เรื่องควรรู้เกี่ยวกับรางน้ำฝน การติดตั้งและการดูแลรักษา

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับรางน้ำฝน การติดตั้งและการดูแลรักษา

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับรางน้ำฝน การติดตั้งและการดูแลรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รางน้ำฝนอีกหนึ่งส่วนสำคัญหลักของบ้านทุกหลังที่จะทำให้บ้านของคุณ สามารถรับมือกับน้ำฝนที่ตกลงมาที่บ้านคุณได้ดีมากขึ้น ซึ่งรางน้ำฝนหรือรางน้ำที่ไว้รองรับฝนนี้มีหลายประเภท ลองมาดูวิธีเลือกอย่างไรให้เหมาะกับบ้านคุณ และวิธีการดูแลรักษาเพื่อให้พร้อมรับมือในช่วงหน้าฝนหรือช่วงฝนตกหนักได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของรางน้ำฝน

รางน้ำฝนเป็นรางน้ำที่ติดอยู่รอบชายคา หน้าที่หลัก ๆ ก็คือ รองรับน้ำฝนจากหลังคาให้ไหลไปยังท่อระบายน้ำ หรือจุดที่แต่ละบ้านกำหนด หรือหากเป็นสมัยก่อนก็จะมีการกักเก็บไว้ในตุ่มเพื่อรับประทาน หรือใช้สอยเพื่อประหยัดน้ำประปา รางน้ำฝนจึงมีส่วนช่วยให้น้ำฝนไหลรวมจากรางน้ำและไหลลงสู่ด้านล่างอย่างเป็นระเบียบนั่นเอง การมีรางน้ำฝนยังมีประโยชน์กับบ้านอีกหลายด้านดังนี้

1. ป้องกันสวน หรือต้นไม้ในบ้านจากน้ำฝน

หากภายในบริเวณบ้านมีการปลูกสนามหญ้า หรือต้นไม้สวยงาม หากไม่มีรางน้ำฝนช่วยป้องกันน้ำที่ไหลจากหลังคา จะทำให้น้ำไหลลงสู่พื้นหญ้าและสวนต้นไม้โดยตรง อาจทำให้ต้นไม้เสียหายหรือตายได้ และยังทำให้ดินกลายเป็นหลุมน้ำขังอีกด้วย

2. ป้องกันผนังและเฟอร์นิเจอร์นอกบ้านเปรอะเปื้อน

หากน้ำฝนไหลลงมาจากหลังคาโดยตรง จะกระแทกโดนพื้นทำให้เศษดินกระเด็นมาโดนผนัง หรือเฟอร์นิเจอร์นอกบ้านเปรอะเปื้อนได้ หากมีรางน้ำฝนก็จะแก้ปัญหาจุดนี้ได้

3. ป้องกันปัญหากับเพื่อนบ้าน

น้ำฝนจากหลังคาอาจกระเด็นข้ามไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ หากไม่มีรางน้ำฝน ทำให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้านภายหลังนั่นเอง แต่การติดตั้งรางน้ำฝนก็ต้องระวังไม่ให้ล้ำเขตไปยังพื้นที่เพื่อนบ้าน หรือจุดที่ปล่อยน้ำด้านล่างจะไปรบกวนเพื่อนบ้านด้วย

รางน้ำฝนมีกี่ประเภท

รางน้ำฝนมีหลากหลายประเภท ส่วนมากแล้วจะแบ่งประเภทตามวัสดุที่ใช้งาน แต่ละประเภทจะมีรูปแบบที่ต่างกันออกไป และมีราคาที่ต่างกันด้วย

รางน้ำฝนโลหะ

1. รางน้ำฝนอะลูมิเนียม

เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่มักนำมาทำรางน้ำฝน เนื่องจากไม่เกิดสนิมง่าย มีความคงทนต่อการกัดกร่อนสูง น้ำหนักเบา มีความสวยงามและมีหลายสีให้เลือกมากกว่ารางน้ำฝนประเภทอื่น ไม่มีปัญหาเรื่องรั่วซึม เนื่องจากขึ้นรูปแบบไร้รอยต่อได้ แต่ราคาสูง

2. รางน้ำฝนสังกะสี

เป็นวัสดุที่นิยมนำมาทำรางน้ำมากในอดีต เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย และมีราคาถูก แต่อายุการใช้งานค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเป็นสนิมได้ง่าย ความสวยงามน้อยกว่าแบบอื่น และยังมีเสียงดังเมื่อน้ำฝนมาตกกระทบ

3. รางน้ำฝนสแตนเลส

รางน้ำประเภทนี้จะมีเนื้อวัสดุเป็นสีธรรมชาติ แม้ว่าราคาจะสูงกว่ารางน้ำฝนสังกะสี แต่ดูสวยงามมากกว่า และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า (รางน้ำฝนสแตนเลส มีหลายเกรด ควรเลือกใช้เกรด 304 เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดสนิม)

4. รางน้ำฝนเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์

รางน้ำฝนที่ผลิตสำเร็จรูปเป็นชิ้นจากโรงงาน จึงได้มาตรฐานทั้งเรื่องขนาดและรูปทรง มีความแข็งแรง ทนการกัดกร่อน มีหลายสีให้เลือกใช้

รางน้ำฝนวัสดุสังเคราะห์

1. รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส

เป็นอีกหนึ่งวัสดุใช้ทำรางน้ำที่นิยมใช้งานตามบ้าน เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความคงทนสูง ไม่เกิดสนิม มีความสวยงามเป็นเนื้อเดียว แทบไม่มีรอยต่อ มีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบสั่งผลิตตามความยาวที่ต้องการ อายุการใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี แต่แน่นอนว่ามีราคาสูง มีหลายสีให้เลือก แต่การติดตั้งต้องใช้ช่างเฉพาะทาง

2. รางน้ำฝนไวนิล

รางน้ำประเภทนี้จะสวยงาม ผิวเรียบมัน มีหลายสีให้เลือกเข้ากับบ้านได้ง่าย ไม่เกิดสนิม เนื้อวัสดุคล้ายกับพลาสติกแต่มีความเหนียว คงทนมากกว่าพลาสติก ติดตั้งง่ายกว่ารางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส อายุการใช้งานนานกว่า 10 ปี แต่จะต้องพิจารณาเกรดของไวนิลให้ดี เพราะว่าตามตลาดจะมีให้เลือกมากมายหลายเกรด ความคงทนจะต่างกันออกไป

เลือกประเภทรางน้ำฝนให้เหมาะกับบ้าน

หากต้องการเลือกรางน้ำฝนเพื่อนำมาใช้งานที่บ้าน จะต้องทำการพิจารณาหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้เหมาะสมกับบ้าน และไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน รวมถึงสมาชิกให้มากที่สุด โดยมีหลักการพิจารณาง่าย ๆ ดังนี้

1. งบประมาณเหมาะสม

สิ่งแรกที่หลายคนใช้พิจารณาเป็นอันดับแรก ซึ่งรวมถึงค่ารางน้ำฝน และค่าติดตั้ง ลองสำรวจราคาจากร้านที่รับติดตั้งรางน้ำ ทั้งค่าวัสดุและค่าติดตั้งดูว่าแบบไหนถึงเหมาะกับงบประมาณมากที่สุด

2. คุ้มค่า

หากเลือกข้อนี้ ควรพิจารณาจากวัสดุของรางน้ำฝนเป็นอันดับแรก โดยปัจจุบันมีให้เลือกหลายประเภท และหลายขนาด หากมองหาความคุ้มค่าก็ควรเลือกรางน้ำอะลูมิเนียม ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่ารางน้ำฝนประเภทอื่น

3. ขนาดพื้นที่หลังคา

หากหลังคามีขนาดใหญ่ ควรเลือกขนาดรางน้ำให้เหมาะสม โดยปัจจุบันขนาดรางน้ำมีให้เลือกทั้งขนาด 4, 5 และ 6 นิ้ว หากหลังคาขนาดใหญ่ควรเลือกขนาด 5 นิ้วขึ้นไป และหากหลังคามีความยาวมาก ควรเพิ่มรูระบายน้ำหลาย ๆ จุด เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ทัน

4. การติดตั้ง

โดยปกติรางน้ำฝนจะติดตั้งกับเชิงชายหรือไม้ปีกนกโดยการใช้ตะปูหรือน็อต หรือรางน้ำบางประเภท เช่น รางน้ำฝนสังกะสีจะใช้การแขวนกับจันทัน การติดตั้งรางน้ำหากเป็นการติดตั้งบริเวณหลังคาโรงจอดรถ หรือหลังคา หากอุปกรณ์ครบก็สามารถติดตั้งเองได้ แต่หากเป็นบ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม 2 ชั้น ควรใช้บริการช่างจะดีกว่า เพราะบางวัสดุ เช่น รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาสต้องใช้ช่างเฉพาะทางมาติดตั้ง

5. ความสวยงาม

หากต้องการเลือกรางน้ำฝนที่เข้ากับสีสันของหลังคาหรือตัวบ้าน ควรเลือกรางน้ำฝนที่มีสีให้เลือกหลายสี เช่น รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส หรือรางน้ำฝนอะลูมิเนียม แทนรางน้ำฝนสังกะสี

วิธีการบำรุงรักษารางน้ำฝนให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา

สำหรับวิธีการบำรุงรักษารางน้ำฝนให้ยังคงสภาพการใช้งานที่ดีอยู่นั้นทำได้ไม่ยาก มีวิธีการดังนี้

1. หมั่นตรวจสอบการทำงานของรางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีฝนตก หรืออาจทดลองฉีดน้ำบนหลังคา แล้วสังเกตว่ามีการรั่วหรือซึมที่ส่วนไหนของรางน้ำฝนหรือไม่ เพื่อดำเนินซ่อมแซมก่อนช่วงที่ฝนตกหนัก สังเกตตะขอแขวนรางว่ายังคงมั่นอยู่หรือไม่ หากน้ำฝนปริมาณมากจะได้ไม่มีปัญหารางน้ำหล่นมาพังเสียหาย

2. ทำความสะอาดรางน้ำฝนเป็นประจำ ปัญหาหนึ่งที่มักพบกับรางน้ำฝนคือ หลังจากห่างหายจากหน้าฝนมาสักระยะเจ้าของบ้าน หรือผู้อยู่อาศัยมักหลงลืมการทำความสะอาดรางน้ำ ทำให้มีเศษใบไม้หรือเศษต่าง ๆ ตกค้างอยู่ในรางน้ำ ทำให้เกิดการอุดตัน หรือหากเศษต่าง ๆ มีน้ำหนักมากเกินไปอาจทำให้รางน้ำพังเสียหายได้

ค่าใช้จ่ายเมื่อต้องการติดตั้งรางน้ำฝนแต่ละประเภท

สำหรับรางน้ำฝนแต่ละแบบนั้นมีราคาที่ต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันออกไปตามราคาค่าติดตั้ง หรือเกรดวัสดุ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นดังนี้ 

- รางน้ำฝนไวนิล ความยาวมากกว่า 20 เมตร ราคาประมาณ 750 บาทต่อเมตร

- รางน้ำฝนสแตนเลส ขนาด 6 นิ้ว ความยาวมากกว่า 20 เมตร ราคาประมาณ 1,000 บาทต่อเมตร

- รางน้ำฝนอลูมิเนียม ราคาประมาณ 1,000 บาทต่อเมตร

- รางน้ำฝนแบบสังกะสี ราคาประมาณ 300 บาทต่อเมตร

- รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส ราคาประมาณ 800 บาทต่อเมตร

วิธีการติดตั้งรางน้ำฝนที่ถูกต้อง

วิธีการติดตั้งรางน้ำฝนแต่ละประเภทจะมีการติดตั้งที่ต่างกันออกไป โดยวิธีการติดตั้งรางน้ำฝนเบื้องต้น มีดังนี้

1. สำรวจพื้นที่ที่จะติดตั้งรางน้ำฝน เช็กความแข็งแรงของบริเวณเชิงชาย หรือปีกนกที่จะติดรางน้ำ หากมีการรื้อรางน้ำเก่าออกก่อน ระวังอย่าให้กระทบกับโครงสร้างหลังคา

2. วัดระดับน้ำระหว่างหัวท้ายของรางน้ำ เพื่อวัดความลาดเอียงของรางน้ำ จากนั้นทำการตีเต๊าหรือเชือกตีแนว เพื่อสร้างแนวเส้นที่จะติดตั้งรางน้ำ

3. ติดตั้งตะขอแขวนราง ตามระยะที่เหมาะสมกับประเภทรางน้ำ ซึ่งแต่ละประเภทมีระยที่เหมาะสมไม่เท่ากัน โดยทั่วไปจะเว้นระยะห่างประมาณ 60-80 เซนติเมตร หากเป็นรางน้ำฝนไวนิลจะต้องใช้ซิลิโคนในการช่วยเชื่อมระหว่างรอยต่อ

4. ติดตั้งรางน้ำฝนกับผนังหรือเสาด้วยตัวยึด

5. เช็กการทำงานของรางน้ำฝนด้วยการทดลองฉีดน้ำบนหลังคา หากน้ำไหลเป็นปกติก็เป็นอันเรียบร้อย

รางน้ำฝนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านของคุณมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และป้องกันปัญหาต่าง ๆ นานาที่อาจเกิดขึ้นกับเม็ดฝนเม็ดเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายของต้นไม้ สนามหญ้า หรือปัญหากับเพื่อนบ้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook