ทำอะไรกับหน้ากากเหลือใช้? ส่องไอเดียเก๋ สร้างงานอาร์ต-ประดิษฐ์ชุดแต่งงานจากหน้ากากอนามัย

ทำอะไรกับหน้ากากเหลือใช้? ส่องไอเดียเก๋ สร้างงานอาร์ต-ประดิษฐ์ชุดแต่งงานจากหน้ากากอนามัย

ทำอะไรกับหน้ากากเหลือใช้? ส่องไอเดียเก๋ สร้างงานอาร์ต-ประดิษฐ์ชุดแต่งงานจากหน้ากากอนามัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนอเมริกันบางส่วนเริ่มใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดของโคโรนาไวรัสน้อยลง หลังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ประกาศว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากในสถานที่ส่วนใหญ่อีกต่อไป

ผู้คนหลากอาชีพในอเมริกาจึงเกิดไอเดียเก๋ๆ ในการนำหน้ากากที่เหลือใช้มาทำเป็นผลิตภัณท์และงานศิลป์ที่น่าสนใจ เพื่อให้สังคมกลับมามีสีสันอีกครั้ง และ เก็บเป็นที่ระลึกของการใช้ชีวิตในยุคโควิดอีกด้วย

จาก แฟชั่น สู่ แทรชชั่น (Trashion)

ในช่วงแรกของการระบาดของโคโรนาไวรัส บริษัทเสื้อผ้าและเครื่องประดับหลายแห่งก็ผันตัวมาผลิตหน้ากากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน หนึ่งในนั้นคือ บริษัทผลิตถุงผ้ารัก(ษ์)โลกชื่อดัง จากย่านบรูคลิน อย่าง Baggu ที่ผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าฝ้ายเมื่อฤดูใบไม้ผลิเมื่อปีที่แล้ว และขายได้กว่า 10,000 ชิ้นภายในวันเดียว

แม้สถานการณ์และอุปสงค์ของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปตามการผ่อนปรนมาตรการใส่หน้ากากของ CDC

ผู้อำนวยการด้านการจัดการของ Baggu อย่าง แดน สมอล อธิบายกับสื่อ New York Times ว่า Baggu จะลดการผลิตหน้ากากลง แต่ก็จะไม่มีการล้มเลิกการผลิตทั้งหมด โดยเขาให้เหตุผลว่า “การระบาดของโควิดทำให้ผู้คนในอเมริกาเหนือมีมุมมองใหม่กับการสวมหน้ากาก Baggu มั่นใจว่าในจะยังมีกลุ่มลูกค้าที่ยังจะต้องการจะใส่แมสก์อยู่”

ส่วนดีไนเซอร์ชื่อดังในวงการแฟชั่น คริสเตียน ซิราโน ก็เสริมว่า “นอกเหนือจากการป้องกันไวรัสแล้ว คนบางกลุ่มเลือกที่จะใส่แมสก์เพื่อเพิ่มความมีสไตล์” คริสเตียนย้ำว่าจุดสำคัญในการผลิตแมสก์มากกว่า 3 ล้านชิ้นของบริษัทของเขานั้น คือ การที่หน้ากากทั้งหมดนี้สามารถนำกลับมาซักและใช้ได้ใหม่ได้ เพราะขณะนี้ ​โลกของเราใช้ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งเยอะมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก

ทั้งนี้ การสร้างผลงานด้านแฟชั่นยุคโควิดก็ไม่จำกัดอยู่แค่แบรนด์ดังๆ เท่านั้น นักศึกษาจากสถาบัน Fashion Institute of Technology ในนครนิวยอร์ก ฮานน่า คอนแรท เล่าว่า ตอนที่โควิดเริ่มระบาดนั้น เธอกำลังทำงานซึ่งเป็นโปรเจ็คการร่างชุดแต่งงานส่งให้อาจารย์ แต่เธอรู้สึกท้อแท้และมองว่าชุดที่เธอออกแบบนั้นไม่มีความหมายต่อใครเลย เธอจึงหันมาเย็บเศษผ้าเพื่อทำแมสก์ให้กับครอบครัวและเพื่อนๆ แทน พอเธอกลับมาทำโปรเจ็คชุดแต่งงานต่อ เธอจึงใส่ความเป็นปี 2020 ลงไปด้วยการใช้แมสก์ผ้าสีขาวร่วม 50 ชิ้นมาประกอบกับโครงเหล็กของกระโปรงชุดเจ้าสาว


Masks wedding dress
นอกจากนี้ แคริส เมอเล็ต นักสถาปัตยกรรมและเจ้าของแบรนด์ FabBRICK ที่ผลิตสินค้าจากผ้า มีวิธีการแปรรูปแมสก์ผ้าเพื่อมาแต่งบ้าน โดยเธอนำแมสก์เหล่านั้นมาอัดกันให้มาเป็นก้อนอิฐที่มีสีสัน นำไปใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ ที่วางโคมไฟ หรือ ต่อกันเป็นผนังกั้นพื้นที่ได้

ส่วนดีไซเนอร์เกาหลี แฮนึล คิม เอาแมสก์ไปละลายด้วยอุณหภูมิสูงและหล่อเป็นเก้าอี้พลาสติกสีสดใส เขาใช้แมสก์ประมาณ 1,500 ชิ้น ในการทำเก้าอี้หนึ่งตัว ซึ่งตอนนี้เขาทำเก้าอี้ขึ้นมาแล้วกว่า 50 ตัว และใช้แมสก์ไปถึง 75,000 ชิ้นเลยทีเดียว

สำหรับศิลปินไทย อย่าง ปรมิศร์ ทันตปาลิต ที่อาศัยอยู่ในรัฐนิวเจอซีย์นั้นก็มีผลงานการนำของเหลือใช้ต่างๆมารีไซเคิลและประกอบในผลงานของเขา ซึ่งหนึ่งในชิ้นงานที่ได้รับความสนใจมาก คือ โปรเจ็ค Masked Arts ที่นำแมสก์ที่ถูกทิ้งแล้วมาผ่านกระบวนการพิมพ์ภาพ (cyanotypes) ให้งานออกมามีสีฟ้าและนำมาจัดแสดง


Thai Masks Art
ส่วนสิ่งอื่นๆที่น่าสนใจมี่ผู้คนคิดประดิษฐ์ขึ้นมาจากแมสก์ ได้แก่ ที่รองคางเวลาเล่นไวโอลิน เสื้อผ้าตุ๊กตา โบว์ไทด์สำหรับสัตว์เลี้ยง และ กระเป๋าเครื่องสำอางค์

ขยะหน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ ปัญหาการทิ้งแมสก์ไม่เป็นที่นั้นก็ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางน้ำด้วย หัวหน้าโคงการ Clean Ocean Action แอลลิสัน โจนส์ บอกว่า จิตอาสาเก็บแมสก์ได้เกือบ 700 ชิ้น ระหว่างทำความสะอาดชาดหาดในบริเวณรัฐนิวยอร์ก และ รัฐ นิวเจอร์ซีย์ ในเดือนตุลาคม ส่วนโครงการคล้ายๆกันอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า the Pacific Beach Coalition in California ก็รายงานทำนองเดียวและเชื่อว่าตัวเลขของขยะจริงๆน่าจะสูงกว่านี้มาก

พิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์กรับบริจาคแมสก์เพื่อสร้างงานศิลป์

สำหรับชาวนิวยอร์กที่อยากบริจาคหน้ากากอนามัย พิพิธภัณฑ์ชื่อดังในเมืองดังกล่าวอย่าง National Museum of African American History and Culture และ the New-York Historical Society ก็เปิดรับแมสก์​ที่ไม่ได้ใช้เพื่อนำเป็นส่วนประกอบในนิทรรศการงานศิลปะที่แสดงผลงานเกี่ยวกับโรคระบาด

โดยผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ Historical Society ของนิวยอร์ก ทิ้งท้ายกับสำนักข่าว New York Times ว่า หนึ่งในแมสก์ที่ทางพิพิธภัณฑ์ชอบมาก คือ แมสก์ลายนกเพนกวิ้น ซึ่งก็เป็นของนายแพทย์ แอนโทนี เฟาชี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นักระบาดวิทยาหลายคนได้ออกมาเตือนว่า ประชาชนควรจะเก็บแมสก์ไว้บ้าง เพราะ โรคระบาดชนิดอื่นอาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook