เมื่อ "นมแม่เป็นสีแดง" เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรู้

เมื่อ "นมแม่เป็นสีแดง" เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรู้

เมื่อ "นมแม่เป็นสีแดง" เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่ "เป้ย ปานวาด" คุณแม่ลูกสองโพสต์ภาพสุดสะพรึง น้ำนมเป็นสีแดง และมีก้อนเลือดออกมานั้น ทำให้หลายคนเป็นห่วง แนะนำให้คุณแม่เป้ยไปหาหมอด่วนๆ และยังมีคุณแม่หลายคนมาคอมเมนต์ว่าเคยเป็นแบบนี้มาแล้ว บ้างก็บอกไม่เป็นอันตราย บ้างก็บอกให้ไปหาคุณหมอ

>> "เป้ย ปานวาด" โพสต์ภาพสุดสะพรึง น้ำนมเป็นสีแดงมีก้อนเลือดออกมา


เบื้องต้นสำหรับคนที่เป็นคุณแม่แล้ว คุณแม่บางคนเคยเจอกับอาการแบบนี้เช่นกัน คือ ปั๊มนมแล้วออกมาเป็นสีแดง หรือสีชมพู แต่บางคนไม่เคยมีก้อนเลือดสีสดขนาดนี้ คุณแม่หลายคนมักจะเกิดคำถามตามมาว่า สีของน้ำนมแบบไหนเป็นอันตราย และสีน้ำนมแบบไหนไม่สามารถให้ลูกกินได้บ้าง

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ในข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊กไว้ว่า

คุณแม่อาจเคยมีนมสีเหล่านี้ แต่อาจไม่เคยเห็นเพราะลูกดูดไปหมดแล้ว

1. น้ำนมแม่ในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก เป็นยอดน้ำนมที่เรียกว่า "หัวน้ำนม" หรือ "น้ำนมเหลือง" (colostrums) มีสีเหลืองใส อุดมไปด้วยพลังงาน โปรตีน วิตามินและเกลือแร่ครบถ้วน และเป็นภูมิคุ้มกันโรคชั้นดีเยี่ยม แม้จะมีปริมาณน้อยแต่ทารกแรกคลอดก็ไม่ได้ต้องการปริมาณนมมากแต่อย่างใด เพราะสะสมพลังงานมาตั้งแต่ในท้องแล้ว น้ำนมแม่ในระยะต่อมาจะมีสีขาวหรือขาวออกเหลือง

2. น้ำนมสีใส คือนมส่วนหน้า ที่อุดมไปด้วยโปรตีนแลคโตส ช่วยพัฒนาสมอง ช่วยขับถ่าย และดับกระหาย นมส่วนหลังจะข้นมีไขมันมากกว่า ให้พลังงาน ควรให้ดูดทั้งสองส่วนนะคะ

3-4. น้ำนมอาจมีสีออกชมพูหรือสีเขียว ขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่ได้รับ เช่น จากสีผสมอาหารที่อยู่ในเครื่องดื่มบำรุงกำลัง พวกสาหร่าย และยังพบได้ในแม่ที่กินผักใบเขียวในปริมาณมาก นอกจากนั้นยังพบในแม่ที่กินวิตามินด้วย ทานได้ค่ะ

นอกจากนี้หากหัวนมแตก หรือเส้นเลือดฝอยในเต้านมแตกมีเลือดปนออกมาน้ำนมก็อาจมีสีชมพูได้ คุณแม่ลดแรงเครื่องปั๊มลงหน่อยนะคะ ไม่นานก็หาย ถ้ามีเลือดปนมากไม่ควรให้ลูกทานค่ะ ถ้าปั๊มอีกข้างแล้วไม่มีเลือดให้เอาข้างที่ไม่มีเลือดทานไปก่อน

ทำไมน้ำนมจึงมีสีแดง?

น้ำนมที่ผลิตออกมาจากต่อมน้ำนม เกิดจาก เลือดที่ไหลผ่านเส้นเลือดเล็กๆที่หล่อเลี้ยงเต้านมอยู่ นำเอาสารอาหารผ่านเข้าเซลล์ที่ห่อหุ้มรอบๆต่อมน้ำนม ที่คล้ายๆกับถุงกรองค่ะ สารอาหารต่างๆ เช่น ไขมัน โปรตีน รวมทั้งสารภูมิต้านทาน ต่างก็แทรกผ่านเซลล์หุ้ม ออกจากด้านที่เป็นเส้นเลือด สู่ด้านที่เป็นถุง รวมกันเข้ากลายเป็นน้ำนมสีขาว

แม่ที่ให้ลูกดูดนมจากเต้าโดยตรง ก็จะเห็นสีของน้ำนมเวลาลูกกินเสร็จ หยดที่มุมปาก หรือเวลานมพุ่งออกมาให้เห็น
ส่วนแม่ที่ปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูก ก็อาจจะมีเวลาพิจารณาได้มากหน่อย บางทีก็จะเห็นสีน้ำนมเปลี่ยนไป เช่นมีสีชมพูจางๆ สีแดง หรือสีน้ำตาลแดง


สีแดงในน้ำนมมาจากไหน?

ก่อนอื่นต้องแยกก่อนว่า สีแดงนั้นใช่เลือดหรือไม่

พบว่าอาหารที่แม่รับประทานที่มีสีแดงเข้มๆ ที่พบได้บ่อยคือ หัวบีทรูท หรือ ผลไม้ที่มีเนื้อสีแดง เช่นแก้วมังกรเนื้อแดง น้ำหวานสีแดง
เหล่านี้ถ้ารับประทานจำนวนมาก สีแดงอาจจะออกมาผสมในน้ำนมจนเปลี่ยนสีได้ ไม่ต้องกังวลค่ะ ถ้าเป็นกรณีนี้ น้ำนมจะกลับมาเป็นสีขาวตามปกติในเวลา 2-3 วัน

ถ้าสีแดงไม่ใช่จากอาหาร ก็เป็นจากเลือดออกมาปน หรือที่พบได้น้อยมาก คือจากแบคทีเรียบางชนิดที่ผลิตสีชมพูเข้มออกมาได้

สีแดงจากเลือด

1 . หัวนมแตกเป็นแผล มีเลือดซึมๆ มักเกิดจากลูกงับดูดเต้านมไม่ถูกท่า ทำให้ถลอกเป็นแผล

2.เส้นเลือดฝอยที่แตก ทำให้มีเลือดออกมาปนกับน้ำนม มักเกิดจากการใช้เครื่องปั๊มนมที่มีแรงดูดมากเกินไป ทำอันตรายต่อเส้นเลือดฝอย.

3.เต้านมอักเสบ ในระยะแรกๆ อาจจะมีอาการนำมาด้วย เลือดออกมาปริมาณน้อยๆก่อน เริ่มจากการที่น้ำนมค้างในเต้า ระบายออกมาไม่หมด มีก้อนแข็ง กดเจ็บ ถ้าเป็นมากจะมีไข้ร่วมด้วย

4.น้ำนมสีสนิมเหล็ก หรือ Rusty -pipe syndrome มักพบในแม่ท้องแรกช่วงวันแรกๆ ที่เริ่มมีการผลิตน้ำนม จะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงบริเวณเต้านมมาก อาจจะมีเศษลิ่มเลือดปนกับน้ำนมออกมาใน 3-7 วันแรก จะไม่เจ็บ ไม่ต้องทำอะไร จะหายไปได้เอง

5.Benign Intraductal Papilloma ก้อนเนื้อเล็กๆภายในท่อน้ำนม ที่ไม่ใช่มะเร็ง ถ้ามีเลือดออกจากหัวนมโดยที่ไม่ใช่เกิดจากหัวนมแตก ควรนึกถึงภาวะนี้ด้วย

6.Breast cancerถ้าเลือดออกจากหัวนมนานเกิน 2-3 วัน โดยไม่หายไปเอง ควรปรึกษาแพทย์ มะเร็งเต้านมบางชนิด เช่น ductal carcinoma และ Piaget’s disease มีเลือดออกจากหัวนมเป็นอาการนำ

สองกรณีหลังพบได้ไม่บ่อย แต่ต้องนึกถึง ถ้ามีเลือดออกนานเป็นสัปดาห์ไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ

สีชมพูเข้มจากเชื้อแบคทีเรีย

มีรายงาน น้ำนมแม่ที่ปั๊มออกมา เมื่อทิ้งไว้ จะเปลี่ยนเป็นสีชมพู พบว่ามี การปนเปื้อนของเชื้อ Serratia marcescens ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมลบ ที่เป็นเชื้อ opportunistic bacteria ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อใน NICU หอผู้ป่วยหนักสำหรับทารกแรกเกิดได้ เชื้อชนิดนี้จะผลิตเม็ดสีแดง ที่เรียกว่า prodigiosin ทำให้น้ำนมที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่เปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้มได้

ดังนั้น. สิ่งที่ควรระวังในแม่ที่ปั๊มนมให้ลูก โดยเฉพาะ แม่ที่มีลูกคลอดก่อนกำหนด หรือป่วย และดูดนมแม่โดยตรงยังไม่ได้คือ ความสะอาดของเครื่องปั๊มนมค่ะ

อุปกรณ์ปั๊มนม ที่สัมผัสกับน้ำนมต้องล้างและนึ่งทำความสะอาดให้ปราศจากเชื้อโรค แม่ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อน จะปั๊มนม เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค เมื่อปั๊มนมออกมาแล้ว ต้องเก็บนมที่ปั๊มเข้าตู้เย็นทันที อย่าทิ้งไว้ในที่ร้อนนานๆ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มขึ้นได้ค่ะ

ตามคำแนะนำของ CDC ให้ล้างส่วนของเครื่องปั๊มนมที่สัมผัสกับน้ำนมโดยตรง โดยใช้น้ำไหลผ่าน เพื่อชำระคราบนมออก ทุกครั้งที่ใช้เครื่องปั๊ม โดยล้างใน อ่างที่ใช้ล้างอุปกรณ์เกี่ยวกับการให้นมทารกเท่านั้น (ไม่ปะปนกับจานชามอื่นๆ) และไม่ให้วางอุปกรณ์ลงไปในซิ้งค์ล้างจานโดยตรง เพราะ อาจะมีเชื้อโรคอยู่ในท่อน้ำทิ้งได้

สรุปว่า

น้ำนมที่มีสีแดง เกิดได้จากสีในอาการที่แม่กิน จากเลือดที่ออกมาจากท่อน้ำนม หรือ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในน้ำนมที่ปั๊มออกมา

ถ้าเลือดออกมาในน้ำนมปริมาณน้อยๆ ออกมาไม่นาน และหายไปเอง ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับลูกที่กินนมแม่ ลูกดูดนมแม่จากเต้าต่อได้ น้ำนมที่ปั๊มออกมาก็ให้ลูกกินได้เร็วที่สุดหลังปั๊มออกมา ไม่ควรเก็บแช่แข็ง เพราะ อาจมีรสชาติที่เปลี่ยนไปจนลูกไม่ยอมกิน

แต่ถ้า แม่มีโรคที่มีเชื้อในเลือดที่อาจติดต่อทางเลือดได้ เช่น ตับอักเสบ C ก็ไม่ควรให้ลูกกินนมแม่ที่มีเลือดปน

ถ้าออกมาจากท่อน้ำนมเป็นเลือดสดปริมาณมาก หรือกรณีมีความสงสัยไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรให้ลูกกิน และรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ


หากคุณแม่มือใหม่เกิดอาการมีน้ำนมสีแดงออกมา อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ แต่ถ้าหากมีก้อนเลือดปนออกมาเยอะแบบ คุณแม่ "เป้ย ปานวาด" แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ เพื่อความปลอดภัยจะดีที่สุดนะคะ เป็นกำลังใจให้มนุษย์แม่ทุกคนค่ะ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ ของ เมื่อ "นมแม่เป็นสีแดง" เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook