เคล็ดลับสำหรับการเรียนออนไลน์ ทำอย่างไรเมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์

เคล็ดลับสำหรับการเรียนออนไลน์ ทำอย่างไรเมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์

เคล็ดลับสำหรับการเรียนออนไลน์ ทำอย่างไรเมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อยู่ในช่วงปรับตัวกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่เลย สำหรับ New Normal ชีวิตวิถีใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 (COVID-19) ระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้ รวมทั้ง "การเรียนออนไลน์" อีกหนึ่งการปรับตัวของหลายบ้าน ที่ค่อนข้างมีปัญหา "คุณหมอชาญวิทย์" จากเพจ "สมาธิสั้น แล้วไง" เพจเพื่อเด็กสมาธิสั้นและผู้ปกครอง ได้บอกเคล็ดลับทำอย่างไรเมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปปรับใช้ในชีวิตแล้วค่ะ

 

ช่วงนี้เด็กๆ หลายคนเริ่มต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งรูปแบบของแต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกัน หลายบ้านเริ่มเจอกับปัญหาที่ลูกดูเหมือนจะไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ แค่เรียนในห้องเรียนปกติ ลูกก็ยังไม่ค่อยจะมีสมาธิเลย พ่อแม่หลายคนเครียดมากที่ต้องลงมานั่งคุมลูกให้จดจ่อกับสิ่งที่ครูสอนออนไลน์ ในขณะที่ตัวเองก็มีภาระ มีงานที่ต้อง Work From Home แล้วพ่อแม่จะช่วยลูกยังไงได้บ้างเพื่อให้การเรียนออนไลน์เป็นประโยชน์กับลูกมากที่สุด ลองมาดูกันครับ

• เปิดใจ ยอมรับว่าการเรียนออนไลน์ของลูกเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มองด้านดีว่าการเรียนออนไลน์อาจช่วยพัฒนาทักษะไอทีของลูก และช่วยให้ลูกไม่เสียโอกาสการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันควรเตรียมใจว่าพ่อแม่ต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องช่วยกำกับดูแล ช่วยครูสอน ช่วยลูกเรียน นั่นคือพ่อแม่ต้องเรียนไปพร้อมกันกับลูก

• รีบแจ้งทางโรงเรียนและคุณครูประจำชั้นให้ทราบโดยเร็ว เมื่อมีข้อจำกัดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ที่ทำให้ไม่สามารถจัดเตรียมการเรียนออนไลน์ให้ลูกได้ เพื่อทางโรงเรียนจะได้ช่วยหาแนวทางอื่นในการช่วยให้เด็กได้เรียน

• ติดต่อกับผู้ปกครองของเพื่อนลูก และจัดให้มีกิจกรรมร่วมกัน ตั้งกลุ่มผู้ปกครองเพื่อช่วยเหลือกันในการจัดการเรียน การทำงาน เพราะหลายๆ ครอบครัวอาจประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

• เมื่อพร้อมให้ลูกเรียนออนไลน์ พ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ลูกจำเป็นต้องใช้ ในการเรียนออนไลน์

• จัดห้องหรือสถานที่ที่จะให้ลูกนั่งเรียนให้เหมาะสม ไม่มีเสียงรบกวน ไม่พลุกพล่าน ไม่มีสิ่งเร้าที่จะทำให้ลูกวอกแว่ก หากเป็นไปได้แยกไม่ให้น้องมารบกวนพี่ หรือพี่ไปรบกวนน้อง ขอความร่วมมือผู้ใหญ่ในบ้านไม่ให้มาชวนคุย หรือคอยส่งน้ำ ส่งขนมระหว่างที่ลูกกำลังเรียน

• จัดตารางเวลาสำหรับทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ตื่นนอน รับประทานอาหาร พักผ่อน เล่น ออกกำลังกาย เข้านอน ฯลฯ ให้ใกล้เคียงกับตารางเวลาในช่วงปกติที่ลูกไปโรงเรียนเท่าที่เป็นไปได้



• อย่าละเลยการทำกิจกรรม “ออฟไลน์” ร่วมกันกับลูก เช่น อ่านนิทาน ร้องเพลง เต้นรำ วาดรูป ทำงานศิลปะ ประดิษฐ์สิ่งของ ทำอาหาร ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ผู้ปกครองควรตระหนักว่า การเรียนรู้ของลูกๆ ยังสามารถเกิดขึ้นได้มาก จากประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ลูกได้สัมผัสในแต่ละวัน

• ศึกษาวิธีการตั้งค่าการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต (parental control) เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแอบเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เล่นเกม หรือดูยูทูบ ระหว่างการเรียนออนไลน์

• พูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่ได้เรียนในแต่ละวัน ช่วยทบทวน ตรวจทานงานที่ได้รับมอบหมาย หรือการบ้าน

• ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรช่วยเหลือกัน อย่าผลักภาระในการช่วยลูกเรียนออนไลน์ให้เป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะงานนี้เป็นงานที่หนัก ท้าทาย และกระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ง่าย

• บอกกับตัวเองให้ได้ว่า ลูกไม่จำเป็นต้องได้ความรู้เต็มที่ หรือได้ทุกสิ่งทุกอย่างจากการเรียนออนไลน์ ทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กหลายอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเรียนออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียว พ่อแม่จึงไม่ควรจริงจัง เครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไป การเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นเพียงมาตรการเสริมชั่วคราว เมื่อโรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติเท่านั้น

• หมั่นสำรวจอารมณ์ และระดับความเครียดของตัวเอง พึงระลึกว่าหากพ่อแม่หงุดหงิด เครียด หรือใส่อารมณ์กับลูก ขณะกำกับลูกระหว่างที่เขากำลังเรียนออนไลน์ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของเขา หากรู้ตัวว่าตัวเองอารมณ์ยังไม่พร้อม พ่อแม่ไม่ควรกดดันตัวเองให้ช่วยลูกเรียนออนไลน์ ความรู้ที่ลูกมีเพิ่มขึ้นอาจไม่คุ้มกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อ แม่ ลูกที่จะเสียไป


ผู้ร่วมเขียนบทความนี้

1. รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล
4. อ.นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

>> เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ "คุณแม่" ปรับตัว และเตรียมพร้อมอย่างไรสู่ New Normal

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook