วิธีรับมือรถเสียฉุกเฉินในช่วงเทศกาลสงกรานต์

วิธีรับมือรถเสียฉุกเฉินในช่วงเทศกาลสงกรานต์

วิธีรับมือรถเสียฉุกเฉินในช่วงเทศกาลสงกรานต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเทศกาลแบบนี้ สาวๆหลายคนคงเดินทางกันอย่างคลาคล่ำ ฉะนั้นเพื่อความไม่ประมาท เราจึงนำวิธีรับมือรถเสียฉุกเฉินในช่วงเทศกาลสงกรานต์มาฝากกันค่ะ

  1. ยางระเบิด อย่าตกใจแล้วเหยียบเบรกหรือหักพวงมาลัยอย่างกะทันหันเด็ดขาด เพราะจะทำให้รถยิ่งเสียการควบคุม รถอาจหมุนหรือพลิกคว่ำได้ แต่ให้รีบเปิดไฟฉุกเฉิน แล้วลดความเร็ว ค่อยๆบังคับพวงมาลัยเพื่อประคองรถเข้าข้างทาง ซึ่งการลดความเร็วนั้นสามารถทำได้โดยถอนคันเร่งออก และค่อยๆแตะเบรกถี่ๆ เบาๆ จากนั้นเมื่อความเร็วรถลดลงถึงระดับที่ผู้ขับขี่สามารถควบคุมได้แล้วนั้น ให้เปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำลงและหยุดรถเข้าข้างทาง

  2. เบรกแตก สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ลดความเร็วรถทันที โดยสำหรับเกียร์ธรรมดาให้เหยียบคลัทช์ เพื่อลดตำแหน่งเกียร์ และสำหรับเกียร์อัตโนมัติให้เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จาก D มาเป็น 3 ไว้ แต่ห้ามเปลี่ยนเกียร์เป็น L เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์พังได้ นอกจากนั้นเบรคมือก็เป็นอีกตัวช่วยสำคัญของคุณในการชะลอความเร็วที่ล้อหลังของรถ แต่ต้องค่อยๆดึงเบรคมือขึ้นจนสุด อย่าดึงอย่างกะทันหัน

  3. หม้อน้ำรั่ว ในเบื้องต้นเราสามารถสังเกตอาการผิดปกตินี้ได้จากหน้าปัดเข็มวัดอุณหภูมิที่เข็มจะตีขึ้นไปสูงกว่าปรกติเมื่อเครื่องยนต์ร้อนจัด ซึ่งหลังจากนำรถเข้าจอดข้างทางแล้ว ให้เปิดกระโปรงหน้า เพื่อระบายความร้อน จากนั้นรอสักพักจนเครื่องยนต์เย็นลงแล้ว จึงค่อยสวมถุงมือหรือใช้ผ้าในการเปิดฝาหม้อน้ำ แล้วค่อยๆเติมน้ำทีละน้อยๆอย่างช้าๆ เพื่อให้รถวิ่งต่อได้ก่อนที่จะนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการอีกที แต่สิ่งสำคัญคือห้ามเปิดหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ยังร้อนจัดอยู่ เพราะแรงดันของน้ำในหม้อน้ำที่น้ำยังร้อนอยู่นั้น อาจพุ่งขึ้นมาโดนหน้า หรือเป็นอันตรายต่อการถูกน้ำร้อนลวกได้

  4. แอร์ไม่เย็น ถ้ารู้สึกว่าแอร์ไม่เย็น ให้ลองปรับอุณหภูมิแอร์และพัดลมให้เย็นที่สุด ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วลองเอามืออังที่แผงคอนเดนเซอร์หน้ารถดู หากมีลมร้อนออกมาแสดงว่า แผงคอนเดนเซอร์อาจสกปรกต้องทำความสะอาด หรือไม่อย่างงั้นให้ลองเช็คตาแมวของน้ำยาแอร์ดูว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ อาจถึงเวลาที่คุณต้องเติมน้ำยาแอร์ใหม่แล้วก็เป็นได้ แต่หากพบว่ามีเสียงดังระหว่างไฟแอร์เริ่มทำงาน แปลว่าคอมเพรสเซอร์กำลังจะเสียและถึงเวลาที่คุณต้องนำรถเข้าศูนย์บริการซ่อมแล้ว

  5. แบตเตอรี่หมด ปัญหานี้คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากรถคันอื่นที่สัญจรผ่านไปมาได้ โดยดับเครื่องยนต์ของรถทั้งสองคัน และปิดระบบไฟของรถให้หมด รวมถึงอุปกรณ์ทุกอย่างที่ต่อเข้ากับช่องจ่ายไฟ เช่น มือถือ ไอพอด และไอแพด เป็นต้น จำไว้ว่าถ้าแบตเตอรี่อยู่ในสภาพที่แตกหรือไม่สมบูรณ์ ห้ามพ่วงสายเด็ดขาดมิฉะนั้นแบตเตอรี่อาจระเบิดใส่คุณได้ จากนั้นจึงทำการพ่วงแบตเตอรี่ของคันที่หมดเข้ากับคันที่มีสภาพดีได้ ซึ่งรถส่วนใหญ่เครื่องจะติดได้ต่อเมื่อแบตเตอรี่มีพลังงานที่ 12 ถึง 13.6 โวลต์ อาการรถเสียข้างต้นเหล่านี้อาจเกิดกับคุณขณะขับขี่ได้โดยที่คุณไม่ทันตั้งตัว ผู้ขับขี่จึงจำเป็นต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อคุณสามารถแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้แล้ว ติดต่อตำรวจทางหลวงที่เบอร์ 1193 สำหรับผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด สามารถติดต่อกับ ฟอร์ด โรดไซด์ แอสซิสแตนซ์ โทรฟรี 1800-222-000 (โทรศัพท์พื้นฐาน) หรือ 1401-222-000 (มือถือนาทีละ 3 บาททั่วประเทศ) ที่สามารถแก้ไขและให้ความช่วยเหลือในทุกสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ช่วงสงกรานต์ยังเป็นช่วงที่ตำรวจจะเข้มงวดในการตรวจจับเป็นพิเศษ กฏจราจรที่ควรระวัง เช่น

  1. การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ขณะที่รถวิ่งอยู่บนท้องถนนทั้งคนขับหรือคนนั่ง รวมถึงรถที่จอดบนถนน และทางเท้าด้วย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  2. รถบรรทุก ปิคอัพ ตอนเดียว และกระบะแค๊ป (น้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กก.) ซึ่งจดทะเบียนเป็นรถยนต์ ประเภทกระบะบรรทุกส่วนบุคคล สามารถบรรทุกน้ำและคนที่ท้ายกระบะได้ แต่ต้องมีน้ำหนักบรรทุกรวมตัวรถไม่เกิน 8,500 กก. ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 500 บาท

  3. หากเป็นรถกระบะสองตอน จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จะต้องบรรทุกแล้วไม่เกิน 7 คน และต้องมีน้ำหนักบรรทุกรวมตัวรถไม่เกิน 8,500 กก. หากบรรทุกผู้โดยสารที่ท้ายกระบะจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (มาตรา 20 , 148 )

ยังไงก็ขออวยพรให้ทุกท่านเดินทางช่วงสงกรานต์กันอย่างปลอดภัยนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook