ทิปส์ต่อเติมครัวไทยหลังบ้าน

ทิปส์ต่อเติมครัวไทยหลังบ้าน

ทิปส์ต่อเติมครัวไทยหลังบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การทำอาหารนั้นจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างมาก และจำเป็นมากที่สุดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ แต่ห้องครัวของโครงการจัดสรรที่มีอยู่ในปัจจุบันมักจะคับแคบและออกแบบให้เป็นครัวแบบฝรั่งที่เปิดโล่งไปถึงส่วนรับประทานอาหาร ซึ่งไม่เหมาะกับอาหารที่มีกลิ่นแรงอย่างอาหารไทยเพราะกลิ่นจะกระจายไปทั่วบ้านอย่างแน่นอน การต่อเติมครัวด้านนอกบ้าน หรือต่อเติมครัวไทยหลังบ้านเพื่อทำอาหารจึงเป็นทางออกที่นิยมกันมาก

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นการต่อเติม เจ้าของบ้านหลายคนอาจจะรู้สึกกังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะการต่อเติมนั้นถ้าหากเกิดความไม่เหมาะสมด้านโครงสร้างอาจเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง ทั้งการทรุดตัว รอยร้าว รอยแยกระหว่างส่วนต่อเติมใหม่และตัวบ้าน ซึ่งอาจจะอันตรายแก่ตัวบ้าน ชีวิต และทรัพย์สิน โดยเฉพาะการต่อเติมทาวน์เฮาส์และตึกแถวที่สามารถกระทบกระเทือนไปถึงเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมโครงสร้างเดียวกันกับเราด้วย

กฎหมายจึงกำหนดให้การต่อเติมบ้านตั้งแต่ 5 ตารางเมตรขึ้นไป การขยายหลังคา เพิ่มลดจำนวนเสา คาน บันไดและผนัง ต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ

ทั้งนี้ การต่อเติมครัวไทยหลังบ้านมีสิ่งที่ต้องคำนึงหลายด้าน ดังนี้

1. ต่อเติมครัวไทยหลังบ้านต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้าง

โครงสร้างเป็นส่วนที่ต้องใส่ใจมากที่สุดเป็นอันดับแรก เพราะจะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักของส่วนต่อเติมทั้งหมด ส่วนที่ต่อเติมนั้นแม้ว่าจะติดต่อกันกับตัวบ้านแต่ต้องแยกโครงสร้างออกจากกันอย่างเด็ดขาด ห้ามใช้โครงสร้างร่วมกันเพราะจะทำให้โครงสร้างเดิมรับน้ำหนักมากเกินไป การทำโครงสร้างสามารถใช้การลงเสาเข็มแบบสั้น หล่อฐานเป็นตอม่อ แล้วเทคานคอดิน

2. เทพื้นครัวไทยหลังบ้านต้องระวังเรื่องพื้นทรุด

ตามด้วยการเทคอนกรีตหยาบปรับระดับ แล้วจึงผูกเหล็กพื้นและตั้งเสารับโครงสร้างหลังคา ถ้าหากใต้พื้นมีบ่อบำบัดหรือฝางานระบบให้เว้นตำแหน่งเอาไว้ทำฝาเปิดเพื่อความสะดวกในการดูแลในอนาคต สิ่งสำคัญในขั้นตอนการเทพื้นคือการเว้นระยะระหว่างพื้นใหม่และพื้นบ้านเดิม ด้วยการใช้โฟมหนา 1 เซนติเมตรกั้นไว้เพื่อป้องกันการแตกร้าว ทรุดเองของพื้นจากการทรุดตัวในอัตราที่แตกต่างกันของโครงสร้างเก่าและโครงสร้างใหม่

3. ผนังครัวไทยหลังบ้านต้องไม่เป็นภาระกับโครงสร้าง

เมื่อพื้นเสร็จแล้วก็เริ่มก่อผนังทั้ง 3 ด้านจะทำเป็นผนังก่ออิฐหรืออิฐมวลเบาก็ได้ แต่ถ้าต้องการลดน้ำหนักให้โครงสร้างควรใช้ผนังเบา ใช้ได้ทั้งยิปซัมบอร์ดและไม้ฝาเทียมซึ่งให้ความสวยงามและเรียบร้อยเช่นกัน และอาจจะเว้นช่องว่างสำหรับการถ่ายเทอากาศ ด้วยไม้ระแนง หรือบานเกล็ด

4. หลังคาครัวไทยหลังบ้านอย่าลืมรางน้ำฝน

แล้วก็มาถึงส่วนสุดท้ายด้านบนสุดของครัวไทยซึ่งก็คือหลังคา วางโครงเหล็กหลังคาลงบนเสา ส่วนที่ติดกับผนังบ้านเดิมทำเป็นปีกนกคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันน้ำฝนรั่ว แล้วจึงติดตั้งกระเบื้องหลังคา จะใช้กระเบื้องลอน หรือกระเบื้องเซรามิกก็ได้ ซึ่งกันความร้อนได้ดี

แต่หากกลัวว่าบ้านจะทึบเกินไปก็สามารถเลือกใส่กระเบื้องใสเป็นบางส่วน หรือจะใช้วัสดุที่โปร่งแสงและมีน้ำหนักเบาแทนทั้งหมดก็ได้ เช่น ดีไลท์ อะครีลิก หรือโพลีคาร์บอเนต เป็นต้น ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมติดตั้งรางน้ำฝนด้วยเพื่อไม่ให้น้ำจากหลังคาของเราไหลไปตกในหลังบ้านของเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook