เปิดโลกศิวลึงค์ (2) : ประเภทและการบูชาศิวลึงค์

เปิดโลกศิวลึงค์ (2) : ประเภทและการบูชาศิวลึงค์

เปิดโลกศิวลึงค์ (2) : ประเภทและการบูชาศิวลึงค์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โดย : แจ๊ซซี่เกิร์ล


ในหนังสือ “เทวนิยาย” ของ ส. พลายน้อย ได้บันทึกเอาไว้ว่า นักวิชาการระดับปราชญ์ของอินเดีย แบ่งศิวลึงค์ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ “จลลึงค์” (ศิวลึงค์ที่เคลื่อนย้ายได้) กับ “อจลลึงค์” (ศิวลึงค์ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้)

“อจลลึงค์” มักเป็นศิวลึงค์ขนาดใหญ่ ทำด้วยหินหรือศิลาแลง จึงมีความแข็งแรงมั่นคง ยากต่อการเคลื่อนย้าย ขณะที่ “จลลึงค์” จะเป็นศิวลึงค์ขนาดเล็กประเภทวัตถุบูชา สามารถนำติดตัวพกพาไปไหนมาไหนได้

ไม่เพียงเท่านั้น ปราชญ์อินเดียยังจัดแบ่ง “จลลึงค์” ออกเป็น 6 ประเภทย่อยๆ ตามวัสดุที่นำมาทำศิวลึงค์ ดังนี้…

“มลินมยลึงค์” ทำด้วยดิน เอาไปเผาหรือไม่ก็ได้ แต่มีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องใช้ดินขาว รวบรวมจากยอดเขาหรือริมฝั่งแม่น้ำ เอามาผสมกับนม เนย ฆี แป้งที่ทำจากข้าวบาร์เลย์หรือข้าวสาลี เปลือกต้นน้ำนม ไม้จันทน์บดเป็นผงและปรอท ปั้นเป็นรูปร่างตามต้องการ เก็บไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน ค่อยนำมาใช้ ว่ากันว่าศิวลึงค์ประเภทนี้สามารถป้องกันเวทมนตร์ได้

“โลหะปะลึงค์” ชื่อก็บอกชัดเจนว่าทำด้วยโลหะ หลักๆ ก็มักทำจากโลหะ 8 ชนิดคือ ทอง เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว ดีบุก โลหะที่ทำระฆัง (ทองแดง 3 ส่วน ดีบุก 1 ส่วน) และทองเหลือง

“รัตนปะลึงค์” ทำหรือแกะสลักจากหินรัตนชาติ เช่น มุก กัลปังหา เพชรตาแมว แก้วผลึก บุษราคัม มรกต และ นิล

“ทารุปะลึงค์” ทำด้วยไม้ ชนิดที่ดีเป็นพิเศษคือไม้ขนุน ที่ถูกโฉลกรองลงมา ได้แก่ ไม้สมี กรรณิการ์ โพธิ์ อุทุมพร (มะเดื่อ) เอาเปลือกออกใช้แต่เนื้อไม้ นอกจากนั้นบางพื้นที่ได้เพิ่มไม้จันทน์ สาละ มะตูม และพุทธ เอาไว้ด้วย

“ไศลปะลึงค์” ทำจากหิน แต่ต้องมีขนาดเล็ก พกติดตัวได้

“กษณีกลึงค์” ทำขึ้นบูชาชั่วคราว เมื่อเสร็จพิธีมักทิ้งไป ศิวลึงค์ประเภทนี้ประกอบด้วยทราย ข้าวสาร ข้าวสุก ดินริมตลิ่ง มูลวัว เนยเหลว ผงจันทน์ หญ้าบางชนิด ดอกไม้ และน้ำตาล นำมาผสมกันปั้นเป็นรูปเพื่อบูชา และในการบูชาศิวลึงค์ไม่ว่าประเภทใดๆ ศิวลึงค์ ซึ่งทำจากสิ่งของแต่ละอย่างจะนำมาซึ่งอานิสงส์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นอยากได้อะไร ควรบูชาศิวลึงค์ให้ถูกต้อง ตามตำราที่มีมานานดังนี้…

บูชาศิวลึงค์ที่ทำด้วยทอง…จะมั่งมี
บูชาศิวลึงค์ที่ทำด้วยข้าวสารและข้าวสุก…จะมีอาหารบริบูรณ์
บูชาศิวลึงค์ที่ทำจากดินริมแม่น้ำ…จะเป็นราชาที่ดิน
บูชาศิวลึงค์ที่ทำด้วยมูลโค…จะเป็นคนไร้โรค
บูชาศิวลึงค์ที่ทำจากเนยเหลว…จะรื่นเริงสุขสำราญ
บูชาศิวลึงค์ที่ทำด้วยไม้จันทน์…จะเป็นคนรูปงาม
บูชาศิวลึงค์ที่ทำด้วยดอกไม้…จะเป็นคนอายุยืน


ทั้งหมดนี้แจ๊ซซี่หยิบมาเล่าตามข้อมูลที่ไปค้นเจอ ตั้งใจให้เป็นความรู้ทั่วๆไป อ่านกันเพลินๆ ส่วนเรื่องความเชื่อนั้น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนว่าจะวางตนอยู่ ณ จุดใดในเรื่องนี้

เชื่อหรือไม่-ไม่เป็นไร คิดจะไปบูชาหรือหาปลัดขิกมาแขวนหรือไม่-ไม่ว่ากัน แต่อย่าทำตัวเป็นอันธพาลเหมือนพวกมืดบอดทางปัญญา ที่เข้าไปทำลายรูปปั้นและเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง อย่างที่เป็นข่าวคึกโครมเมื่อเร็วๆนี้ก็แล้วกัน

เพราะถ้าทำตัวน่ารังเกียจระดับ “บัดซบ” อย่างนั้น นอกจากควรถูกประณาม ยังสมควรแก่การจับตัวมาลงโทษทั้งทางเพ่งและอาญาอย่างสาสม ทั้งลูกสมุนที่ลงมือ และผู้บงการที่มีแผนชั่วอยู่เบื้องหลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook