สตรีสากล อีนมดำ กับ คำ ผกา

สตรีสากล อีนมดำ กับ คำ ผกา

สตรีสากล อีนมดำ กับ คำ ผกา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูเหมือนว่าคุณสมบัติของกุลสตรีตามค่านิยมไทยจะห่างไกลจากเธอคนนี้ไปมาก ไหนจะพูดเรื่องเซ็กซ์อย่างเปิดเผย หรือจู่ๆ ลุกขึ้นสลัดผ้าถ่ายเปลือยก็ทำมาแล้ว ทั้งถ่ายแบบนิตยสารจีเอ็ม และ ถ่ายแบบรณรงค์ "ฝ่ามืออากง"อันลือลั่น การเปลือยเรือนร่างครั้งนั้นหลายคนชมว่าเจ๋ง ขณะที่อีกหลายคนร้องยี้ พร้อมวลีสุดแสบ "อีนมดำ" ไหนจะเขียนหนังสือท้าทาย เสียดสี และ เย้ยหยันต่อสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยอีกล่ะ หากหญิงไทยในอุดมคติเป็นแบบที่เราๆ รู้กัน ตั้งแต่ครั้งโบราณมา คงจะไม่ใช่เธอคนนี้เป็นแน่แท้ ไม่ใช่หญิงสาวหัวสมัยใหม่ บุคลิกอันมาดมั่น โฉบเฉี่ยว ผู้ไม่ไยดีต่อชีวิตแต่งงานคนนี้เป็นแน่แท้

เรากำลังพูดถึง ลักขณา ปันวิชัย หรือ แขก เจ้าของนามแฝงฝีปากคม "คำ ผกา" และ "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" วันนี้นอกจากงานเขียนหนังสือแล้ว เธอยังเป็นผู้ดำเนินรายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา และ ดีว่าคาเฟ่ ทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี อีกด้วย

ทีมประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มีโอกาสนั่งสนทนากับเธอในช่วงสายของวันหลังเสร็จจากงานผู้ดำเนินรายการ เธอเอ่ยปากขอรับประทานอาหารไปด้วยระหว่างการ สนทนาบทสนทนาอันเข้มข้น ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับข้าวคำแรกจนหมดคำสุดท้าย

-คิดว่าความเป็นผู้หญิง เป็นอุปสรรคในการเมืองไทยหรือไม่

เกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงไม่เจอนะ ถ้าจะคิดว่ามีอุปสรรคก็คือ อุปสรรคเรื่องทางกฎหมาย จำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด แสดงออกซึ่งความคิดเห็น เช่น ม.112 เรื่องนี้ถูกทำให้เซนซิทีฟกว่าที่มันเป็น คือเราไม่รู้หรอกว่าเราเขียนแบบนี้จะถูกตีความให้มันไปโดน ม.112 หรือเปล่า อันนี้ที่เป็นข้อจำกัดของการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง

อีกเรื่องหนึ่งที่โดนหนัก คือเป็นเรื่องศาสนา ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิง เพราะว่าสิ่งที่เราพูดมันอาจจะไม่เป็นประเด็นถ้าหากว่าเป็นนักเขียนผู้ชายพูด แต่พอเป็นผู้หญิงพูดเขาก็รู้สึกว่าไม่มีความชอบธรรมพอที่จะไปวิจารณ์เรื่องเกี่ยวกับศาสนามันก็เลยทำให้น้ำหนักมันรุนแรงยิ่งขึ้นแต่ถ้าเราเป็นผู้หญิงที่นุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดจำศีลแล้วเราวิจารณ์ศาสนาก็จะมีความชอบธรรมที่จะพูดแต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่ถ่ายนู้ดพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผยพอเป็นผู้หญิงแบบนี้วิจารณ์ศาสนาก็ยิ่งจะดูไม่เหมาะสมอันนี้ก็เป็นข้อจำกัดทางสังคม

-สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่สื่อสารยาก

พอเราถูกจับจ้องไม่ว่าเราจะเขียนด้วยเจตนาอะไรคนก็จะเอาไปตีความว่าเป็นเจตนาที่ไม่ดีคือ ตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่สื่อสารด้วยยากมาก เป็นสังคมที่พร้อมจะใช้อารมณ์นำหน้าเหตุผล แล้วก็ใช้อคติความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวมาตัดสิน คือ แทนที่จะดูว่าเขาพูดอะไร คนจะดูว่าใครพูดก่อน ถ้าคนนี้พูด ถ้าเรารักคนนี้คนนี้พูดอะไรก็ถูกหมด ถ้าเราเกลียดคนนี้คนนี้พูดอะไรก็ผิดหมด มีน้องคนนึงทำการทดลองด้วยการโค้ดบางประโยคในบทความเราในมติชนแล้วใส่ชื่อ ลักขณา ปันวิชัย คนก็มากดไลค์กันเต็มไปหมดเลย พันธมิตรเข้ามากดไลค์เต็มเลย แล้วเขาก็ไปเฉลยบอกว่าเป็น คำ ผกา ปรากฎว่าอันเฟรนด์หมดเลย (หัวเราะ)

อย่างความขัดแย้งทางการเมืองที่ไหนๆ ก็มี แต่ว่าเมืองไทยมันแปลกตรงที่ความขัดแย้งนี้จะมีอีกวาทกรรมชุดหนึ่งที่อยู่เหนือความขัดแย้งนั้น สมมติว่าในสังคมอื่นมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเสรีนิยม กับ กลุ่มอนุรักษ์นิยม ความขัดแย้งนี้ก็อยู่ที่อุดมการณ์ของความเป็นเสรีนิยม กับ อนุรักษ์นิยม ที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจต่างกัน มีเป้าหมายของการจัดการพื้นที่สาธารณะต่างกัน มีเป้าหมายเรื่องการจัดการเรื่องสวัสดิการของรัฐต่างกัน นึกออกไหม ที่อื่นจะเป็นแบบนี้ แต่ความขัดแย้งในสังคมไทยมันจะไปจบตรงที่ใครเป็นคนดี ซึ่งมันไม่ได้บอกอุดมการณ์อะไรเลย แล้วความดีเป็นสิ่งที่ไม่รู้อธิบายด้วยอะไร ทีนี้คนไทยก็จะมี มายด์ เซ็ต ว่าด้วยความเป็นคนดี ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายต่อว่า ถ้าคุณทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ต่อให้คุณชั่วช้าสามาลย์ในเรื่องอื่น คนก็จะเห็นว่าคุณเป็นคนดี คุณทำตามสเต็ปแห่งความเป็นคนดีแบบไทยๆ ซึ่งอันนี้มันทำให้พูดกันไม่รู้เรื่องไง เพราะคุณจะทิ้งตรรกะหมด เพราะใครที่ไม่รักคนที่คุณรักคุณก็จะบอกเขาเป็นคนเลว หรือพูดว่าอยู่ในเมืองไทยแล้วบอกว่าไม่มีความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง เชื่อในเหตุผล เราบอกว่าศาสนาของเราคือเหตุผลก็ผิดแล้ว เพราะว่ามันไม่เข้าแก้ป ไม่เข้าล็อกนิยามความเป็นคนดีแบบไทยๆ

-ที่บอกว่า ไม่มีปัญหาเรื่องผู้หญิงในเรื่องการเมือง นี่คือเรื่องจริง? ไม่มีการกดขี่ข่มเหงทางเพศ หรือการเหยียดหยามเลย

อืมม..อีนมดำ อะไรอย่างนี้เหรอ เราไม่สนใจ(หัวเราะ) มีคนทวีตเข้ามาอย่างนี้ตลอดเวลา หรือ อีหน้าปลาดุกชนขอบบ่อ ไม่สวยแล้วยังแรด อะไรแบบนี้ แต่เราไม่สนใจ สงสารคนพูดมากกว่าไหม คือ น่าสงสารนะ เขาไม่สามารถที่จะหาเหตุผลอะไรมาคัดง้างเราได้ เขาก็เลยต้องใช้วิธีนี้ เป็นความเวทนามากกว่า

หลังๆ ในทวิตเตอร์ก็จะมีคนฟอลโลว์มาด่าเรื่องนมดำเยอะมาก เลยต้องเขียนติดว่า ถ้าใครมาฟอลโลว์แขกระวังติดเชื้อนมดำนะคะ หลังๆ ก็เลยหายไปเลย หรือบางทีก็จะทวีตตอบไปประมาณว่า ค่ะ ยังไม่มีเวลาไปสักให้มันชมพู เขาก็จะงงว่าทำไมเราไม่เจ็บใจ

-ต้องการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจหรือไม่

เราไม่มีหน้าที่ไปสั่งสอนใครเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องที่คนต้องEducateตัวเองหรือเปล่าเราไม่มีหน้าที่ไปเทศนาหรือว่าไปยกระดับความคิดของใครเป็นการส่วนตัวเพราะเราก็เขียนเป็นPublicอยู่แล้วใครอยากอ่านแล้วคิดหรือเชื่อไม่เชื่อมันพ้นจากตัวเราไปแล้วแต่ที่เขามาด่าเราอีนมดำเราไม่มีหน้าที่ไปแบบเออ..คุณ..นะคะจะให้ไปคุยแบบนี้ก็คงไม่

-ให้พูดถึงนายกฯที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศ

คิดว่าในบทบาทของนายกรัฐมนตรีเขาทำได้ดีกว่าที่ใครๆคิดเยอะ แล้วที่ดีที่สุดคือคุณปูไม่มีประเด็นกระจุ๊กกระจิ๊ก อีลุกจุ๊กจิ๊กรายวัน ไม่มีประเด็นไร้สาระรายวัน ด่าคนนั้น เหน็บคนนี้ ในประเด็นที่ไม่ใช่ประเด็นของการทำงาน ซึ่งคนจะคิดว่าผู้หญิงน่าจะมีประเด็นแบบนี้เยอะ แต่ปรากฎว่าไม่มีเลย ไม่ค่อยเจอข่าวแบบนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์ อันนี้คือสิ่งที่ดีมาก แต่ถามว่าการทำงานในระดับรัฐบาลยังมีเรื่องที่ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเยอะมาก เช่น เรื่องนักโทษการเมือง เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องที่ดีส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ จะเห็นความก้าวหน้าของงานคมนาคม เรื่องรถไฟความเร็วสูง นโยบายทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะทำได้หมดตามที่สัญญาไว้ก่อนการเลือกตั้ง

-จะมีคนพูดตลอดว่าความเป็นผู้หญิงทำให้การเจรจาต่อรองราบรื่น

เพราะเขาไม่อยากให้เครดิตว่าผู้หญิงมีความสามารถในการทำงาน ก็เลยต้องใช้เหตุผลว่า ก็เพราะว่า..มีจิ๋มไง ก็เลยอ่อนโยน มีประจำเดือนไง ก็เลยอ่อนโยน แต่พอก้าวร้าวก็บอกว่า ก็มีประจำเดือนไง เลยก้าวร้าว บ้ารึเปล่า ผู้หญิงน่ะปล่อยให้คนมานั่งอธิบายตัวเองอย่างนี้ได้ยังไง แล้วยังไปทำตามที่เขาอธิบายอีก โอ้ย..ฉันต้องไม่อ่านแผนที่เพราะฉันเป็นผู้หญิง ลองอ่านสิแล้วจะรู้ว่าอ่านได้(ยิ้ม)

แล้วคนมักจะชอบพูดว่าผู้หญิงไม่มีเหตุผล จริงหรือเปล่า คุณสำรวจจากผู้หญิงทั้งโลกแล้วหรือยัง ไอ้ที่คุณบอกว่าผู้หญิงไม่มีเหตุผลน่ะ ผู้หญิงเหวี่ยง ผู้หญิงเจ้าอารมณ์ แล้วผู้หญิงก็ประสาทนะ พอเขาบอกว่าผู้หญิงเป็นประจำเดือนต้องเหวี่ยง ก็เหวี่ยงกันใหญ่ คือใช้ประจำเดือนมาเป็นความชอบธรรมที่จะเป็นคนไม่มีเหตุผล เราก็รู้สึกว่าอยู่กันได้ยังไงวะ บ้ารึเปล่า ทำไมเป็นประจำเดือนแล้วต้องเหวี่ยง โอเค..มันเป็นเรื่องฮอร์โมน คุณก็ไปดูไหมว่าฮอร์โมนคุณเกิดจากอะไร คุณกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่รึเปล่า คุณอาจจะไม่ได้เหวี่ยงเพราะว่าคุณประจำเดือนมาหรอก คุณอาจจะเหวี่ยงเพราะคุณกลัวอ้วนแล้วไม่ยอมกินข้าวหรือเปล่า เหวี่ยงเพราะนอนน้อยหรือเปล่า แล้วก็ไปโทษว่าเป็นฮอร์โมนประจำเดือน ก็เลยต้องไปโทษความเป็นหญิงว่ามันจะต้องสามารถเป็นอารมณ์อะไรก็ได้ ปัญญาอ่อน ไม่ต้องเป็นใหญ่เป็นโตถ้าผู้หญิงคิดแบบนี้

-ในสังคมอาจจะเกี่ยวกับPerceptionในการมอง

ถ้าเราจะออกจากตรงนี้ ก็อย่าไปอธิบายจากฐานเดิมไง เราก็อธิบายจากฐานใหม่ เหมือนที่พูดเรื่องการ set agenda ของสื่อ ทำไมจะต้องอยู่ใต้agendaเดิม ทำไมเราไม่ตั้งโจทย์ใหม่ แล้วพูดใหม่ พูดเรื่องเดิมแต่ว่าพูดใหม่ได้ไหม

ดังนั้นแทนที่จะมาตอบคำถามว่า ความเป็นผู้หญิงของคุณยิ่งลักษณ์มันมีผลมั้ยน้า อย่ามาพูดแบบนี้ เพราะว่าการที่คนพูดแบบนี้เพราะว่าเขาไม่อยากชื่นชมความสามารถของคุณยิ่งลักษณ์ เขาก็เลยโทษว่าบังเอิญเป็นผู้หญิงก็เลยโชคดี

-เขียนหนังสือมาหลายปี มีประเด็นสาธารณะมากมาย คิดว่าตัวตนเราในสังคม มีความคิดเขยิบไหม เปลี่ยนไปแบบไหน หรือ เรียนรู้ไปกับสังคมแบบไหน

ถอยลง ถอยหลังตามสังคม คือ เราเริ่มต้นมาด้วยการแบบ คิดเรื่องโพสต์โมเดิร์นเยอะ คิดเรื่อง deconstruction คิดเรื่องการเมืองบนร่างกายของผู้หญิง คิดเรื่องบอดี้โปรเจ็กต์อะไรแบบนี้สมัยที่ถ่ายนู้ดจีเอ็ม คิดเรื่องวรรณกรรมไปเยอะแล้ว แต่พอมันมีรัฐประหาร กลายเป็นว่าจากการที่เราอยู่ในโลกของความคิดศตวรรษที่ 21 ก็ต้องถอยกลับมาออกศตวรรษที่ 18 ประชาธิปไตยคืออะไร สิทธิพลเมืองคืออะไร ทำไมการเลือกตั้งจึงจำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยมีกี่แบบ สาธารณรัฐคืออะไร สหพันธรัฐคืออะไร คือเราถอยมา 2 ศตวรรษเลยนะ ไม่ได้ก้าวหน้าขึ้น ทุกวันนี้ต้องมาพูดในสิ่งที่ถ้าไปพูดให้ฝรั่งฟังเขาจะงงว่ามันแปลกตรงไหน สิ่งที่เธอเขียน มันใหม่ตรงไหน ก็อายนะ

-มีผลให้ความรู้สึกต้องกลับมา 2 ศตวรรษ แล้วในแง่ตัวเอง เรื่องทักษะ หรือพัฒนา อาจจะอยากกลับไปเขียน

ไม่ได้แล้วล่ะ เราก็ catch upไม่ได้แล้ว หมายถึงโลกวิชาการเราก็ตามไม่ทันแล้วล่ะ แบบโลกวิชาการในประเทศโลกที่ 1 เขาไปไกลมากแล้ว ก็คงต้องให้เป็นเรื่องของนักวิชาการ แต่เราก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไร เพราะถือว่าเราก็ไม่ได้เป็น academic แล้ว ถือว่าทุกวันนี้ทำงานแบบ Journalist

-คำผกาในพ.ศ.นี้ ยุคนี้ จะเป็นลักษณะนั้น

ก็มี respond กับสังคมไทย

-จากนี้จะเห็นงาน คำ ผกา เป็นลักษณะคุยกับสังคมไปเรื่อย

ใช่ มันก็ต้องเป็นงานแบบนี้ แล้วมาทำทีวี มันเร็วมาก ประเด็นมันก็ต้องเปลี่ยนทุกวัน เว้นแต่คิดเล่นเห็นต่าง เรามีเป้าหมายอยากจะทำให้สังคมไทยสามารถเชื่อมโยงสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ สมมติว่ามีข่าวผู้หญิงไทยตัดอวัยวะเพศชาย เมื่อจับได้ว่าสามีมีชู้ คือ แทนที่เราจะมานั่งคอมเมนต์ว่าผู้ชายมันเลว หรือผู้หญิงมันเห็นแก่ตัวหรืออะไรแบบนี้ สิ่งแรกที่เราควรจะทำคือ ไปดูว่าประวัติศาสตร์การตัดอวัยวะเพศในอารยธรรมโลกมีมาอย่างไรบ้าง จิตเพศมีกี่แบบ ในแต่ละวัฒนธรรมเขาตัดอวัยวะเพศด้วยสาเหตุใด นี่เป็นสิ่งที่เราอยากปลูกฝังสิ่งนี้ไว้กับสังคมไทย คือให้ศึกษาประวัติศาสตร์เยอะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบ หรือ เราก็จะวิจารณ์การใช้คำพูดของสื่อ

ซึ่งจริงๆแล้วก่อนที่คุณจะเขียนอะไรลงไป ขอให้คิดแค่ 5 วินาที ยกตัวอย่างเช่น พอทุกคนเห็นคำว่านู้ด คำที่โผล่เข้ามาในหัวคนไทยทุกคน คือ hot ซึ่งคำที่โผล่มา คือ cognitive เพราะถูกสั่งสอนกันมาแบบนี้ หรือ คำว่าวัฒนธรรมไทย ทุกคนจะต่อด้วยคำว่า อันดีงาม เป็นอัตโนมัติ ใช่ไหม พอพูดคำว่าพ่อแม่ ที่ต่อมามักจะเป็นคำว่า บุญคุณ นี่คือการทำงาน cognition ของเรา วิธีการของนักเขียนก็คือว่า พอคำอันคุ้นเคยพวกนี้หลุดมา ให้เราหยุด 5 วินาที แล้วคิดว่าเราเชื่ออย่างนี้จริงหรือเปล่า มันจริงอย่างที่คำที่เรากำลังจะใช้อย่างนี้จริงหรือ มันมีคำอื่นไหม หรือมันมีความรู้สึกไหม หรือมันมีอารมณ์อื่นไหม หรือมันมีความเข้าใจแบบอื่นอยู่ด้วยหรือเปล่า รีบยังไงก็ 5 วินาทีเท่านั้นแหละที่จะหยุดไว้ก่อน

-ที่ผ่านมาการปลูกฝังวิธีคิด กระตุกตั้งคำถามกับเรื่องบางเรื่อง มันมีผลบ้างไหม

คิดว่ามันมีผลต่อคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเลย อย่างดูรุ่นที่เป็นลูกศิษย์ของเพื่อน อายุ 20 ลงไป เขาก็เติบโตมาพร้อมกับงานเขียนอย่าง กระทู้ ดอกทอง ก็ทำให้เด็กกลุ่มนี้ Liberal แล้วก็ comfortable กับตัวเอง ในฐานะที่เขาอาจจะเป็นเกย์ หรือว่า คิดไม่เหมือนคนอื่น หรือมีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างออกไป แล้วทำให้เด็กกลุ่มนี้ตั้งคำถาม แล้วท้ายที่สุดเขาไปได้ไกลกว่าเราอีก กลายเป็นว่าเด็กกลุ่มนี้เขาอ่านหนังสือมากกว่าที่เราอ่าน ตั้งคำถามได้ซับซ้อนกว่า แล้วก็ต่อยอดไปเรียนต่อ อีกหน่อยคนกลุ่มนี้ก็ต้องกลับไปเป็นอาจารย์ นักเขียน หรืออะไรที่ทำให้สังคมขยับไปได้มากขึ้น
หรือกลุ่มที่เป็นแฟนเพจของรายการคิดเล่นเห็นต่าง ของดีว่าคาเฟ่ ก็เป็นคนอายุน้อยจำนวนมาก

-เขามองเราเป็นไอดอล

เขามองว่ามันมีความเป็นไปได้ คงไม่ได้มองเป็นไอดอลสูงส่งหรืออะไร เขาบอกว่า อ้าว..เป็นอย่างนี้ก็ได้นี่ คือก่อนหน้านี้เขาจินตนาการไม่ได้ว่ามันมีแบบนี้ มีคนพูดแบบนี้เขียนแบบนี้แล้วก็อยู่ในสังคมได้ แล้วเขามีชีวิตที่แบบไม่ได้ซัฟเฟอร์ ทุกข์ทรมานอะไร หรือเขียนแบบนี้แล้วไม่มีงานทำ คือเขาก็อยู่ได้ ก่อนหน้านี้มันไม่มีคำอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ในสังคมไทย

-ถ้าให้เล่าว่าทุกวันนี้ ตื่นเช้ามากิจวัตรทำอะไรบ้างในฐานะ Journalist

ตอนนี้ตื่นตี 5 ครึ่ง เพื่อที่จะมาออกจากบ้านประมาณ 6 โมงกว่าๆ แล้วมาถึงที่วอยซ์ ไม่เกิน 7 โมงเช้า เพื่อจะมาแต่งหน้าทำผม จากนั้นทบทวนประเด็นอีกนิดหน่อย แล้วก็เข้ารายการ 9 โมงครึ่ง ทำงานเสร็จ 10 โมงครึ่ง จากนั้นก็อาจจะมีการพบคนนั้นคนนี้ แล้วก็กลับบ้านเที่ยง ก็จะออกกำลังกายประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง รู้สึกว่าร่างกายต้องแข็งแรง หลังจากนั้นก็จะกลับมาดูทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค และข่าวทั้งหมด เช็คข่าวทุกสำนักข่าว ทุกสำนักพิมพ์ ทั้งไทยและต่างประเทศ และบางทีก็ดูของญี่ปุ่นบ้าง เพื่อที่จะหาว่าวันนี้เราจะเลือกประเด็นไหนไปคุยในรายการ หลังจากนั้นก่อน 5 โมง ก็จะส่งประเด็นให้กับโปรดิวเซอร์พร้อมกับลิงค์ข่าวต่างๆ ที่เราต้องการใช้ แล้วหลังจากนั้นก็ใช้เวลาอ่านหนังสือที่จำเป็นต้องอ่าน แล้วก็นอนประมาณ 3 ทุ่ม แต่บางทีตอนเย็นก็จะมีการเจอผู้คน ก็ไม่เชิงสังสรรค์แต่ตอนนี้จะเจอที่เกี่ยวพันกับงานเกือบทั้งหมด ถ้าเสาร์อาทิตย์ส่วนใหญ่จะออกกำลังกายครึ่งวัน

-เสพติดออกกำลังกาย

ไม่หรอก แค่รู้สึกว่าไม่รู้จะทำอะไร กรุงเทพฯ ไม่รู้จะทำอะไร ไม่ชอบเดินทาง เบื่อ เหนียว ร้อน ฟุตบาธก็ขรุขระเดินไม่ได้ (เสียงเพื่อนเสริมว่า เวลาจะไปเที่ยวที่ไหนกัน แขกจะบอกว่าถ้าไปประเทศโลกที่ 3 ฉันไม่ไปนะ) คือฉันจะไปแต่ประเทศโลกที่ 1 ฝุ่นฉันมีพอแล้วบ้านฉัน ถ้าไปก็โรงแรม 5 ดาวเจอแต่สิ่งดีๆนะ ฉันอยู่กับมันมาตั้งแต่เกิดแล้วส้วมหลุมอะไรแบบนี้ฉันรู้จักมันดี(ยิ้ม)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook