ธัญญ่า รอตก้า กับความสำเร็จที่เกิดจากความไม่รู้

ธัญญ่า รอตก้า กับความสำเร็จที่เกิดจากความไม่รู้

ธัญญ่า รอตก้า กับความสำเร็จที่เกิดจากความไม่รู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง : รุจรดา วัฒนาโกศัย / ภาพ : กิตตินันท์ จรรยางาม

ครั้งหนึ่งเคยสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ จอห์น โรเบิร์ต เพาเวอร์ส ผู้เป็นคุณแม่ของผู้หญิงคนนี้มาแล้ว ครั้งนี้เมื่อเราได้สนทนากับ ธัญญ่า รอตก้า ผู้เป็นทายาท เราก็ชื่นชอบความคิดการทำงานของเธอไม่น้อยไปกว่ากัน

ธัญญ่าเข้ามาทำงานที่จอห์น โรเบิร์ต เพาเวอร์ส เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เริ่มจากดูแลฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายขาย ก่อนจะมาจับงานฝ่ายการตลาดควบคู่กับการดูภาพรวมของบริษัทไปพร้อมกัน ซึ่งงานที่ได้ทำแตกต่างจากสิ่งที่เธอเรียนมาโดยสิ้นเชิง

"ตอนแรกเคยคิดว่าจะไม่ทำเอง จะจ้างคนอื่นมาบริหารแล้วเราก็ไปทำอย่างอื่นที่เรารัก แต่พอเรียนจบกลับมาเห็นแม่ทำงาน เห็นแม่เหนื่อย แล้วถ้าจะให้คนอื่นมาทำ ใครจะมารู้จักของๆ เราได้ดีกว่าตัวเราเอง ซึ่งเราเห็นมาตั้งแต่เด็ก"

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจกลับมาสานต่องานของคุณแม่ พร้อมกับความไม่รู้และไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ทำให้ช่วงแรกเธอต้องทำงานหนักเป็นสองเท่าเพื่อเรียนรู้งานให้เร็วที่สุด ให้มีความเข้าใจงานมากกว่าพนักงานคนอื่นและพร้อมจะแก้ปัญหาให้เขาได้ โดยมีคุณแม่เป็นครูส่วนหนึ่ง และเรียนรู้เองส่วนหนึ่ง

แต่ความไม่รู้กลับเป็นผลดี ทำให้เธอได้มององค์กรในมุมของลูกค้า และรู้สึกว่าทำยังไงจะขายคนวัยเดียวกับเธอให้ได้มากขึ้น เธอจึงเกิดความคิดจะเปลี่ยนแปลงองค์กร

"เมื่อก่อนคนจะรู้สึกว่าเราเป็นโรงเรียนสอนมารยาท เป็นเรื่องของผู้บริหารระดับสูง มีคนคิดว่ามาเรียนที่นี่แล้วออกไปจะเป็นหุ่นยนต์ ยิ้มเหมือนกัน พูดเหมือนกัน ซึ่งเป็นความเชื่อผิดๆ ความเป็นจริงก็คือ คนทุกคนมีบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีทางทำให้เหมือนกันได้"

"ญ่ามาปรับ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เมื่อก่อนการเรียนในแต่ละหัวข้อไม่ได้บังคับมากว่าต้องเรียนอะไรก่อนหลัง แต่ตอนหลังเริ่มมาเปลี่ยนให้เห็นการเดินทางของการพัฒนาบุคลิกภาพที่ชัดขึ้น และต้องเริ่มด้วยเรื่องบุคลิกภาพภายใน เพื่อให้เข้าใจตัวเองก่อน เข้าใจว่าบุคลิกภาพ ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า หน้า ผม ยังมีด้านอื่นๆ อีก ญ่ามองว่าถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง ก็ยากที่ปรับตัวเองในด้านต่างๆ"

"เริ่มมีการพีอาร์สร้างความเข้าใจใหม่ เปลี่ยนวิธีการสื่อสารในโฆษณาให้เห็นว่าการพัฒนาบุคลิกภาพมีอะไรมากกว่าการปรับปรุงภาพลักษณ์ เปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลของลูกค้าให้มีความละเอียดขึ้นมากกว่าการกรอกใบสมัครเรียนปกติ ช่วยให้เราเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง วิทยากรผู้สอนได้ประโยชน์จากข้อมูล ค่อนข้าง Customized มากขึ้น

ระยะเวลาเพียง 4 ปี ลูกค้าของจอห์น โรเบิร์ต เพาเวอร์ส มีกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 25-35 ปี เพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่

เธอวางเป้าหมายว่าวันหนึ่งคนจะต้องเห็น จอห์น โรเบิร์ต เพาเวอร์สในมุมใหม่ อยากให้คนเห็นความสำคัญกับการพัฒนาบุคลิกภาพ ที่เชื่อมโยงกับการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ในมุมมองของธัญญ่า บุคลิกภาพไม่ใช่เพียงแค่ภาพลักษณ์ภายนอก แต่บุคลิกภาพคือพฤติกรรมการแสดงออกของคนที่สะท้อนมาจากแบบแผนความคิด และอารมณ์

"ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไร บทบาทของเราไม่ได้มีอยู่แค่ใน Job Description แต่ยังมีความคาดหวังที่คนอื่นมองเราเสมอ ถ้าคิดง่ายๆ เวลาเราไปหาหมอ เราก็จะมีภาพหมออยู่ในหัว ว่าอยากให้หมอดูสะอาด ผมคงเรียบ น่าเชื่อถือ พูดจานุ่มนวลน่าฟัง เป็นความคาดหวังที่สังคมสร้างขึ้นมา หรือตัวเราสร้างขึ้นสำหรับตำแหน่งอาชีพนั้นๆ และในทางกลับกันก็มีคนคิดแบบนี้กับเรา

คนทุกคนมีบุคลิกที่ดีเป็นของตัวเอง เราแค่ต้องปรับตัวเอง หรือฝืนความเคยชินบางอย่างให้เหมาะสมกับตำแหน่งและหน้าที่ที่ทำอยู่ ในช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะมีหลายบทบาท เป็นทั้งเจ้านาย เป็นลูกค้า เป็นลูกน้อง การปรับไปตามบทบาทไม่ใช่เรื่องของการเฟกเพื่อเป็นอีกคน แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เหมาะสมกับความคาดหวังของสถานการณ์นั้นๆ"

"การเห็นลูกค้าได้ประโยชน์และเปลี่ยนไปจากการพัฒนาบุคลิกภาพ เขาได้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น สามารถที่จะปรับตัวเองให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ เพราะลูกค้าอยู่กับเรานานหลายเดือน เราก็จะเห็นฟีดแบ็คตั้งแต่เขามาเรียน เขามีอะไรที่เปลี่ยนแปลง หรือเขามาเล่าให้เราฟังว่าเขาประสบความสำเร็จ หรือเขาได้ประโยชน์จากการที่จอห์นฯ ให้อะไรเขาไป มันรู้สึกภูมิใจ เหมือนเราผลิตโพรดักต์ออกมาแล้วสำเร็จ สมบูรณ์แบบ"

"จะให้ทุกคนเรียนจบออกไป เราต้องแน่ใจว่าเขาได้สิ่งที่ดีที่สุด"

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ เพิ่มเติม ดาวน์โหลดนิตยสารในเครือจีเอ็มได้แล้วที่  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook