สร้างจินตนาการให้ลูกน้อย

สร้างจินตนาการให้ลูกน้อย

สร้างจินตนาการให้ลูกน้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


คัดบางตอนจากหนังสือ "ออกแบบลูกรักด้วยวิธีเลี้ยง" เขียนโดย พญ.จิตรา วงศ์บุญสิน องค์การที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านอวกาศ เคยประสบปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิด


เมื่อนักบินอวกาศที่บินสู่ดวงจันทร์ไม่สามารถใช้ปากกาในการจดบันทึกได้ เนื่องจากสภาวะบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้หมึกของปากกาไหลไม่หยุด จนไม่สามารถเขียนได้

อัจฉริยะทางด้านวิทยาศาสตร์ต่างช่วยกันขบคิด เพื่อค้นหาปากกาที่ทำงานได้ในสภาวะบรรยากาศเช่นนั้น จนถึงขั้นต้องลงประกาศในหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ประชาชนได้ช่วยขบคิดปัญหาใหญ่นี้

อยู่มาวันหนึ่ง ไปรษณียบัตรที่เขียนด้วยลายมือโย้เย้ บอกให้รู้ว่าเป็นของเด็กน้อยวัยประถมก็ถูกส่งมายังองค์การ ข้อความในนั้นเขียนว่า "ทำไม..เราไม่ลองใช้ดินสอล่ะครับ"

ไอน์สไตน์ หนึ่งในยอดอัจฉริยะของโลกกล่าวไว้ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"

 

 


จินตนาการสร้างได้ตั้งแต่เยาว์วัย โดยการฝึกให้ลูกรู้จักคิด ให้เขาได้คว้า ได้สัมผัสตั้งแต่เล็ก ตาเขาจะไว ประสาทสัมผัสเขาจะดีการฝึกฝนแต่เยาว์วัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรพ่อแม่จึงจะสร้างจินตนาการให้ลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก?

 

ง่ายแสนง่าย เริ่มต้นด้วยการเล่านิทานก่อนนอน ในนิทานหนึ่งเรื่องมีอาหารสมองสำหรับลูกน้อยมากมาย ทั้งการฝึกฝนให้เด็กได้สร้างจินตนาการไปตามเนื้อเรื่อง ได้ความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหา สร้างให้ลูกรู้จักคิด

 

ลองสังเกตดู น้อยยิ่งกว่าน้อยที่เด็กฟังนิทานจบแล้วไม่มีคำถาม นั่นยังไม่นับรวมถึงความอบอุ่นในทางใจและทางกายที่ลูกจะได้รับจากพ่อและแม่หลักสำคัญต่อมาในการสร้างจินตนาการให้ลูก คือ อย่าเป็นคนขี้รำคาญ


ความอยากรู้ของเด็ก เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเวลาหนึ่งเหมือนความอยากอาหาร เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปแล้ว เขาอาจไม่อยากรู้อีกต่อไป เมื่อเขาถามเราต้องตอบ เพื่อเติมความรู้ เติมสิ่งที่เป็นประโยชน์ลงไปสู่สมองที่กำลังเปิดกว้างรอรับอาหาร

 

ความรู้ไม่ใช่แค่เนื้อหาทางวิชาการ แต่หมายรวมถึงการอบรมด้านทัศนคติ ความคิด การใช้ชีวิตและอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ตอ่การดำรงอยู่ในสังคมทั้งวันนี้และวันหน้า เปิดโอกาสให้ลูกได้คิด และได้แสดงความคิด โดยมีพ่อแม่ประคับประคองให้ความคิด+จินตนาการนั้นแตกหน่อต่อยอดไปอย่างถูกทิศถูกทาง

 

อาจมีเพียงหนึ่งในล้านคนที่จะมีจินตนาการกว้างไกลและทำได้จริงเหมือนไอน์สไตน์แต่ใครจะบอกได้ล่ะว่า หนึ่งในล้านคนนั้นจะไม่ใช่ลูกของคุณ!!

 

ล้อมกรอบ คัดบางตอนจากหนังสือ "ออกแบบลูกรักด้วยวิธีเลี้ยง" เขียนโดย พญ.จิตรา วงศ์บุญสิน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook