"ณัฐธิดา สงวนสิน" กับทัศนคติ Can Do พลิกรายได้ติดลบสู่ 800M. ใน 10 ปี

"ณัฐธิดา สงวนสิน" กับทัศนคติ Can Do พลิกรายได้ติดลบสู่ 800M. ใน 10 ปี

"ณัฐธิดา สงวนสิน" กับทัศนคติ Can Do พลิกรายได้ติดลบสู่ 800M. ใน 10 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้งเราก็สามารถที่จะผ่านมันไปได้ เพราะพิ้งค์และทีมล้วนมีแอตติจูดว่า ‘Can Doz’" - คุณพิ้งค์-ณัฐธิดา สงวนสิน เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพเจ้าแรกที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนมาสะสมแต้ม แลกสิทธิประโยชน์บนมือถือ

เรียกว่าลบภาพลักษณ์ของสาวหน้าหวานไปเลยค่ะ สำหรับ 'คุณพิ้งค์-ณัฐธิดา สงวนสิน' ที่วัยเด็กเรียนเต้นเคป๊อปเป็นงานอดิเรก เป็นแม่ที่พยายามแบ่งเวลาไปผูกสัมพันธ์กับลูก และเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่ (ร่วม) ก่อตั้งสตาร์ทอัพเป็นเจ้าแรกๆ ในเมืองไทย ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนมาสะสมแต้ม แลกสิทธิประโยชน์บนมือถือ และก้าวสู่ปีที่ 8 แล้ว Buzzebees ชื่อที่มาจากตัวการ์ตูนรูปผึ้งชื่อดังในนิวซีแลนด์ ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กร 130 แบรนด์ เข้าถึงคนไทย 62 ล้านคน และแจกไปแล้วเกิน 10,000 ล้านแต้ม

คุณพิ้งค์ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร กล่าวว่าเกิดปรากฏการณ์ที่สตาร์ทอัพไทยมีผู้ใช้งานเป็นรองแค่เฟสบุ๊กและไลน์ได้นั้นมาจากทัศนคติแบบ ‘Can Do’ และสตาร์ทอัพที่เริ่มจากรายได้ติดลบ ทะยานมาสร้างตัวเลขเป็น 800 ล้านบาทได้ในเวลาแค่หนึ่งทศวรรษ เป็นเพราะความเชื่อว่าการทำงานเป็น infinite game “ชีวิตและธุรกิจคือสิ่งที่ทำใหม่ไปได้เรื่อยๆ เราอยู่ในเกมที่ไม่มีวันสิ้นสุด”

คุณพิ้งค์-ณัฐธิดา สงวนสิน เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพเจ้าแรกที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนมาสะสมแต้ม แลกสิทธิประโยชน์บนมือถือ
ผนังสีน้ำตาลเข้มฉลุเป็นรูปรวงผึ้งและผึ้งงานวัยเจนเอ็กซ์ เจนวาย จนถึงเจนซีสาละวนทำงานขันแข็ง ใช่ที่นี่แน่ บัซซี่บีส์ เรามีนัดพบกับนางพญาผึ้งอย่างคุณพิ้งค์ ซึ่งแลดูแรงดีไม่มีตกแม้จะปั้นสตาร์ทอัพขนาด 260 ชีวิตมาเกือบทศวรรษแล้วก็ตาม “ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน พิ้งค์มีบริษัททำลายนิ้วมือเพื่อรักษาความมั่นคง รายได้ปีละ 30 - 40 ล้านบาท คิดว่าฉันเจ๋งระดับหนึ่งสำหรับคนอายุ 30 กว่า จนพิ้งค์ ได้เจอเพื่อนชาวไต้หวันในงานแต่งงาน เขาเล่าว่าทำสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่ซิลิคอนวัลเลย์ อีก 2 ปีถัดมาเขาก็ยังทำสตาร์ทอัพเล็กๆ นี้อยู่ แต่บอกข่าวใหม่ว่าเขาเพิ่งขายบริษัทให้ Intel ไป 2,000 ล้านยูเอสดอลลาร์ (เน้นเสียง) เขาทำให้พิ้งค์ตื่นว่า สิ่งที่ฉันทำสำเร็จมามันเล็กมากเมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพที่เพื่อนทำ ฉันจะทำสตาร์ทอัพบ้าง” 

ง่ายๆ แค่นั้นและคิดแล้วทำเลย คือหลักการของเธอ ไม่ช้านานผลิตภัณฑ์แรกของบัซซี่บีส์ก็ออกมาลืมตาดูโลก ‘เฟสบุ๊กสีเหลือง’ เล่นเฟสบุ๊กแล้วได้แต้มสะสม ไอเดียใหม่ล้ำที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน “เราคิดกันว่ามันจะเปลี่ยนโลก เฟสบุ๊กจะมาซื้อเรา เราจะเป็นมหาเศรษฐี แล้วเราจะไปซื้อเกาะกัน” เธอฝันหวาน ก่อนจะเจอความจริงตีแสกหน้าด้วยยอดดาวน์โหลดวันแรก 20 คนถ้วนจากพนักงานทุกคนของบัซซี่บีส์ และยอดกะปริบกะปรอยน้อยยิ่งกว่านี้ในวันต่อๆ มา เธอพยายามพลิกเกมด้วยการลงงบ 3 ล้านบาทสุดท้ายในชีวิตไปกับการจ้างเอเจนซี่มาทำการตลาด ภายใน 1 เดือนมียอดดาวน์โหลด 250,000 คน เป็นน้ำทิพย์ชโลมใจคุณพิ้งค์ที่ลงเงินเก็บไปแล้วร่วม 30 ล้านบาท “1 เดือนผ่านไปทุกอย่างก็หายไป เพราะเราไม่มีของแจก” 

บัซซี่บีส์เปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปทำอี-คอมเมิร์ซ
การแข่งขันกับ Ensogo ซึ่งสุดท้ายก็เป็นการเลี้ยวไปชนตอม่อจังใหญ่อีกครั้ง “มันเป็น losing game เป็นธุรกิจที่ตัดกันที่ราคา จนคุณไมเคิล (คุณไมเคิล เชน สามีและผู้ร่วมก่อตั้งบัซซี่บีส์) บอกว่ายูต้องไม่ลงเงินกับธุรกิจอีกแม้แต่บาทเดียว พิ้งค์จ๋อยมาก ทีมก็ฝ่อ ทำอะไรก็ล้มเหลวตลอด เงินก็หมดไป” 

ลูกฮึดอีกเฮือกคือการรวบรวมรายชื่อของธุรกิจ
7 ประเภทที่ต้องใช้บริการของบัซซี่บีส์ แล้วไล่โทร.ไปแนะนำตัวทีละรายๆ “ไม่มีคอนเน็กชั่นใดๆ ค่ะ โทร. ไปตามเบอร์ 02 จนได้นัดที่ซัมซุงและเอไอเอส ขายงานไป 2 ชั่วโมง ลูกค้าถามว่า สรุปแล้วคุณขายอะไร (หัวเราะ) เราพูดจาไม่รู้เรื่อง ทำแอพใช้ยากมาก มีเป็นสิบๆ ฟีเจอร์ ซึ่งลูกค้าบอกว่าขอแค่ 3 ฟีเจอร์ ในวันนี้มันก็คือ Galaxy Gift และ AIS Privilege เวอร์ชั่นแรก แต่เมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้วเราเป็นเจ้าแรกที่ทำ บัซซี่บีส์เกิดมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสะสมแต้ม แลกรางวัล พิ้งค์และทีมช่วยกันคิดจากตัวเองที่ชอบส่วนลดและโปรโมชั่นมาก ทุกการใช้จ่ายของฉันต้องคุ้มค่าที่สุด 

“พอการตลาดที่ดีมาเจอกับไอทีเจ๋งๆ มันก็กลายเป็นซูเปอร์ทีม ทำให้พอเปิดตัวปุ๊บ Galaxy Gift ติดตลาดทันที เราเองก็ได้เรียนรู้ว่าวิชั่นเราถูกต้องนะคะ แต่วิธีการเราผิด ต้องทำอะไรง่ายๆ อย่าเยอะ ด้วยวิธีนี้เราได้ลูกค้ารายใหญ่คือ ซัมซุง เอไอเอส และ ปตท. ผ่านไป 2 ปีมีลูกค้า 3 รายเท่าเดิม กลายเป็นความชอกช้ำที่เราต้องมานั่งคุยกันอีกครั้งว่าหรือเราเป็นธุรกิจที่ไม่โต ปิดตัวดีไหม เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แค่เรามาเร็วไป ผู้บริโภคยังไม่พร้อม สุดท้ายเราอดทนกันจนถึงปีที่ 4 จู่ๆ ยอดพุ่งทะลุกราฟ” 

สาเหตุก็เพราะเทคโนโลยีและผู้บริโภคทันกัน สตาร์ทอัพบัซซี่บีส์จึงผงาดขึ้นเป็น Digital CRM (Customer Relationship Management การบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า) เบอร์หนึ่งของประเทศไทยที่ครองส่วนแบ่งในตลาดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ทำให้ผึ้งงานทุกตัวภูมิใจคือการปฏิวัติการใช้จ่ายของคนไทย “สมัยก่อนเราซื้อเวาเชอร์เป็นกระดาษ ต้องจ้างมอเตอร์ไซค์ส่งบัตรนี้ไปยังไปรษณีย์ ต้องทำขั้นตอนต่างๆ วุ่นวาย แต่พอเราเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นดิจิตอล ทำให้คนเปลี่ยนมา Redeem Transaction (การใช้สิทธิ์แลกซื้อของรางวัล
บนมือถือ) ได้เป็นล้านๆ ครั้ง ไม่ใช่แค่เราช่วยประหยัดกระดาษได้ปริมาณมหาศาล แต่ยังหมายถึงการประหยัดทรัพยากรต่างๆ ทั้งพลังงานในการขนส่ง แรงงานคน และเวลา ซึ่งอันหลังเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด”

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้คนเปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น จนโทรศัพท์มือถือกลายเป็นอวัยวะที่ 33 เป็นห้างสรรพสินค้า ประกันภัย จนถึงธนาคาร เมื่อนั้นรายรับของบัซซี่บีส์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากติดลบก็เริ่มได้กำเงิน 5 ล้านบาท แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 50, 160, 390, 665 ปีนี้อาจไปแตะที่ 800 ล้านบาท ฝันดีของเธอและทีมทุกคนก็คือเดินไปทางไหนก็เห็นแต่ผลงานของตัวเอง “ทำบัซซี่บีส์แล้วภูมิใจนะ เดินเข้า 7-11 แคมเปญโค้กนั่นเราก็ทำ ไปร้าน Boots ป้ายทั้งหมดฉันก็ทำ เปิดมือถือมาเจอแอพ Galaxy Gift นั่นฉันก็ทำ แม้แต่จะไปกู้เงินทำธุรกิจ เราก็เป็นคนทำแอพกู้เงินให้ธนาคารเอสเอ็มอี เมื่อเช้าเราคุยกันเรื่องโปรโมชั่นของ Royal Canin สำหรับชิวาว่าและแมวเปอร์เซียในที่ประชุม 

“จะเห็นว่าเราทำงานกว้างมาก เพราะลูกค้าเรามีตั้งแต่ธนาคารทุกแห่ง ยกเว้นธนาคารของรัฐ บริษัทประกันระดับท็อป ยกเว้นเอไอเอ ปั๊มน้ำมันเจ้าใหญ่เกือบทุกแห่ง เนสท์เล่ สิงห์ โค้ก เอ็ม150 มาม่า ยามาฮ่า ไปจนถึงอาหารสัตว์ พูดง่ายๆ ว่าโปรโมชั่นทุกอันและอาร์ตเวิร์กทุกชิ้นที่ผู้บริโภคเห็นในแอพ เราเป็นคนทำให้ทั้งหมด เราทำแม้กระทั่งซื้อของแจกโปรโมชั่น แถมส่งให้อีกต่างหาก เมื่อเช้าหนึ่งในเรื่องที่ประชุมกันคือโถส้วมเป็ด ของแจกของ Mead Johnson ส่งไปถึงมือลูกค้าหรือยัง ทุกอย่างที่พูดมา เราใช้ไอทีทำงานให้ทั้งหมด เรามีคนทำงานแค่ 200 กว่าคน ไม่ได้มีพนักงานหมื่นคนนะคะ” 

เธอเล่าถึงฝันดีไปแล้ว มาถึงคิวฝันร้ายกันบ้าง “รู้สึกเหมือนออกสนามรบตลอดเวลา” เธอหัวเราะแห้งๆ “ทุกวันมีเรื่องให้ตั้งคำถามตัวเองว่าฉันทำอะไรอยู่ ด้วยความที่โมเดลธุรกิจของบัซซี่บีส์ไม่เหมือนสตาร์ทอัพทั่วไป ปกติเขามีกัน 3 แพลตฟอร์ม คือ ไอโอเอส แอนดรอยด์ และเว็บ ส่วนเรามี 300 กว่าแพลตฟอร์ม เพราะแต่ละแบรนด์มีแพลตฟอร์มหลากหลายมาก แล้วเราเข้าถึงผู้ใช้งาน 62 ล้านคนในประเทศไทย มีลูกค้า 130 บริษัท เราติดอันดับ 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย รองจากเฟสบุ๊กและไลน์เท่านั้น แต่ก็หมายถึงปัญหามากมายในแต่ละวัน ถ้ามีคนคอมเพลนวันละ 60,000 คน นั่นเท่ากับ 0.01 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทีมของเราจิตแข็งสุดๆ ค่ะ (หัวเราะ) เพราะเรามีแอตติจูดว่า ‘Can Doz’

คุณพิ้งค์ และกำลังใจข้างกายคนสำคัญ
เป้าหมายทางธุรกิจที่เธอทำสำเร็จไปแล้วคือการทำให้บัซซี่บีส์เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เป้าต่อไปในระดับภูมิภาคคงไม่ยากเกิน และยังเป้าระหว่างทางว่าเมื่อเข้าตลาดหุ้น เธอจะกระจายหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ให้แก่พนักงานทุกคน “เขาอาจมีเงินถึง 10, 20 หรือ 30 ล้านได้ ซึ่งในชีวิตพนักงานหนึ่งคนแทบไม่มีวันเห็นเงินก้อนนี้ แต่พิ้งค์จะทำให้ทุกคนเห็น” 

เสน่ห์ของคนทำสตาร์ทอัพคือพวกเขาเป็นคนมีแพสชั่นแรงกล้า และแม้จะทำงานข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีซับซ้อน ทว่าก็เป็นคนฝันสนุกสนานอย่างเหลือเชื่อ “ฝันสูงสุดของพิ้งค์คืออยากยกระดับประเทศไทยในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การศึกษาจนถึงการเกษตร พิ้งค์เห็นพนักงานคนหนึ่งต้องลากลับบ้านทุกปีเพื่อไปปลูกข้าว ปลูกแล้วน้ำก็ท่วมทุกปี เขาแค่ต้องการเงินชดเชยน้ำท่วม พนักงานอีกคนต้องยืมเงินพิ้งค์ทุกครั้งที่ไปดำนา เพราะได้เงินมาก็ต้องเอาไปซื้อปุ๋ยซื้อยา ขาดทุนแต่ก็ยังทำมันเพื่ออะไร 

“ถ้าพิ้งค์มีข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ ว่า คนนี้ทำนาแล้วขาดทุนทุกปี พิ้งค์จะต้องแนะนำให้เขาปลูกพืชชนิดอื่นหรือเลี้ยงปลาแทนได้แล้ว และพิ้งค์จะให้กู้เพื่อไปทำเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ใช่ให้กู้เพื่อไปปลูกข้าวแล้วน้ำท่วมหรือขาดทุนซ้ำซาก ถ้าเรื่องนี้มี Big Data เราแก้ได้ มันไม่ง่ายหรอกค่ะ แต่เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เริ่มทำก่อนจากกลุ่มคนที่พร้อม สมมุติเกษตรกรไทยมี 10 ล้าน ทำได้แสนคนก็ดีใจแล้ว คิดดูว่าจะมีกี่ครัวเรือนที่ชีวิตดีขึ้น 

“ถ้าคุณไม่หยุดเดินขึ้นบันได คุณก็มีแต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อให้โดนผลักตกก็ตกลงมา ก็ลุกแล้วเดินขึ้นไปใหม่ อย่ามาเสียดายบันไดขั้นที่เดินไปแล้ว และไม่มีคำว่าสาย ประเทศก็เป็น infinite game ไม่ใช่ว่าอีก 99 ปีจะหมดสัญญาการเป็นประเทศ ถ้าคุณทำให้ประเทศดีขึ้นวันนี้ มันก็ดีขึ้นวันนี้เลยค่ะ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook