My Little Home บ้านทุ่งมินิมอลของครอบครัวเรา

My Little Home บ้านทุ่งมินิมอลของครอบครัวเรา

My Little Home บ้านทุ่งมินิมอลของครอบครัวเรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนเลยว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบและ (แอบ) ติดตามบ้านทุ่งมินิมอลหลังนี้อยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะมุมนั่งเล่นของบ้านที่มองออกไปเห็นวิวทุ่งนาสีเขียวๆ จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเรามีบ้านอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้บ้างคงจะดีไม่น้อย ครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับคุณอาทิตย์ เหล่าชัย เกี่ยวกับรายละเอียดการออกแบบตั้งแต่แรกเริ่มจนบ้านเสร็จเรียบร้อยไว้เป็นไอเดียสำหรับใครที่ฝันอยากจะมีบ้านหลังเล็กๆ ที่เรียบง่ายและอบอุ่นแบบนี้บ้าง

ขยับขยายให้มีพื้นที่ใช้งานสะดวกมากขึ้น
เดิมเราเช่าอาคารพาณิชย์อยู่อาศัยและเป็นหน้าร้านธุรกิจของครอบครัวด้วย พอลูกสาว 2 คนเริ่มโตเลยอยากขยับขยายเพื่อให้สะดวกสบายมากขึ้น อย่างเวลาคุณครูมาเยี่ยมบ้านจะได้มีพื้นที่รองรับด้วย ผมมองว่าร้านก็คือร้าน มีความเป็นตึกเป็นอาคารไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย บรรยากาศก็จะคนละแบบกัน ทั้งยังต้องแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับทำหน้าร้านอีก จึงคุยกันกับภรรยาว่าอยากมีบ้านของตัวเองสักหลังหนึ่ง พอดีเรามีที่นาซึ่งคุณตาคุณยายแบ่งให้อยู่ติดกับหมู่บ้านประมาณ 1 แปลง ก็เริ่มถมดินและปรับพื้นที่ให้เรียบร้อย

ลงตัวที่บ้านหน้าจั่ว หลังเล็กแต่มากฟังก์ชัน
ก่อนอื่นเราต้องดูงบประมาณที่มีอยู่ประมาณ 5-6 แสนบาทว่าจะสร้างบ้านได้ประมาณไหน โดยช่างที่จะมาทำบ้านให้คำปรึกษาว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณตารางเมตรละ 10,000 บาท ผมจึงคิดว่าจะทำบ้านขนาด 70 ตารางเมตร ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป ส่วนแบบหลักๆ ในใจเราชอบบ้านหน้าจั่ว พอนึกถึงคำว่าบ้านสมัยเราเป็นเด็กจะชอบวาดรูปบ้านที่มีจั่วออกมาเวลาต้องวาดส่งคุณครู และที่ผมศึกษาหาข้อมูลมาบ้านหน้าจั่วอยู่แล้วจะไม่ค่อยร้อน มีฝ้าสูง แบบโครงสร้างและหลังคาไม่ซับซ้อน จะทำให้การทำงานของช่างง่ายขึ้นด้วย เพราะเราไม่ได้ใช้ช่างรับเหมาแต่เป็นช่างในหมู่บ้าน จึงต้องออกแบบบ้านให้ง่ายที่สุด ประหยัดค่าใช้จ่าย และป้องกันการเกิดปัญหาต่างๆ ที่คนทำบ้านส่วนใหญ่ต้องเจอ จึงลงตัวที่บ้านหน้าจั่วแบบธรรมด้าธรรมดา

เราออกแบบเป็นบ้านชั้นเดียว พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านพยายามเน้นความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัว สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านแล้วมองเห็นกัน พูดคุยกันได้ สมมุติแม่ทำอาหารอยู่ในครัว ลูกๆ นั่งเล่นหรือทำการบ้านอยู่ในห้องนอน แม่ทำกับข้าวเสร็จเรียกมากินข้าวก็ได้ยินกันหมดเลย อยากให้รู้สึกใกล้ชิดกันมากที่สุด

โดยปกติทั่วไปของแบบบ้านหน้าจั่วชั้นเดียวเวลาเข้าบ้านมาจะเห็นประตูห้องนอนของเราได้เลย ส่วนตัวผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น แต่อยากให้บ้านที่มีสมาชิกผู้หญิงและลูกสาวมีความเป็นส่วนตัวนิดหนึ่ง จึงแบ่งสเปซในบ้านออกเป็น 2 โซน ส่วนแรกจะเป็นพื้นที่รับแขกและห้องครัว ออกแบบเปิดโล่งถึงกัน กว้าง 3.5 เมตร ลึก 11 เมตร เวลามีแขกมาเยี่ยมเขาก็นั่งเล่น ส่วนเราทำกับข้าวอยู่ก็พูดคุยกันได้ มีโถงทางเดินตรงกลางกว้างประมาณ 1 เมตร พอเพียงสำหรับการเดินเข้า-ออก

ถัดเข้าไปจะเป็นห้องนอน 2 ห้องขนาด 3.5 × 4 เมตร มีห้องแต่งตัวเก็บเสื้อผ้าและห้องน้ำอยู่ด้านหลัง สามารถใช้งานได้คล่องตัว อย่างเวลาพ่อแม่มีเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน ลูกๆ ก็ยังสามารถทำกิจกรรม นอนเล่น อาบน้ำ แต่งตัว อยู่ในโซนไพรเวตของเขาได้ ส่วนแขกก็อยู่อีกโซนไม่ต้องเกรงใจกัน สะดวกสบายทั้งแขกและสมาชิกครอบครัว ทั้งยังมีความปลอดภัย ถึงบ้านเราจะหลังเล็กแต่ฟังก์ชันต้องตอบโจทย์

ดีไซน์ต้องมาพร้อมประโยชน์ใช้สอย              
มู้ดแอนด์โทนการตกแต่งเราอยากให้บ้านมีโทนสีสบายตาแฝงไปด้วยความอบอุ่น จึงเลือกใช้โทนสีขาว เทา น้ำตาล โดยเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ในบ้านจะเป็นไม้จริงทั้งหมด มีความแข็งแรงทนทาน ไม่ต้องกังวลเรื่องการโก่งตัว บวมน้ำ ความชื้น หรือเชื้อรา โดยผมจะเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้สนเป็นหลักด้วยโทนสีลงตัวและราคาสมเหตุสมผล ส่วนใหญ่จะเป็นผลงาน DIY โดยส่วนตัวก่อนทำบ้านเราก็ไม่ได้ชอบเท่าไร และช่างงานไม้ค่อนข้างหายาก จึงลองทำเองโดยเริ่มจากงานขัดไม้ ทำสี เติมส่วนนั้นส่วนนี้จนเราชอบทำไปโดยปริยาย และได้ใช้เวลาว่างในการทำของแต่งบ้านเองด้วย

คอนเซ็ปต์อีกอย่างหนึ่งของบ้านทุ่งคือ เราจะนำของใช้ในบ้านมาเป็นของตกแต่งด้วย ของในบ้านทุกชิ้นจึงใช้งานใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะพื้นที่เรามีจำกัด ถ้าเลือกของที่มีดีไซน์สวยอย่างเดียวแต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้จะทำให้บ้านของเราแน่นเกินไปโดยใช่เหตุ นอกจากนี้คือเราจะตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น งานฝ้าหลุม งานคิ้วบัวของขอบประตูและหน้าต่างอาจจะช่วยให้บ้านสวยขึ้นแต่ผมมองว่าไม่จำเป็นเท่าไร เน้นความสวยงามแบบเรียบง่ายๆ

ใส่ใจในรายละเอียดเพื่อให้บ้านอยู่สบาย
โครงสร้างบ้านจะเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ หาง่าย และช่างมีความถนัด สามารถทำงานได้ง่าย เน้นเรื่องมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างบ้าน โครงสร้างหลังคา งานเหล็ก อิฐ ปูน ถึงบ้านจะขนาดเล็กแต่เราต้องการความแข็งแรง หรือส่วนอื่นๆ เราก็พยายามเลือกสิ่งที่ดีและลงตัวที่สุด อาทิ เลือกใช้พื้นกระเบื้องยาง SPC แทนกระเบื้องแกรนิตโต ให้ความรู้สึกใกล้เคียงไม้ธรรมชาติ ผิวสัมผัสนุ่ม เราสามารถนั่งเล่นนอนเล่นได้เลยแบบที่ไม่ต้องปูเสื่อหรือพรม อีกอย่างหนึ่งคือบ้านเรายกพื้นสูงขึ้นมาในระดับหนึ่งจึงไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมเท่าไร บรรยากาศในบ้านก็จะอบอุ่นๆ ในส่วนของงานกรอบประตู หน้าต่าง ผมเลือกใช้เป็นวัสดุ UPVC ช่วยเรื่องการเก็บเสียงได้ดีและไม่นำความร้อน ในวันที่ฝนตกหนักพอเข้ามาในบ้านแล้วปิดประตูหน้าต่าง เสียงจะค่อนข้างเงียบ นอนได้สบายๆ

นอกจากนี้จะเป็นเรื่องของช่องแสงและทิศทางลม มีหลายคนถามว่าบ้านแบบนี้อยู่แล้วร้อนไหม ผมค่อนข้างวางแผนในการออกแบบ ด้านข้างจะมีประตูรับลมด้วย ส่วนประตูด้านหน้าและด้านหลังจะกั้นด้วยผนังขนาดประมาณเมตรกว่าๆ เป็นเรื่องของฮวงจุ้ยและช่วยให้ลมที่เข้ามาวนในบ้านก่อนจะไปออกประตูหลัง ช่วยให้อากาศในบ้านถ่ายเทได้ดี ตลอดจนดีเทลเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเลือกวัสดุหรือสีทาบ้านกันความร้อน เพียงเท่านี้บ้านก็จะไม่ร้อนและน่าอยู่ได้

สำหรับใครที่อยากพูดคุยหรือดูไอเดียออกแบบตกแต่งของบ้านทุ่งมินิมอลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ทาง Facebook : Baantoongminimal

 

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ ของ My Little Home บ้านทุ่งมินิมอลของครอบครัวเรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook