ตายแล้ว หนี้บ้าน ไปไหน

ตายแล้ว หนี้บ้าน ไปไหน

ตายแล้ว หนี้บ้าน ไปไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กู้เงินซื้อบ้านในฝัน เพราะอยากลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว แต่เคยสงสัยไหมว่าหากจู่ ๆ วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ผ่อนชำระไปได้สักระยะ มีเหตุให้ผู้กู้ซื้อบ้านต้องเสียชีวิต แล้วภาระการผ่อนชำระที่เหลือ หรือหนี้บ้าน จะไปตกอยู่ที่ใครกันแน่

ชีวิตต้องเตรียมพร้อม และเตรียมแผนสำรองไว้เสมอ อย่างการซื้อบ้านสักหลัง หรือคอนโดมิเนียมสักห้อง นอกจากจะคำนวณภาระการผ่อนต่อเดือนให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระแล้ว ผู้กู้ยังควรศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็น ตายแล้ว "หนี้บ้าน" ไปไหน เตรียมเอาไว้ เพื่อคนที่อยู่จะได้สบายใจ คนที่จากไปก็ไม่ทิ้งภาระหนี้สินไว้ให้ลูกหลาน

ผ่อนบ้าน หนี้สินระยะยาวที่ต้องวางแผน

ก่อนที่จะพาไปหาคำตอบ ตายแล้ว "หนี้บ้าน" ไปไหน มาทำความเข้าใจก่อนว่า การผ่อนชำระบ้านนั้น จัดอยู่ในประเภทหนี้สินระยะยาว ผ่อนชำระตั้งแต่ 5-30 ปี บางสถาบันการเงินให้ผ่อนได้สูงถึง 40 ปี เรียกได้ว่าผ่อนได้สบาย ๆ กันได้ยาว ๆ แบบไม่ต้องกดดันตัวเอง ช่วงไหนที่มีกำลังเงินมากจะผ่อนหรือโปะเป็นก้อนก็ได้ไม่มีปัญหา

แต่ทว่ายังผ่อนไม่หมด กลับมีเหตุให้ผู้กู้ซื้อบ้านต้องมาเสียชีวิตไปก่อน แล้วแบบนี้จะต้องทำอย่างไรกับบ้านที่ซื้อและยังผ่อนชำระไม่หมดนี้ดี

ตายแล้ว หนี้บ้าน ไม่ตายตาม

ถ้าจะว่ากันตามกฎหมายแล้ว อสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียม ถือเป็นทรัพย์สินของผู้ซื้อตามกฎหมาย แต่เมื่อผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าของเสียชีวิต ทรัพย์สินดังกล่าวจะตกทอดกลายเป็นมรดกไปสู่ทายาทโดยธรรมตามลำดับ แต่ถ้าหากผู้ซื้อทำพินัยกรรมไว้ ทายาทตามพินัยกรรมก็จะถือเป็นคนแรกที่ได้รับผลประโยชน์ในครั้งนี้

ไม่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดสู่ทายาทโดยธรรม หรือทายาทตามพินัยกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ซื้อที่ถึงแม้จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ซึ่งนั่นอาจหมายถึงหนี้สินที่ยังไม่หมดภาระ ที่ตกทอดสู่ผู้รับมรดกให้ต้องรับผิดชอบภาระนั้นต่อไปด้วยเช่นกัน

ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน ตัดภาระลูกหลาน

ถ้าในกรณีที่ผู้กู้ซื้อบ้านทำประกันชีวิตคุ้มครองสินทรัพย์กับทางสถาบันการเงินไว้ตั้งแต่ตอนเซ็นสัญญากู้ยืม บ้านก็จะได้รับการคุ้มครองด้วยประกันสินเชื่อ ซึ่งประกันประเภทนี้จะชดใช้หนี้สินที่เหลือให้ทั้งหมด หากผู้กู้ซื้อบ้านเสียชีวิตก่อนชำระหนี้หมด ซึ่งนั่นก็หมายความว่าทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ตามพินัยกรรม จะได้รับบ้านหลังนั้นไปเลย โดยไม่ต้องมานั่งชำระหนี้ต่อจากผู้กู้ซื้อบ้านที่เสียชีวิต

แม้จะเป็นประโยชน์และเป็นการเตรียมความพร้อม ไม่ให้หนี้บ้านต้องตกเป็นภาระของลูกหลาน แต่ก็ใช่ว่าผู้กู้ซื้อบ้านทุกรายจะเห็นความสำคัญ อีกทั้งส่วนใหญ่มักปฏิเสธการทำประกันคุ้มครองสินทรัพย์ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้กู้ระยะสั้นและผู้กู้ที่อายุยังน้อย เนื่องจากต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงขึ้น

ดังนั้นเมื่อผู้กู้ซื้อบ้านมีเหตุให้ต้องเสียชีวิต ไม่เพียงแต่บ้านหรืออสังหาริมทรัพย์จะตกเป็นของทายาทเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมหนี้สินที่เหลือด้วย ตามผลของกฎหมาย

2 แนวทางแบ่งรับ-แบ่งสู้หนี้บ้านตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เมื่อผู้กู้ซื้อบ้านเสียชีวิตลง ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้ จะสามารถดำเนินการได้ตาม 2 แนวทาง ดังนี้

1. กรณีทายาทปฏิเสธไม่รับทรัพย์สิน

สถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้ จะทำการยึดทรัพย์สิน เพื่อขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้บ้านต่อไป ซึ่งหากจำนวนเงินมากพอชำระหนี้ได้หมด ทายาทก็ไม่ต้องรับภาระใด ๆ แต่ในการขายทอดตลาดมักได้ราคาที่ต่ำกว่ายอดหนี้ จึงทำให้ทายาทยังคงต้องรับภาระหนี้ที่เหลือต่อไป

2. กรณีทายาทต้องการรับทรัพย์สิน

อสังหาริมทรัพย์จะได้รับการประเมินสภาพหนี้ใหม่โดยสถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้ ซึ่งจะประเมินจากหนี้ที่เหลือกับความสามารถในการผ่อนชำระของทายาท หากทายาทมีความสามารถผ่อนต่อได้หรือกู้ผ่าน ก็รับหน้าที่ผ่อนต่อไปจนหมด

แต่ถ้าหากทายาทไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่อหรือกู้ไม่ผ่าน นั่นหมายความว่าแนวทางการชำระหนี้จะเหมือนกับกรณีทายาทปฏิเสธไม่รับทรัพย์สิน ในข้อที่ 1. สถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้ จะทำการยึดทรัพย์สิน เพื่อขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้บ้านที่เหลือต่อไป

การกู้ซื้อบ้านนอกจากจะศึกษาทำเล ราคา รวมถึงระยะเวลาการผ่อนชำระแล้ว ผู้กู้ซื้อบ้านยังต้องเตรียมวางแผนในกรณีเสียชีวิต บ้านที่คิดซื้อไว้เพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิตและครอบครัวที่ยังผ่อนชำระไม่หมดนี้ ภาระหนี้สินที่เหลือจะไปตกอยู่ที่ใคร เพื่อให้มั่นใจว่าตายแล้ว (หนี้บ้าน) จะไม่สร้างภาระให้ครอบครัวหรือลูกหลานในภายหลัง

การทำประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่อบ้าน ก็สามารถจะคุ้มครองในกรณีเกิดความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดได้ไม่มากก็น้อย นอกจากนั้นหากลูกหลานหรือทายาทโตพอก็ควรจะให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ เพื่อประเมินตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าจะรับภาระหนี้ต่อไหวหรือไม่ หรือขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ต่อไปในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook