บันได 5 ขั้นของความรัก

บันได 5 ขั้นของความรัก

บันได 5 ขั้นของความรัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ DEAR DR.Z
โดย ดร.วิคตอเรีย ซีดร็อก
แปลและเรียบเรียงโดย : รจริน รุจิรา


เมื่อเราเกิดติดตาต้องใจหรืออยากอยู่ใกล้ๆ ใครสักคน เรามักเรียกมันว่า “ความรัก” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบุพเพสันนิวาส หรือเป็นแค่ปฏิกิริยาทางเคมีในสมองกันแน่? ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเคมีจะมาช่วยอธิบายความแตกต่างระหว่างความรักความใคร่กับความรู้และความจริงทางวิทยาศาสตร์


ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต เราทุกคนต้องเคยหลงรักใครสักคนอย่างหัวปักหัวปำ โดยเฉพาะช่วงที่เป็นวัยรุ่น เลือดลมกำลังฉีดแรง และตอนที่กำลังตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้นนั้น เรามักเกิดจินตนาการที่ส่งผลต่อการหลั่งสารเคมีในสมอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศและการผลิตทายาท อันเป็นเป้าหมายตามธรรมชาติของการสืบพันธุ์

ความรู้สึกดังกล่าวเกิดมาจากการที่ร่างกายหลั่งสารอัลคาลอยด์ชื่อ phenylethylamine หรือ PEA ออกมา และสารเคมีตัวนี้จะไปช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน dopamine หรือ “ฮอร์โมนอารมณ์ดี” และฮอร์โมน norepinephrine ที่เกิดขึ้นก่อนการหลั่งอะดรีนาลินในสมอง

ปฏิกิริยาเคมีดังกล่าว จะทำให้เรารู้สึกอิ่มเอิบ ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน และรู้สึกคึกคัก กระปรี้กระเปร่า ไม่ต่างจากคนเสพยา ซึ่งในความเป็นจริง จากการสแกนสมองของคนที่ตกอยู่ในอารมณ์รักอย่างรุนแรง ผลที่ได้แทบไม่ต่างจากสมองของคนติดยาเวลาที่พวกนั้นคิดถึงยาเสพติดแม้แต่น้อย

นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะกวีทั้งหลายมักพรรณนาอารมณ์รักใคร่ของพวกเขา ออกมาทำนองเดียวกับที่ขี้ยาพร่ำพรรณนาถึงความรู้สึกหลังเสพยา

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะสมองของเราจะสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจโดยใช้เหตุผล เมื่อสมองเนืองนองไปด้วยสาร PEA ดังนั้นความหลงใหลที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจและไร้เหตุผลที่ดีมารองรับหรือ “ความหน้ามืดตามัว” อาจกลายเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมรักมากมาย (เช่นเรื่องของโรมิโอกับจูเลียต) รวมทั้งอาจนำไปสู่สัมพันธภาพและการแต่งงานที่ล้มเหลว (เช่นคู่ของบริทนีย์ สเปียร์ และ เควิน เฟเดอร์ไลน์ เป็นต้น)

ความหน้ามืดตามัวไม่ใช่ความรักอย่างแน่นอน ไม่ว่าเราอยากจะให้มันเป็นเช่นนั้นเพียงใดก็ตาม มันจะเป็นได้ก็แค่ปฏิกิริยาทางเคมีในสมองเท่านั้นเอง แต่กระนั้นก็ตาม คนที่เราคลั่งไคล้อาจกลายเป็นคนรักของเราได้ในระยะยาว

ความหลงใหลชั่วครู่ชั่วยามอาจกลายเป็นความรักที่ถาวรได้ หากทั้งสองคนใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานเพียงพอต่อการพัฒนาความใกล้ชิดสนิทสนมให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นความเข้าอกเข้าใจในกันและกัน

หากคุณเพิ่งอกหักจากการตกหลุมรักแบบทุ่มสุดตัวมาหมาดๆ ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะมองหาเหยื่อรายใหม่มาดามอก ทางที่ดีคุณควรหันมาทำความเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ ของความรักและความหลงให้ทะลุปรุโปร่งเสียก่อน ครั้งต่อไปคุณจะได้ไม่ต้องช้ำใจอีก

ขั้นที่ 1 ติดตาต้องใจ
ผู้หญิงคนหนึ่งอาจทำให้คุณสะดุดตาสะดุดใจขึ้นมาอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มอันสดใส น้ำเสียงอันรื่นหู หรืออากัปกริยาที่น่ามอง อย่าเพิ่งวางใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้คุณรู้สึกต้องตาต้องใจในระยะนี้ล้วนเกิดมาจากปฏิกิริยาของสาร PEA ในสมอง อย่างไรก็ตาม คุณและคนส่วนใหญ่มักทึกทักไปก่อนแล้วว่า เธอคือคนพิเศษ คือผู้หญิงที่คุณอยากเป็นเจ้าของ ขณะที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโดพามินและอะดรีนาลินออกมา มันจะทำให้คุณปลาบปลื้มมีความสุขจนนอนไม่หลับ


ขั้นที่ 2 คลั่งไคล้ใหลหลง
ฮอร์โมนอารมณ์ดี-โดพามิน จะทำให้คุณเสพติด คุณจะคิดถึงเธอตลอดเวลา ราวกับมีเธอแทรกซึมอยู่ในทุกอณูความคิด คุณจะใช้ทุกเวลานาทีเฝ้าคิดถึงเธอ ฝันถึงเธอ และหวังจะพัฒนาความสัมพันธ์กับเธอขั้นต่อไป


ขั้นที่ 3 สร้างวิมานในอากาศ
คุณจะสร้างความสมบูรณ์แบบให้แก่เธอ ผ่านกระบวนการที่เรียกกันว่า crystallization คุณจะให้ความสำคัญเฉพาะสิ่งที่ดึงดูดใจในตัวเธอ และพยายามมองข้ามจุดบกพร่องของเธอ ในระยะนี้คุณจะมีลักษณะเหมือนคนตาบอด คือมองไม่เห็นข้อเสียในตัวเธอ เพราะถูกเสน่ห์ของเธอบดบังจนมิดชิด คุณควรขอบใจปฏิกิริยาเคมีในสมองที่ทำให้คุณเป็นเช่นนั้น


ขั้นที่ 4 อารมณ์แปรปรวน
คุณจะวนเวียนอยู่ระหว่างการมีความหวังและความสิ้นหวัง อย่างนาทีนี้คุณอาจรู้สึกถึงความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกัน แต่นาทีถัดมาคุณอาจไม่มั่นใจและกลัวว่าความรักของคุณจะไม่ได้รับการสนองตอบ ความรู้สึกสมหวังจะทำให้คุณสุขล้น ขณะที่การถูกปฏิเสธจะนำไปสู่ความเศร้าสร้อย ในระยะนี้ คุณจะยังรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และเปี่ยมพลังเพื่อดำเนินการสู่เป้าหมาย ความหลงใหลในระดับหน้ามืดตามัว เนื่องจากการหลั่งสารเคมีในสมอง จะพุ่งสูงสุดในระยะนี้


ขั้นที่ 5 ยอมรับความจริง
ไม่ว่าความรู้สึกดังที่กล่าวมาจะหอมหวานเพียงใด แต่มันไม่มีวันดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ สมองของคุณไม่สามารถรักษาระดับฮอร์โมนอารมณ์ดีที่หลั่งรินได้ยาวนาน โดยทั่วไป อาการตกหลุมรักแบบไม่ลืมหูลืมตา หลงใหลแบบหัวปักหัวปำจะอยู่ได้นานไม่เกิน 1-2 ปี หากความรู้สึกของคุณได้รับการสนองตอบ และได้รับการสานต่อจากคนที่คุณหลงรัก

ช่วงเวลาดังกล่าวก็อาจยาวนานถึง 3 ปี ซึ่งในระยะนี้ ถ้าคุณและคนที่คุณรักรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ก็อาจพัฒนาสู่ความผูกพันอย่างช้าๆ และความผูกพันนั้นจะนำมาซึ่งความรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลาย เนื่องจากการหลั่งฮอร์โมน oxytocin สารเคมีที่ร่างกายของคนเราจะหลั่งออกมาหลังจากถึงจุดสุดยอด ความผูกพันจึงเป็นได้ทั้งผลสำเร็จและยาลดอาการหลงรักอย่างหน้ามืดตามัวไปพร้อมๆ กัน และความผูกพันนั้นจะเป็นหลักประกันชั้นดีของความรักที่มั่นคงต่อไปในอนาคต


หากมาถึงขั้นนี้แล้ว แต่ความรักของคุณไม่ได้รับการสนองตอบ คุณก็จะกลายเป็นคนอกหัก รู้สึกห่อเหี่ยว เซื่องซึม สิ้นหวัง และอาจรู้สึกถึงขั้นไม่ขอรักใครอีกต่อไป แต่คุณต้องตกหลุมรักอีกแน่ เมื่อแผลใจได้รับการเยียวยา ไม่ว่าจากวันเวลาหรือสาวคนใหม่

อย่างไรก็ตาม ในทุกขั้นตอนขอให้คุณสนุกกับความรู้สึกที่แรงกล้าและบ้าบอคอแตกอย่างไม่น่าเชื่อของการตกหลุมรักใครสักคน หากคุณเป็นศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ จงถ่ายทอดความรู้สึกของคุณออกมาเป็นบทกวี บทเพลง หรือภาพวาด เชื่อหรือไม่ว่างานศิลปะชิ้นเอกจำนวนมาก ล้วนถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาตอนที่ศิลปินกำลังตกอยู่ในห้วงรักเหวลึกแทบทั้งนั้น ฮอร์โมนโดพามินจะช่วยให้คนเราเต็มไปด้วยสมาธิและความมุ่งมั่น จงใช้มันเป็นเครื่องมือกรุยทางสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

แม้คุณจะอกหัก จงใช้ชีวิตสนุกสนานให้เต็มที่ และบอกตัวเองว่า “อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด” หากหลุมรักที่คุณตกลงไปไม่สามารถกลายเป็นรักแท้และความผูกพันอันยืนนาน จงท่องสุภาษิตที่ว่า “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น” ให้ขึ้นใจ แล้วก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางรักอย่างไม่ย่อท้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook