ชีวิตคู่

แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนที่กลัวการเป็นโสดมากๆ แต่ยังต้องใช้ชีวิตเป็นโสดอยู่ กลับมีปัญหากดดันน้อยกว่าคนที่ใช้ชีวิตคู่กับคู่แต่งงานที่ไม่มีความพึงพอใจ แต่ต้องอยู่ด้วยกันเพราะต้องการใช้ชีวิตคู่

ในงานสำรวจทั้งสองชิ้นในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีสัดส่วนของผู้ที่คาดหวังว่าสักวันหนึ่งตนเองจะรู้สึกกลัวต่อการเป็นโสด หรือรู้สึกอยู่แล้วในเวลาของการสำรวจอยู่ระหว่าง 15-20 เปอร์เซ็นต์

ผลงานวิจัยเมื่อปี 2013 ยังแสดงให้เห็นข้อมูลเชิงจิตวิทยาที่น่าสนใจด้วยว่า ทั้งกลุ่มคนที่ตัดสินใจอยู่เป็นโสด และกลุ่มคนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ ต่างเชื่อว่าหนทางที่ตนเลือกนั้นถูกต้องแล้ว และเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

นักวิชาการด้านจิตวิทยาตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า แนวความคิดที่ว่าทางที่ตนเลือกนั้นถูกต้องที่สุดที่ทุกคนควรทำตามนั้น เกิดขึ้นจากกลไกทางจิตวิทยาของคนเราที่สร้างความเชื่อดังกล่าวขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรับมือกับอะไรก็ตามที่ไม่น่าพึงพอใจที่เกิดขึ้นในรูปแบบการใช้ชีวิตของตนเองหรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เราใช้ความเชื่อดังกล่าวปลอบใจตัวเองว่า ไม่ว่าจะดีหรือร้าย สิ่งนี้ก็ดีที่สุดสำหรับเราแล้วนั่นเอง

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.istockphoto.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook