ความเป็นมาของ “ที่วางตะเกียบ”

ความเป็นมาของ “ที่วางตะเกียบ”

ความเป็นมาของ “ที่วางตะเกียบ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าวัฒนธรรมการทานอาหารของคนญี่ปุ่นนั้นจะต้องใช้ตะเกียบเป็นหลัก แต่สิ่งที่คู่กันอย่าง “ที่วางตะเกียบ” ก็สำคัญไม่แพ้กัน วันนี้เราจะพาทุกคนไปเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของที่วางตะเกียบกันค่ะ

ในปัจจุบัน มีไอเทมน่ารัก ๆ ที่ช่วยให้โต๊ะอาหารดูมีสีสันและมีชีวิตชีวาวางขายอยู่ตามท้องตลาดมากมายหลายชนิด ที่วางตะเกียบก็เช่นกัน ที่วางตะเกียบถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมการกินของคนญี่ปุ่นมาอย่างช้านาน แต่ความจริงแล้ว ที่วางตะเกียบนั้นเพิ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายก็ตอนที่เพิ่งเข้ายุคโชวะ (ปี 1962) นี่เอง !

ค่อนข้างน่าแปลกใจนะคะ เพราะหลาย ๆ คนคงจะคิดว่าที่วางตะเกียบจะต้องมีใช้กันมานานมาก ๆ แล้วแน่ ๆ แต่ว่าพอลองดูในภาพพิมพ์ Ukiyo-e (ภาพพิมพ์สมัยโบราณ) กลับไม่พบที่วางตะเกียบปรากฏในรูปเลย แล้วสมัยก่อนเขาวางตะเกียบไว้ยังไงกัน ? เราลองไปติดตามประวัติศาสตร์ของที่วางตะเกียบกันค่ะ !

ย้อนเวลากลับไปในอดีต ต้นแบบหรือรูปแบบดั้งเดิมของที่วางตะเกียบก็คือสิ่งที่เรียกว่า 耳土器 (Mimikawarake) หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปร่างคล้ายหู

ในสมัยโบราณ ที่วางตะเกียบจะใช้ในการเซ่นไหว้อาหารต่อเทพเจ้า จะสังเกตได้ว่ามุมเล็ก ๆ 2 มุมที่พับขึ้นมานั้นราวกับจะห่อหุ้มตะเกียบเอาไว้ และด้วยรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายหู มันจึงมีชื่อเรียกว่า 耳土器 (Mimikawarake) ส่วนใหญ่ค้นพบว่ายังไม่มีการเคลือบสีใด ๆ ทั้งสิ้น

อีกทั้ง ในสมัยเฮอัน ยังมีสิ่งที่เรียกว่า 馬頭盤 (Batouban) เป็นถาดวางตะเกียบแบบทางการขององค์จักรพรรดิที่จะใช้แค่ในงานพิธีการของราชสำนัก, พิธีกรรม หรือการเลี้ยงรับรองแขกเท่านั้น ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นว่ามีรูปร่างคล้ายหัวของม้า จึงเรียกด้วยชื่อนั้นนั่นเองค่ะ

แต่ดั้งแต่เดิมในสมัยโบราณ การทานอาหารของคนญี่ปุ่นไม่ได้มีการนำจานอาหารมากมายมาไว้บนโต๊ะแบบในปัจจุบัน แต่จะทานในถาดของแต่ละคนเอง และสามารถวางตะเกียบที่ขอบถาดได้เลย

หากใครที่ชอบดูละครย้อนยุค อาจจะเคยเห็นโต๊ะอาหารในร้านโซบะจากในละครมาบ้าง แต่โต๊ะอาหารหรือโต๊ะนั่งพื้นแบบนั้น เพิ่งจะมีในญี่ปุ่นหลังจากสมัยเมจิ (ปี 1868-1912) ฉะนั้น แต่เดิมที่ยังไม่มีโต๊ะ ผู้คนก็จะนั่งบนเก้าอี้พับได้หรือม้านั่ง แล้วก็วางถาดทานกันทั้งอย่างนั้นเลยค่ะ หรือในห้องนั่งเล่นก็เช่นเดียวกัน ผู้คนก็จะวางถาดอาหารบนเสื่อทาทามิแล้วก็ทานอาหารในถาด

แต่พอเริ่มมีโต๊ะอาหาร พื้นที่บนโต๊ะก็มีจำกัด การจะทานในถาดเหมือนเดิมก็คงจะดูเกะกะเกินไป จึงต้องเอาถาดออกแล้ววางแค่จานอาหารแทน แต่พอไม่มีถาด ก็ทำให้ไม่มีที่จะวางตะเกียบ และจากที่ในอดีตจะใช้ที่วางตะเกียบแค่เวลาเซ่นไหว้เทพเจ้า ก็เริ่มมีการนำมาใช้บนโต๊ะอาหารกันอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ความจำเป็นของที่วางตะเกียบขนาดเล็กอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน มันเกิดจากยุคสมัยที่เริ่มมีการใช้โต๊ะอาหารหรือโต๊ะนั่งพื้นนั่นเองค่ะ

ผู้เขียน : AsmarCat

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook