การจัดพิธีแต่งงานแบบไทยๆ

การจัดพิธีแต่งงานแบบไทยๆ

การจัดพิธีแต่งงานแบบไทยๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หมั้นหมาย หลักประกันของรักแท้ ตามประเพณีไทยแท้แต่โบราณนิยมให้คู่รักหมั้นหมายกันสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยแต่งงาน เพื่อให้ทั้งสองได้เรียนรู้ ศึกษานิสัยใจคอ และปรับตัวเข้าหากันก่อนการแต่งงาน สำหรับในปัจจุบันมักนิยมรวบวันหมั้นกับวันแต่งไว้ในวันเดียวกัน เพื่อประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และยังไม่ต้องรบกวนให้แขกเดินทางหลายครั้งอีกด้วย ในงานหมั้นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ "ขันหมากหมั้น" เปรียบได้กับหนังสือสัญญาระหว่างฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย ส่วนเหตุที่ต้องใช้ "หมาก" เป็นตัวแทนของหนังสือสัญญาก็เพราะในสมัยก่อนหมากพลูเปรียบเหมือนสิ่งแสดงถึงความเคารพและเป็นของต้อนรับแขก เพื่อสื่อถึงความยินดีและแสดงออกถึงน้ำใจไมตรีที่มีต่อกัน ขันหมากแบ่งเป็น 2 ประเภทคือขันหมากเอกและขันหมากโท "ขันหมากเอก" คือขันสำหรับใส่หมากพลู วางบนพานรอง จะเป็นเงิน ทอง นาค ทองเหลืองหรือ ถมเงิน แล้วแต่ฐานะของฝ่ายชาย แต่ต้องจัดขันเป็นคู่ๆ ในขันหมากหมั้นประกอบด้วยหมาก 8 ผล ใบพลู 4 เรียง เรียงละกี่ใบก็แล้วแต่ ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยใบเงิน ใบทอง ใบนาค ใบรัก ใบสวาด มีถุงแพรและถุงผ้าโปร่งบรรจุเมล็ดถั่ว งา ข้าวเปลือก สื่อความหมายถึงความงอกงาม อุดมสมบูรณ์ จัดเรียงอยู่ในขัน ตกแต่งของทุกอย่างให้สวยงาม แล้วใช้ใบตองสานเป็นกรวยสูงครอบ จากนั้นห่อด้วยผ้าโปร่งสีทอง สีเงิน ผ้าแก้วหรือผ้าลูกไม้ ตามฐานะของฝ่ายชาย เพื่อกันไม่ให้ของในขันหล่นเสียหายเวลายกขบวนขันหมากไปบ้านฝ่ายหญิง สำหรับของหมั้นที่ฝ่ายชายยกไปหมั้นฝ่ายหญิงนั้นประกอบด้วย 2 อย่างคือ "สินสอด" หรือที่โบราณเรียกอีกอย่างว่าค่าน้ำนม ซึ่งเป็นเงินหรือสิ่งของที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นผู้กำหนด นิยมเรียกให้สมฐานะของฝ่ายหญิง ยิ่งเรียกมากยิ่งเป็นหน้าเป็นตาว่าพ่อแม่ฝ่ายหญิงเลี้ยงลูกดี ฝ่ายชายจึงยอมเสียสินสอดจำนวนมากเพื่อให้ได้ลูกสาวบ้านนี้มาเป็นคู่ครอง ซึ่งในปัจจุบันเงินสินสอดส่วนใหญ่พ่อแม่ฝ่ายหญิงมักจะมอบเป็นเงินก้นถุงเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ ของหมั้นที่ขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือทองคำ ด้วยคุณค่าและราคาที่แสนแพงของทองคำ ทำให้เป็นที่นิยมใช้ในการหมั้นหมายมาตั้งแต่โบราณ จนเรียกกันติดปากมาถึงทุกวันนี้ว่า "ทองหมั้น" แต่ในปัจจุบันอาจมีเรื่องประดับเพชรเพิ่มขึ้นมาก็ได้ "สินสอดทองหมั้น" จะถูกวางในพานต่างหากแยกกับพานขันหมาก จะมีกี่พานก็ได้แล้วแต่ฐานะของฝ่ายชาย ปัจจุบันนิยมมีพานแหวนหมั้นเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งพาน พานทั้งสองนิยมใช้ใบเงิน ใบทอง ใบนาก หรือใช้ดอกรักตกแต่งก็ได้ เพื่อสื่อถึงความรักที่ฝ่ายชายมีให้กับฝ่ายหญิง และถ้ามีการแต่งงานวันเดียวกับวันหมั้นต้องเพิ่มพานผ้าไหว้บรรพบุรุษและผ้าไหว้พ่อแม่ในขบวนขันหมากเอกด้วย

ชุดสวยของเจ้าสาว พิธีหมั้นและแต่งงานแบบไทย ขาดไม่ได้ที่ต้องสวมชุดไทยเพื่อเข้าพิธี ชุดไทยที่นิยมใช้ในงานแต่งงานมี 8 ชุดคือ (เรียงจากซ้ายไปขวา) 1. ชุดไทยเรือนต้น เสื้อเข้ารูปแขนสามส่วนคอกลมไม่มีขอบ ผ่าหน้าติดกระดุม ใส่คู่กับผ้าซิ่นยาวจรดข้อเท้าป้ายหน้า นิยมตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมสีพื้น หรือไม่ก็ผ้าสีพื้นแบบมีเชิง เหมาะกับงานลำลอง 2. ชุดไทยจิตรลดา เสื้อคอกลมขอบตั้ง แขนทรงกระบอกยาวจรดข้อมือ ผ่าอก นิยมตัดเย็บด้วยผ้าไหมสีพื้นหรือผ้ายกดอก ส่วนผ้าซิ่นนิยมใช้ผ้าไหมสีพื้นแบบมีเชิงป้ายหน้ายาวจรดข้อเท้า เหมาะกับงานพิธีที่ค่อนข้างเป็นทางการตอนกลางวัน 3. ชุดไทยอมรินทร์ แบบของชุดเหมือนกับชุดไทยจิตรลดา ต่างกันแค่การเลือกใช้ผ้าที่หรูหรากว่า นิยมใช้ผ้าไหมยกเงินหรือยกทอง จึงเหมาะกับงานพิธีตอนค่ำ 4. ชุดไทยบรมพิมาน ตัวเสื้อเข้ารูปแขนทรงกระบอกยาวจรดข้อมือ คอกลมขอบตั้ง ผ่าหลัง นิยมตัดตัวเสื้อติดกับผ้านุ่งที่จับจีบหน้านางมีชายพก ยาวจรดข้อเท้า คาดเข็มขัดทอง เหมาะกับงานพิธีทางการในตอนค่ำ 5. ชุดไทยศิวาลัย แบบของชุดคล้ายกับชุดไทยบรมพิมาน แต่ต้องใส่คู่กับสไบ ซิ่นตัดเย็บด้วยผ้าไหมยกดิ้นทองยาวคลุมข้อเท้า จับจีบหน้านางมีชายพก คาดเข็มขัดทอง เหมาะกับงานพิธีเต็มยศ 6. ชุดไทยดุสิต ตัวเสื้อเข้ารูป คอปาด ไม่มีแขน ตัวเสื้อปักประดับลายทั่วตัวด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง มุกและลูกปัด ส่วนซิ่นตัดเย็บด้วยผ้าไหมหรือผ้ายกทอง จับจีบด้านหน้ามีชายพก คาดเข็มขัดทอง 7. ชุดไทยจักรี ท่อนบนห่มสไบเฉียง สไบทิ้งไปด้านหลังยาวพอสมควร ส่วนซิ่นเป็นผ้ายก จีบหน้านางมีชายพก คาดเข็มขัดทอง 8. ชุดไทยจักรพรรดิ ลักษณะของชุดคล้ายกับชุดไทยจักรี แต่หรูหราและเหมาะกับงานพิธีที่เป็นทางการมากกว่า ผ้าที่เลือกตัดเย็บส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าไหมหรือผ้ายกทองแบบมีเชิง ส่วนสไบนิยมใช้ผ้าไหมปักดิ้นทองห่มทับสไบผ้าแพรอีกชั้นหนึ่ง

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ การจัดพิธีแต่งงานแบบไทยๆ

การจัดพิธีแต่งงานแบบไทยๆ
การจัดพิธีแต่งงานแบบไทยๆ
การจัดพิธีแต่งงานแบบไทยๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook