Fair Food

Fair Food

Fair Food
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Fair Food

 


เรื่องราวของอาหารอินทรีย์ ยังคงเป็นประเด็นร้อนอยู่เสมอ ตอนนี้หากอยากขายของให้ได้ราคา นักธุรกิจส่วนใหญ่จึงมักใส่คำว่า “ออแกนิก” หรือ “ไร้สาร” หรือ “ปลอดสาร” หรือ “ปลอดภัย” ลงไปในแพคเกจของสิ่งที่ตนขาย เพราะรู้ว่าผู้ซื้อที่คำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพเป็นหลัก มักยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อความสบายใจ เพราะคำเหล่านั้นถือว่าเป็นการรับประกันความปลอดภัยของอาหารในห่อได้มากขึ้นทันที ราวกับเป็นคำวิเศษอย่างนั้นเลย


แต่เรื่องราวของอาหารออแกนิกมีมากและลึกกว่าคำพูดสวยๆ ที่ติดอยู่บนฉลาก นอกจากการตรวจรับรองว่าฟาร์มที่สามารถอวดตนว่าเป็นออแกนิกได้ปฏิบัติตามกฏระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์แล้ว นักธุรกิจที่มีหัวใจออแกนิกส์จริงๆ จะต้องคำนึงถึงความยุติธรรมของการค้า คือเขามีเจตนาที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเขา จากต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม เช่น หากเขาเป็นผู้ค้าช็อกโกแลตที่สามารถขายช็อกโกแลตได้ราคาแพงๆ ในปลายน้ำ เขาย่อมที่จะยอมจ่ายค่าวัตถุดิบที่เขารับซื้อมาจากไร่เมล็ดโกโก้ ให้สมน้ำสมเนื้อกับราคาที่เขาขาย พูดง่ายๆ คือไม่เอากำไรเกินตัว กำไรเว่อร์ ประมาณขายหน้าร้านได้มากมาย แต่กลับไปกดราคาชาวนาชาวไร่ที่หลังขดหลังแข็งกว่าจะได้ผลผลิตมา ซึ่งเป็นระบบเก่าๆ ที่เราเคยชินมาโดยตลอด โดยวิธีการแบบนี้เอง ที่เรียกว่า Fair Trade มีตราสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าสิ่งที่เขากำลังซื้อนั้น เป็นสินค้าที่สนับสนุนความอยู่ดีกินดีของผู้ที่เป็นผู้ผลิตโดยตรง มีความยุติธรรมทางการค้าอย่างต่อเนื่อง จากต้น ถึงปลายน้ำนั่นเอง

Fair Food

เรื่องราวของ Fair Trade กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากว่า ตอนนี้ธุรกิจหลายๆ ราย เริ่มเข้าใจแล้วว่า การเข้าไปทำธุรกิจ โดยเอาแต่ประโยชน์ แต่ไม่ให้สิ่งใดตอบแทนกลับสู่ชุมชน หรือสังคมนั้น เป็นการทำธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน เพราะการทำให้เราเป็นผู้เดียวที่ได้ผลประโยชน์ คือคิดว่าอยากรวยและดีอยู่คนเดียวนั้น มีข้อพิสูจน์แล้วว่า ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ด้านสังคม นอกจากจะทำให้สินค้าที่ตนเองผลิตนั้นไม่มีผู้ซื้อตามต้องการแล้ว (ก็ในเมื่อคนในสังคมไม่มีสตางค์ ก็ย่อมไม่มีผู้ซื้อ ไม่มีกำลังซื้อ) ยังก่อให้เกิดภาวะปัญหาสังคม อาชญากรรม การไร้คุณภาพของประชากร (เวลาจะหาคนเก่งๆ ดีๆ มาทำงานให้ ก็หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร) ต่อเนื่องมาจนถึงความสุขสบาย และระดับของรสนิยม (ความเป็นผู้ดีของประชากรส่วนใหญ่ ไม่ใช่พวกขับรถหรูราคาแพง แต่ยังกดกระจกรถออกมาถ่มน้ำลายลงบนถนน หรือเร่งเครื่องบีบแตรใส่คนเดินถนน) สรุปคือ หากสังคมมีความยุติธรรม ไม่มีใครโดนกดขี่ ทุกคนได้ประโยชน์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย พวกเราทุกคนก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็คือจุดประสงค์ของการก่อตั้งระบบ Fair Trade ขึ้นมานั่นเอง


 

วันนี้สินค้าที่เขียนว่า Fair Trade ยังไม่มีมากนักในประเทศไทย แต่ที่ยุโรป สินค้า Fair Trade เป็นที่นิยมและต้องการ เพราะผู้บริโภครู้เรื่องราวของระบบนี้ และต้องการสนับสนุนให้ระบบกระจายและขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งสินค้าในระบบนี้ ไม่ได้มีเฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ครอบคลุมสินค้าที่ผลิตจากการเกษตรได้หมด เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า (จากไร่ฝ้าย) กาแฟ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนมีที่มาจากผู้ผลิตรายแรก ที่เราทุกคนก็ต้องดูแลเขาให้ดีนั่นเอง

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ Fair Food

Fair Food
Fair Food
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook