รับมือหลังคารั่ว

รับมือหลังคารั่ว

รับมือหลังคารั่ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตอนนี้บ้านเราเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัวแล้ว โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเป็นช่วงที่มักเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในรอบปีทีเดียว บ้านเองก็มี “หลังคา” ที่ใช้คุ้มแดดคุ้มฝนไม่ต่างอะไรกับร่มที่เราใช้บังแดดบังฝน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับหลังคาในฤดูนี้ก็คือการรั่ว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง และความเสียหายบางประการที่เกิดขึ้นกับหลังคา “สถาปัตยกรรม” ฉบับนี้จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาหาวิธีป้องกันและแก้ไขการ “รั่ว” ของหลังคาในวันที่ฝนกระหน่ำเช่นนี้ไปพร้อมกัน

ติดตั้งผิด…ชีวิตเปลี่ยน มาตรฐานที่จะทำให้หลังคาสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็คือการติดตั้งที่ถูกต้องตามรูปแบบของหลังคาแต่ละประเภท การติดตั้งอย่างผิดวิธีไม่เพียงทำให้ประสิทธิภาพของวัสดุมุงหลังคาด้อยลง แต่ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึงอีกด้วย



สาเหตุ : ความลาดชันไม่พอหลังคานั้นแบ่งออกตามความลาดชันได้ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 

1. ความลาดชันน้อยตั้งแต่ 1:30 หรือ 2 องศา เช่น หลังคาโลหะรีดลอนต่างๆ สามารถทำความลาดชันได้ตั้งแต่ 1:30 หรือ 2 องศาขึ้นไป

ข้อควรระวัง ตามสเป็กของเมทัลชีตจะต้องใช้แผ่นเมทัลชีตที่เป็นชิ้นเดียวในการติดตั้ง ไม่ต่อแผ่น จึงจะได้ความลาดชันที่ถูกต้อง

2. ความลาดชันปานกลางตั้งแต่ 15 - 40 องศา เช่น หลังคาลอนคู่ต่างๆ กระเบื้องหลังคาคอนกรีต และกระเบื้องหลังคาเซรามิก เป็นหลังคาที่หาง่ายราคาประหยัด และช่างทั่วไปมีความชำนาญอยู่แล้ว
กระเบื้องหลังคาเหล็กรีดลอน กระเบื้องหลังคาเหล็กรีดลอน

3. ความลาดชันสูง  ตั้งแต่ 25 - 45 องศา เช่น หลังคากระเบื้องว่าว หลังคากระเบื้องดินเผาโบราณ หลังคาไม้แป้นเกล็ด กระเบื้องหลังคาแผ่นเรียบต่างๆ หลังคาประเภทนี้จำเป็นต้องติดตั้งในความลาดชันสูง ซึ่งแต่เดิมการออกแบบโครงหลังคาสำหรับผืนหลังคาประเภทนี้ก็มีความลาดชันมากอยู่แล้ว ข้อดีคือสามารถปรับเปลี่ยนองศาให้ดูฟรีฟอร์มได้ เนื่องจากขนาดต่อหน่วยที่เล็กกว่าหลังคาประเภทอื่นๆ

ทางแก้ : ปรับโครงสร้างรับหลังคาให้เหมาะสมกับวัสดุมุง ควรตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการติดตั้งไม่เช่นนั้นการแก้ไขจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก อาจต้องรื้อและติดตั้งใหม่ จึงควรรู้เรื่องความลาดชันก่อนตรวจรับงานหลังคา หรืออาจเปลี่ยนวัสดุมุงให้เหมาะกับความลาดชันของหลังคา แต่วิธีนี้ไม่แนะนำ เพราะโครงสร้างที่รับหลังคาไม่ได้ออกแบบมาให้เหมาะกับวัสดุมุงที่เปลี่ยนใหม่ จึงอาจเกิดปัญหาขึ้นได้


สาเหตุ : ระยะซ้อนเหลื่อมไม่พอ เมื่อพิจารณาความลาดชันถูกต้องแล้ว ลำดับต่อมาคือระยะเหลื่อมซ้อนของวัสดุมุง หากการเหลื่อมซ้อนของวัสดุมุงน้อยเกินไป โอกาสที่น้ำฝนจะไหลย้อนกลับเข้าไปใต้วัสดุมุงก็จะมีมากตามไปด้วย โดยทั่วไปแล้วการเหลื่อมซ้อนของแผ่นกระเบื้องหลังคาที่ใช้กันมีดังนี้

ความลาดชันของหลังคา 10 - 20 องศา  ระยะทับซ้อน 20 เซนติเมตร
ความลาดชันของหลังคา 21 - 40 องศา  ระยะทับซ้อน 15 เซนติเมตร
ความลาดชันของหลังคา 41 - 60 องศา  ระยะทับซ้อน 10 เซนติเมตร
ความลาดชันของหลังคา 60 องศาขึ้นไป  ระยะทับซ้อน 5 เซนติเมตร

หากระยะซ้อนเหลื่อมผิดไปจากนี้ก็มีโอกาสที่น้ำฝนจะไหลย้อนเข้าไปใต้วัสดุมุงหลังคาได้ ซึ่งโดยทั่วไป ระยะซ้อนเหลื่อมจะกำหนดตามระยะห่างระหว่างแปกับความยาวของวัสดุมุง เช่น เลือกใช้กระเบื้องลอนคู่ขนาดความยาว 120 เซนติเมตร องศาความลาดชัน 10 - 20 องศา จึงต้องการระยะซ้อนเหลื่อมที่ 20 เซนติเมตร และออกแบบระยะห่างของแปที่ 100 เซนติเมตร โดยระยะซ้อนเหลื่อมนั้นสามารถมากกว่าค่าที่กำหนดได้ แต่ห้ามน้อยกว่าเป็นอันขาด    

ทางแก้ : ปรับระยะแปให้กระเบื้องซ้อนทับกันได้ถูกต้อง หากเป็นไปได้ก็ให้ปรับระยะแปให้เหมาะสมกับวัสดุมุง เพื่อให้ระยะซ้อนเหลื่อมลงตัวพอดีกับสเป็กของวัสดุมุง ปัญหาก็จะหมดไป

สาเหตุ : อุปกรณ์ยึดแผ่นหลังคาที่ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน

วิธีการติดตั้งชิ้นส่วนของหลังคาเป็นอีกสาเหตุที่อาจทำให้เกิดการรั่วได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง หรือการเสื่อมสภาพของตัววัสดุที่มีหน้าที่ป้องกันน้ำเข้าตามรอยยึด 


ใช้วัสดุรองตะปูเกลียวผิดประเภท ช่างบางคนใช้วัสดุรองตะปูเกลียวยึดหลังคาแบบมักง่าย เช่น ไม่ใส่ยางรอง หรือใช้สังกะสีตัดใส่แล้วหยอดซิลิโคน วัสดุเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้ทนทานอย่างที่ควรจะเป็น และจะเกิดปัญหาขึ้นเร็วกว่าที่ควร

ทางแก้ : ตรวจสอบการติดตั้งให้ดีก่อนหากว่าติดตั้งไปแล้วพบปัญหา ให้เปลี่ยนการยึดวัสดุมุงหลังคาใหม่ให้ถูกต้อง

ยางรองตะปูเกลียวเสื่อม นานวันเข้าวัสดุประเภทยางก็จะแตกกรอบเป็นธรรมดา หากต้องการทราบว่ายางรองตะปูนั้นเสื่อมหรือยัง ให้ลองสังเกตตอนที่ปีนขึ้นไปทำความสะอาดก็ได้
ทางแก้ : เปลี่ยนยางรองใหม่

ยึดแน่นเกินไปจนกระเบื้องแตก กระเบื้องแตกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่การที่ช่างขันตะปูเกลียวจนกระเบื้องเกิดรอยร้าวแล้วทำเนียนไม่ยอมเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ ก็เป็นอีกกรณีที่พบบ่อย ทางที่ดีลองสำรวจดูเสียหน่อย เพราะรอยร้าวเล็กๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว
ทางแก้ : ตรวจสอบกระเบื้องว่าไม่มีชิ้นใดแตกร้าวตามแนวยึดของตะปู หากพบว่ามี การเปลี่ยนกระเบื้องใหม่เป็นการป้องกันปัญหาได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งนั้นอาจพบปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ยึดจับอื่นๆ ได้อีกทางที่ดีควรศึกษาสเป็กของแต่ละวัสดุให้ละเอียด เพื่อจะได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่ถูกต้องไร้ปัญหากวนใจ

สาเหตุ : ตะเข็บรอยต่อต่าง ๆ ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน

บริเวณที่ใช้วัสดุต่างชนิดกันและต้องมาสัมผัสกันนั้น จำเป็นต้องมีตะเข็บ (Seam) ที่จะทำให้วัสดุสองชนิดสามารถต่อกันได้อย่างแนบสนิท ไม่เกิดช่องว่างที่ก่อความเสียหายได้ โดยเฉพาะวัสดุหลังคาที่จะเกิดปัญหาน้ำรั่วได้ง่าย รอยต่อ
ตะเข็บที่เลือกใช้วัสดุและวิธีการที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แนวรอยต่อระหว่างกระเบื้องหลังคาชนกับผนัง
แนวรอยต่อส่วนนี้จะต้องมีวัสดุครอบปิดไว้ แต่บ่อยครั้งที่มักเห็นช่างใช้ปูนปั้นเป็นตัวยึดปิดรอยต่อ เมื่อวัสดุเกิดการขยายตัวอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ปูนที่พอกไว้ก็เกิดการรั่วซึมได้ ซึ่งไม่ต่างกันกับการทำปีก ค.ส.ล.คลุมรอยต่อหากเกิดปัญหารั่วซึม ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานหรือการเสื่อมสภาพของเนื้อคอนกรีตก็ตาม การแก้ไขก็จะมีแต่การทุบทำใหม่เท่านั้น รวมทั้งการจัดการปัญหากับกระเบื้องหลังคาที่อยู่ใต้ปีกนั้นก็จะทำได้ลำบาก 

ทางแก้ : วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การใช้แผ่นโลหะพับยึดติดไปกับผนัง (Flashing) หรือใช้ระบบครอบผนังสำหรับวัสดุมุงหลังคาที่ออกแบบไว้โดยเฉพาะ

จุดเสี่ยง ตะเข้สัน 

ตะเข้สันคือบริเวณครอบต่างๆ ของหลังคา ในบริเวณที่หลังคาวิ่งมาชนกัน บ่อยครั้งที่ช่างใช้ปูนพอกสันหลังคาและยึดครอบสันหลังคาด้วยปูนปั้น เมื่อวัสดุสองชนิดมีการหดตัวที่ไม่เท่ากันจึงอาจเกิดรอยรั่วขึ้นได้
ทางแก้ : ใช้ระบบครอบสันหลังคาแบบแห้ง ซึ่งเป็นแถบยางมะตอยสามารถติดแนบลงไปกับสันหลังคาและติดตั้งครอบทับได้เนียนกว่า ไม่เกิดปัญหาในระยะยาว หรือหากเกิดปัญหาก็ยังสามารถรื้อแก้ไขได้สะดวกกว่า

จุดเสี่ยง ตะเข้ราง

มักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่กำหนดขนาดรางน้ำตะเข้แคบและตื้นเกินไป น้ำฝนจึงระบายไม่ทัน จริงๆ แล้วตะเข้รางเปรียบเสมือนรางน้ำฝนจุดหนึ่งของหลังคาเลยทีเดียว

ทางแก้ : ควรกำหนดขนาดรางน้ำตะเข้ให้เทียบเท่ากับขนาดรางน้ำจึงจะสามารถระบายน้ำได้ทัน ไม่ล้นจนเกิดการรั่วซึมได้

ความเสียหายบางประการที่เกิดขึ้นกับหลังคา

หากการติดตั้งทุกอย่างถูกต้องดีแล้วแต่ยังเกิดการรั่วอยู่ แปลว่าหลังคาของเราจะต้องเกิดปัญหาหรือความเสียหายที่จุดใดจุดหนึ่งเป็นแน่

แตก : วัสดุมุงหลังคาได้รับความเสียหายจนเกิดรอยรั่ว อาจมีเศษกิ่งไม้หรือสิ่งแปลกปลอมหล่นใส่หลังคาจนกระทั่งวัสดุมุงหลังคาแตกร้าว

ทางแก้ : หมั่นตรวจเช็กผืนหลังคาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้งไม่จำเป็นต้องรอจนถึงฤดูฝนจึงจะเริ่มดูแล 

ร้าว : วัสดุมุงหลังคาได้รับความเสียหายที่สังเกตได้ยาก จนน้ำสามารถซึมผ่านและรั่วเข้าสู่ภายในหลังคาได้ บ่อยครั้งที่หลังคาเกิดรอยรั่วเล็กๆ ขึ้น แต่ส่งปัญหาใหญ่หลวง ส่วนใหญ่เกิดจากรอยต่อที่เสื่อมสภาพและการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น การใช้ปูนพอกกันน้ำตามรอยต่อแทนที่จะใช้วัสดุกันซึมที่มีความยืดหยุ่นและทนทาน

ทางแก้ : เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นในการปิดรอยต่อต่างๆ 

เสียรูป : วัสดุมุงหลังคาผิดรูปเป็นผลให้เกิดการรั่ว ปัญหาอันเนื่องมาจากโครงสร้างที่รับหลังคาไว้ เช่น แปแอ่น บ้านทรุดมักทำให้โครงสร้างที่รับหลังคาอยู่เกิดอาการโย้ผิดรูปไปจากที่ควรจะเป็น
จนเกิดการรั่วซึมขึ้น 

ทางแก้ : สามารถตรวจสอบได้โดยสังเกตจากช่องที่แสงเล็ดลอดเข้ามาในตอนกลางวันจากด้านใต้ของผืนหลังคา แต่หากไม่สามารถตรวจสอบจากภายในได้ ก็ต้องปีนขึ้นไปดูแนวขอบกระเบื้องทีละแถวเพื่อหาจุดที่แนวกระเบื้องเผยอ จากนั้นจึงใช้ค้ำยันดันแปที่แอ่นให้กลับสู่ที่เดิม และเสริมโครงสร้างด้วย

แนวทางป้องกันหลังคารั่ว ก่อนจบคอลัมน์นี้ เรามีเคล็ดลับดีๆ ที่ช่วยป้องกันหลังคารั่วมาฝากกัน ซึ่งเป็นกิจวัตรง่ายๆ ที่คุณก็ทำเองได้ 

ตัดแต่งกิ่งไม้ก่อนหน้าฝน ไม้ใหญ่เป็นอันตรายต่อหลังคาอย่างแน่นอนเมื่อพายุฝนมาเยือน เพราะกิ่งไม้อาจหักร่วงลงมาทำอันตรายหลังคาได้ ทางที่ดีก่อนถึงฤดูฝนควรตัดแต่งกิ่งไม้เสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งต้นไม้ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูนี้อีกด้วย

ระวังต่อ แตน นก และผลไม้ สัตว์ทั้งหลายที่ชอบมาทำรังตามชายคาบ้านและไม้ผลต่างๆ ที่สุกงอม เป็นสัญญาณอันตรายที่อาจก่อปัญหาให้ระบบระบายน้ำฝนบนหลังคาเกิดการอุดตันได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้ก็ขอให้จัดการเสียแต่เนิ่นๆจะดีที่สุด

เก็บกวาดดูแลหลังคาบ่อย ๆ ขอเพียงเดือนละครั้งที่คุณจะปีนบันไดขึ้นไปดูบนหลังคาและรางน้ำ พร้อมกวาดเอาสิ่งสกปรกต่างๆ ลงมา ทั้งยังถือโอกาสตรวจเช็กสภาพความเรียบร้อยของหลังคาไปด้วยในตัว เพียงเท่านี้หลังคาบ้านก็จะปลอดภัยไร้ปัญหากวนใจอย่างแน่นอน

ลองหารอยแตกของหลังคา ก่อนถึงเวลาฉุกละหุก ก่อนถึงฤดูฝน หากเป็นไปได้ให้ลองใช้สาย-ยางฉีดน้ำขึ้นไปบนหลังคาเลียนแบบฝนตก เพื่อดูรอยรั่วของหลังคาก่อนฝนจริงจะมาเยือน ถ้าพบรอยรั่วคุณก็เพียงแค่ปิดก๊อกน้ำและเริ่ม
ซ่อมแซม ดีกว่ารั่วเมื่อตอนฝนมาและต้องทนดูน้ำไหลเข้าบ้านเป็นไหนๆ

เริ่มต้นดี...ไม่มีรั่ว

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้วว่า ปัญหาหลังคารั่วมีรายละเอียดอยู่มาก หากออกแบบและก่อสร้างไม่ดีตั้งแต่ต้น การแก้ปัญหาก็จะทำได้ลำบาก ฉะนั้นหากเป็นไปได้ การย้อนกลับไปแก้ปัญหาตั้งแต่เรื่องการเลือกใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง ก็น่าจะเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด

เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา” ภาพประกอบ : OIC Studio

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook