ถ่ายทอดน้ำใจ

ถ่ายทอดน้ำใจ

ถ่ายทอดน้ำใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Big Idea Interview
เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์ / ภาพ : สุตสาย สังหาร

ถ่ายทอดน้ำใจ


"กินข้าวหรือยัง? ทานน้ำก่อนไหม? นั่งพักให้หายเหนื่อยก่อน" ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนผืนแผ่นดินไทย เรามักได้ยินประโยคคุ้นหูเหล่านี้เสมอ เชื่อว่าประเทศอื่นๆ คงไม่มีคำทักทายใดที่เป็นมิตรเหมือนคนไทย ที่มีมากกว่าคำว่า "สวัสดี"


จากเหตุภัยพิบัติและเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้โหมกระหน่ำเข้าซัดประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้ง แต่คนไทยเองก็ยังไม่ลืมที่จะช่วยเหลือและพร้อมมอบสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อนมนุษย์ คุณลูกเต๋า-ณัฏฐา โกมลวาทิน พิธีกร/ผู้ประกาศข่าว ThaiPBS ที่มองเห็นทั้งมุมมองจากผู้ให้และผู้รับเพื่อส่งต่อทัศนคติถ่ายทอดผ่านสื่อสาธารณะ ตลอดระยะเวลาที่ประเทศไทยต้องการแรงกาย แรงใจ และน้ำใจจากคนไทยด้วยกัน

 

คนไทยกับความมีน้ำใจเกิดขึ้นได้อย่างไร
"ลักษณะเด่นของคนไทยคือ ‘การมีน้ำใจ' สังเกตได้จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลายหนในเมืองไทย คนไทยด้วยกันก็จะช่วยเหลือในยามที่วิกฤตเกิดขึ้น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักเห็นใจกันในยามยาก แล้วก็จะช่วยกันมะรุมมะตุ้มกันคนละไม้คนละมือ ทั้งการลงพื้นที่จากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ แม้กระทั่งภาคประชาชนก็ร่วมกันส่งของบริจาค มีการรวมตัวกันเกิดขึ้น จึงกลายเป็นภาพที่เด่นชัดของคนไทย"

"อีกอย่างคือประเทศไทยเราก็เป็นเมืองพุทธ แล้วคนไทยก็มีความเชื่อว่าการทำบุญคือการสร้างกุศล เห็นใครเดือนร้อนก็จะรีบเข้าช่วยเหลือ ซึ่งมันก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ถึงแม้คนไทยจะมีปัญหาเรื่องการเมือง หรือขัดแย้งอะไรกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คนไทยก็ยังช่วยเหลือกัน"

 

มุมมองความประทับใจที่เกิดขึ้นกับตัวคุณ
"จากวิกฤตน้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมา ภาพที่เห็นชัดและรู้สึกอินมากคือในส่วนของภาคประชาชน เขาจะช่วยเหลือกันแม้เกิดวิกฤตร้ายแรงนั้นจะทำให้พวกเขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้เต็มที่ ทั้งๆ ที่บางคนบ้านตัวเองก็ถูกพัดหายไป แต่ก็ยังพยายามเดินหน้าสู้ต่อ แม้ว่าความช่วยเหลือจากส่วนกลางอาจมาไม่ทัน แต่พวกเขายังพยายามช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยกันเอง พากันพายเรือออกไปเอาของ หรือว่านำของที่ตัวเองมีไปบริจาคคนอื่น นี่คือความประทับใจที่เราได้เห็นจากคนไทยด้วยกัน"

"ชาวบ้านที่ประสบภัย พวกเขามีความเข้มแข็งมากนะ ใจสู้มาก และยังอดทนเดินหน้าต่อ เขาจะไม่มัวมานั่งบ่นทนทุกข์ว่าฉันแย่แล้ว ทำไมชะตาชีวิตมันโชคร้ายแบบนี้ เจอน้ำท่วม เจอแผ่นดินไหว แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เราต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรต่อจากนี้ จะแก้ไขอย่างไร ต้องเดินไปข้างหน้า แล้วก็ช่วยเหลือกันในชุมชน ส่วนนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก"

 

สื่อมวลชนเอง มีหน้าที่มากกว่าการนำเสนอข่าวสาร
"นอกจากจะนำเสนอความจริงที่กำลังเกิดขึ้น สื่อมวลชนก็เป็นสื่อกลางที่นำทั้งภาครัฐและภาคประชาชนให้มาเจอกัน และนำความช่วยเหลือไปสู่ทุกคนในชุมชน จึงเป็นได้ทั้งสองบทบาท เป็นทั้งสื่อที่ลงพื้นที่รายงานสถานการณ์ และก็ต้องเอาความช่วยเหลือลงไปถึงประชาชนด้วย"

"นักข่าวที่ลงพื้นที่เขาจะลุยกันมาก เวลาเกิดเหตุการณ์เขาจะต้องลงไปอยู่กันเป็นอาทิตย์ ซึ่งมันก็ค่อนข้างอันตรายเหมือนกัน เพราะเหตุการณ์จะเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พวกเขาก็จะเห็นพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นไปจนถึงการช่วยเหลือกันเมื่อมีชาวบ้านบาดเจ็บ เราต้องให้เครดิตนักข่าวที่ลงพื้นที่ด้วย เพราะเขาไปเจอปัญหากันจริงๆ นักข่าวบางคนเห็นชาวบ้านเครียดมาก เขาก็ต้องระวังในการตั้งคำถาม และต้องหาวิธีการที่จะช่วยเหลือ มีการเชิญนักจิตวิทยามาให้ความรู้ นี่คือมุมของนักข่าวในพื้นที่ต้องพยายามแตกประเด็นให้ได้"

 

 

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เมื่อประชาชนต้องการความช่วยเหลือ
"อันดับแรกเลยเขาต้องการรู้ว่าเจ้าหน้าที่อยู่ตรงไหน เพราะเวลาเกิดแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมเขาจะติดต่อใครไม่ได้เลย อย่างน้อยเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานจะทราบผ่านสื่อ ว่าคนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการกำลังใจอยู่ที่พิกัดใด ชาวบ้านเขาอยากเข้ามาคุยนะ เวลาเจอสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อเล่าถึงปัญหาและความทุกข์ร้อนที่เขาได้เจอ สิ่งนี้สื่อสามารถเป็นคนกลางที่จะช่วยเหลือพวกเขา หรืออย่างไทยพีบีเอสเอง ก็มีรายการสถานีประชาชน ที่เปิดรับสายสดรับข้อมูลจากคนในพื้นที่ แล้วก็จะบอกได้ว่าพื้นที่ตรงไหนบ้างที่กำลังประสบปัญหา"

"ในส่วนของภาคประชาชนเองก็มีบทบาทมาก ถือว่าเป็นกำลังหลักสำคัญเลยนะ ในการตั้งกลุ่มขับรถคาราวาน กลุ่มบริจาคเรือเคลื่อนที่ หรือกลุ่มที่รู้ว่าเวลาเจอภัยพิบัติเขาจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร กลุ่มนี้จะมีประโยชน์มาก แต่ทีนี้เวลาเกิดปัญหาแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนกับภาครัฐคุยกันแล้วทำงานได้จริงๆ ที่ผ่านมารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็เป็นตัวแทนเชื่อมต่อ แต่ก็จะทำได้มากกว่านี้ถ้าเกิดการวางแผนร่วมกัน"

 

ระบบการช่วยเหลือของบางกลุ่ม ปัจจุบันยังมีความผิดเพี้ยนอยู่
"การเปิดกล่องรับบริจาคเป็นการช่วยเหลือระดับเบื้องต้นที่ต้องทำ นี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ว่าระยะยาวเราต้องมาคุยกัน เพราะมันไม่ใช่แค่สื่อที่จะทำรายงานเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องตามว่าวาระที่จะแก้ปัญหา หนทางการรับมือ การวางแนวทางจากแผ่นดินไหวหรือน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเราจะทำอย่างไร ต้องวางแผนให้เป็นระบบมากขึ้น ให้เป็นภาพรวมมากขึ้น และต้องสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน ในขณะที่ภาครัฐเองต้องลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านด้วยว่าจะวางแผนการทำงานร่วมกันอย่างไร พี่คิดว่ามันไม่ใช่ลักษณะที่จะเป็นภาครัฐ กลุ่มองค์กร หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องวางแผนฝ่ายเดียว แต่ต้องลงพื้นที่ไปฟังชาวบ้านด้วย"

"ที่ผ่านมาภาคประชาชนมีส่วนเยอะมากในการเข้ามาเป็นคนเชื่อมต่อ ลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อน เพื่อนำมาคุยกันแล้วสรุปให้มองเห็นถึงภาพรวม มันไม่ใช่แค่เกิดเหตุการณ์แล้วเฮกันไปสองอาทิตย์จบ มีปัญหาคราวหน้าก็มาช่วยกันอีก รู้ไหมว่าคนใต้เขาเจอน้ำท่วมกันทุกปี แนวทางการแก้ไขมันต้องระยะยาว ไม่ใช่แค่กระแส อย่างเช่นการปลูกยางพาราหรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว นักวิชาการเขาจะมองว่าเป็นสาเหตุหลัก เพราะมันทำให้ดินไม่อุ้มน้ำ รากต้นไม้ไม่แข็งแรง ในขณะที่คนใต้มองว่าการปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับเขา มันไม่ใช่แค่น้ำท่วมเฉพาะหน้า แต่มันเป็นแนวทางเศรษฐกิจกับการใช้ชีวิตของสังคมเขาหมดเลย"

 

หลายคนขึ้นสเตตัส ‘อยากช่วย แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร'
"จริงๆ สื่อสังคมเข้ามามีบทบาทมากนะ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค หรือพันธ์ทิพย์ ทั้งหมดนี้ก็เป็นภาคประชาชนส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นการสื่อสารผ่านสังคม บางคนโพสบนเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ว่า ‘อยากไปช่วย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร' มันก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะอาจจะมีข้อมูลจากเพื่อนหรือคนอื่นมาตอบว่าต้องไปช่วยที่ไหน ติดต่อใคร และสื่อมวลชนเองก็มีฐานข้อมูลอยู่ว่าสามารถติดต่อได้ที่ไหน มีคนรับโทรศัพท์ให้พร้อม พี่ว่าการบอกผ่านสื่อออนไลน์มีส่วนดีนะ เป็นการเสริมช่องทางการสื่อสาร ทีนี้สื่อมวลชนเองก็จะต้องมีรายละเอียดของตนเองให้ชัดเจนด้วย"

 

กระบวนการส่งต่อน้ำใจฉบับสมบูรณ์
"ถือเป็นความน่ารักของคนไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลามีอะไรก็จะช่วยเหลือกัน ทั้งการช่วยในเรื่องวัตถุสิ่งของก็เป็นเรื่องดี แต่ว่าอีกด้านหนึ่งก็ควรช่วยในเรื่องของความคิด ให้เป็นองค์รวมมากขึ้น จะหาทางแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่จะให้ชาวบ้านคิดมาเป็นแผนเลยก็คงยาก ผู้นำท้องถิ่นควรนั่งคุยกับชาวบ้านถึงปัญหาภายในท้องที่ เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรจะทำอย่างไรแล้วทำเป็นแผนงานขึ้นมา ดึงตัวแทนระดับภาครัฐส่วนกลางเข้ามานั่งคุยด้วย แล้วก็เอาสื่อมวลชนเข้ามาตั้งวงคุยร่วมกัน ทำในเชิงคิดแบบวิพากษ์มากขึ้น เพื่อที่จะหาทางแก้ปัญหาให้เหมาะกับชุมชน"

"ชุมชนเองก็อย่าคิดว่าพอเกิดปัญหาแล้วจะขอความช่วยเหลือจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ควรคิดจากมุมของตัวเองก่อนว่าถ้าเกิดปัญหาคราวหน้าแล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไร มีระบบเตือนภัยลักษณะไหน เราต้องวิ่งไปหาใครก่อน ผู้ใหญ่บ้านควรจะอยู่ตรงไหน สิ่งเหล่านี้คนในชุมชนเท่านั้นที่จะตอบได้มากที่สุด ถ้าเกิดยังคิดเบื้องต้นไม่ได้ ก็อาจจะเชิญตัวแทนภาครัฐระดับท้องถิ่น นักวิจัยระดับท้องถิ่น เพราะคนกลุ่มนี้ต้องระดมสมองคิดไปด้วยกัน"

 


"คนที่เป็นผู้ให้ ต้องคิดต่อด้วยว่าจะป้องกันอย่างไรเพื่อหาทางแก้ไขได้เร็วที่สุด เพราะทุกอย่างเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราปฏิเสธไม่ได้"

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook