สร้างบ้านอย่างไรให้พร้อมรับภัยพิบัติที่จะมาเยือน

สร้างบ้านอย่างไรให้พร้อมรับภัยพิบัติที่จะมาเยือน

สร้างบ้านอย่างไรให้พร้อมรับภัยพิบัติที่จะมาเยือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพียงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาโลกก็ประสบพิบัติภัยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเฉียบพลันมากมายนับครั้งไม่ถ้วน และบ้านซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบเหล่านี้โดยตรง เราจึงขออาสายื่นมือเข้ามาแนะนำงานโครงสร้างที่ช่วยป้องกันและสร้างความมั่นใจให้การอยู่อาศัย เพื่อให้บ้านของคุณคงทนแข็งแรงยาวนานตลอดอายุการใช้งาน

A : บ้านทนไหว
อีกภัยพิบัติที่มองข้ามไม่ได้ในพ.ศ. นี้ คือ แผ่นดินไหว เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสามารถเกิดมาถึงที่บ้านของเราหรือไม่ การทำโครงสร้างบ้านให้แข็งแรงและรองรับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้เกิดความเสียหายกับตัวบ้านน้อยที่สุด

1) ตรวจสอบต้นไม้ใหญ่รอบ ๆ บ้านว่า เว้นระยะห่างจากตัวบ้านมากกว่ารัศมีการล้มทับของต้นไม้ กรณีเกิดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวหรือไม่

2) เลือกทำโครงสร้างบ้านจากโครงเหล็กกล้าเคลือบป้องกันสนิม หรือหากเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กให้เสริมเหล็กปลอกพันเป็นวงรอบแกนเหล็กโครงเสา

3) ติดตั้งอุปกรณ์เสริมอย่างระบบแยกฐานเพื่อรองรับแผ่นดินไหว เป็นตัวรองรับโครงสร้างบ้านเพื่อลดแรงสั่นสะเทือนจากผืนดินไหว ไม่ให้ไปถึงตัวบ้านโดยตรงอย่างรุนแรง

4) รอยเชื่อมและข้อต่อระหว่างเสากับคานควรมีการถ่ายเทน้ำหนักได้ดี โดยใช้เหล็กปลอกพันรอบเหล็กแกนในบริเวณข้อต่อ

5) ผนังก่ออิฐควรติดตั้งตะแกรงตาข่ายเพื่อป้องกันการพังถล่มของชั้นอิฐ ทางที่ดีควรใช้ผนังพรีคาสต์ หรือคอนกรีตเสริมเหล็ก

6) การก่อผนังอิฐควรเต็มตลอดความสูงของเสา ไม่ให้มีช่องว่าง เพื่อลดความเสี่ยงของการถล่มจากแรงสั่นสะเทือน

7) ใช้โครงสร้างหลังคาน้ำหนักเบาอย่างไม้หรือเหล็ก เพราะหากเกิดแรงสั่นสะเทือน โครงสร้างน้ำหนักเบาจะถล่มลงมาทับตัวบ้านได้ยากกว่าโครงสร้างที่น้ำหนักมาก

B : บ้านหนีน้ำ
จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ยังสร้างความหวาดวิตกให้คนไทยมาจนตอนนี้ ทางที่ดีหากทราบว่าพื้นที่บ้านของตัวเองอยู่ในเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วม การปรับโครงสร้างต้อนรับการไหลบ่าเข้ามาของน้ำ เพื่อให้อาศัยอยู่ร่วมกันได้กับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต อย่างน้อยก็เป็นการผ่อนหนักเป็นเบา

1) ปรับที่ดินให้สูงกว่าพื้นถนนหน้าบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตัวบ้าน หรืออาจใช้การถมที่ดินสองระดับ คือสวนเหนือถนน และพื้นที่บ้านเหนือสวน เพื่อไม่ให้ตัวบ้านดูสูงโดดเกินไป

2) ยืมภูมิปัญญาไทยอย่างการยกใต้ถุนบ้านมาประยุกต์ใช้กับบ้านสมัยใหม่ โดยยกตัวบ้านให้อยู่เหนือระดับน้ำที่เคยท่วมสูงสุด และให้ดูความเหมาะสมกับสัดส่วนของตัวบ้าน

3) โครงสร้างฐานรากใช้แบบเสาเข็มเจาะ เพื่อป้องกันปัญหาการทรุดตัวของบ้านในระยะยาว

4) โครงสร้างอาคารแนะนำเป็นผนังก่ออิฐมวลเบาหรืออิฐมอญฉาบปูน เพราะหากเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อโดนน้ำเป็นเวลานานเหล็กภายในอาจเกิดสนิมได้

5) วัสดุปูพื้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ไม้ปาร์เกต์หรือพื้นลามิเนตโดยเฉพาะในพื้นชั้นล่าง เพราะความชื้นจะทำให้เกิดอาการบวมและเชื้อราได้ ทางที่ดีควรใช้กระเบื้องหรือหินซึ่งดูแลรักษาง่ายกว่า

6) การติดตั้งปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟควรสูงจากระดับพื้นขึ้นมาอีกประมาณ 1.2 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมขัง จนอาจทำลายเครื่องใช้ไฟฟ้า

7) ควรติดตั้งระบบป้องกันน้ำไหลย้อน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลกลับเข้ามาภายในบ้านทางท่อน้ำทิ้ง และกันพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กหรือปั๊มไดรโว่ สำหรับสูบน้ำที่ท่วมขังออกนอกรั้วบ้าน

8) แยกระบบวงจรไฟฟ้าของตัวบ้านออกเป็นแต่ละชั้น แต่ละห้อง และงานระบบ เช่น ระบบแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ เพื่อให้ยังมีส่วนอื่นใช้งานได้อยู่ หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดความเสียหาย

9) วางคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศไว้บนชั้นสอง หรือตั้งบนตะแกรงเหล็กสูงเหนือจากระดับพื้นดิน เพื่อป้องกันความเสียหายต่ออุปกรณ์กรณีเกิดน้ำท่วม

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook