สรุปข่าว "สงครามอิสราเอล” ฮามาสจับคนไทย-ฆ่าประชาชน จนถึงตอนนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง

สรุปข่าว "สงครามอิสราเอล” ฮามาสจับคนไทย-ฆ่าประชาชน จนถึงตอนนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง

สรุปข่าว "สงครามอิสราเอล” ฮามาสจับคนไทย-ฆ่าประชาชน จนถึงตอนนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นข่าวใหญ่สั่นสะเทือนโลกอีกครั้ง สำหรับการโจมตีครั้งใหม่ของ “กลุ่มฮามาส (Hamas)” หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ ต่อ “ประเทศอิสราเอล” ถือเป็นเหตุโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ มีประชาชนมากมายเสียชีวิต เช่นเดียวกับแรงงานชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสงครามที่เกิดขึ้น โดยรายงานล่าสุดระบุว่า คนไทยเสียชีวิตแล้ว 12 ราย และโดนลักพาตัว 11 ราย

Sanook สรุปเหตุการณ์สงครามอิสราเอล - ฮามาส จนถึงตอนนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง

ฮามาสโจมตีอิสราเอล

ช่วงเช้ามืดของวันที่ 7 ตุลาคม 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) กลุ่มฮามาส (Hamas) ในดินแดนปาเลสไตน์ ได้ยิงขีปนาวุธจาก “กาซา” ประมาณ 5,000 ลูก เข้าไปทางชายแดนตอนใต้ของอิสราเอล ทำให้เสียงสัญญาณเตือนภัยดังไปทั่วประเทศ นับเป็นการโจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้ออกมาประกาศ “ภาวะสงคราม” ทันที 

Getty Images

ขณะที่กลุ่มฮามาสระดมยิงขีปนาวุธเข้าไปในอิสราเอล ก็เป็นการเปิดเส้นทางให้สมาชิกติดอาวุธสามารถแทรกซึมเข้าไปในอิสราเอลได้จากหลายทิศทาง บางส่วนเข้าไปในฉนวนกาซา จับประชาชนเป็นตัวประกันและสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งกว่าพันราย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 ตุลาคม ถือเป็นวันสำคัญของศาสนายูดาย นั่นคือวัน “ซิมหัต โทราห์” วันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ที่ประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน ทำให้การโจมตีครั้งนี้นับเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดต่ออิสราเอลในรอบหลายปี 

คนไทยโดนสังหาร - จับเป็นตัวประกัน

หลังเกิดเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล ทางการไทยก็ได้ออกมาเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้ระวังตัว โดยประเทศอิสราเอลถือเป็นจุดหมายปลายทางของแรงงานไทย ที่จะเข้าไปทำภาคการเกษตร โดยในช่วงแรกมีการส่งต่อข่าวและภาพถ่ายในโลกออนไลน์ ระบุว่ามีคนไทยถูกกลุ่มฮามาสจับไปเป็นตัวประกัน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ 

ในวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ภูมิธรรม เวชยชัน รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิินจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ได้เปิดเผยว่า มีประชาชนไทยที่พำนักอยู่ในอิสราเอลประมาณ 30,000 คน และได้รับการรายงานว่าจากการโจมตีที่เกิดขึ้นนั้น มีคนไทยเสียชีวิตทั้งหมด 12 ราย โดยได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอลแล้ว 2 ราย ส่วนอีก 10 ราย ได้รับทราบข้อมูลจากนายจ้าง โดยยังไม่สามารถยืนยันชื่อได้ ทั้งยังต้องรอตรวจสอบจากการทางอิสราเอล

นอกจากนี้ ยังมีคนไทยได้รับบาดเจ็บ 8 ราย ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 2 ราย 

และมีคนไทยที่ถูกฮามาสลักพาตัวอีกทั้งหมด 11 ราย

อัปเดตล่าสุด จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลในวันนี้ (10 ตุลาคม 2566) ยอมรับว่าจากรายงานอย่างไม่เป็นทางการ ขณะนี้มีคนไทยที่เสียชีวิตจากการโจมตีในอิสราเอลแล้ว 18 ราย 

ขณะที่มีคนไทยแสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับประเทศแล้ว จำนวน 3,000 กว่าราย โดยกองทัพอากาศและกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานใกล้ชิด และเตรียมเครื่องบินที่จะไปรับคนไทยกลับบ้านแล้ว

ฮามาสถล่มเทศกาลดนตรี

ก่อนเกิดเหตุโจมตี ได้มีการจัดเทศกาลดนตรีเกี่ยวกับสันติภาพ บริเวณพื้นที่ทำการเกษตรแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งในระหว่างที่นักท่องเที่ยวกำลังเต้นรำอย่างสนุกสนาน ก็มีกลุ่มฮามาสหลายสิบคนร่อนร่มพาราไกลด์ดิ้งลงมาใกล้กับบริเวณงาน และเข้าโจมตีเทศกาลดนตรีดังกล่าว ทำให้นักท่องเที่ยวพากันแตกตื่นและวิ่งหนีเอาตัวรอด 

Getty Images

กลุ่มฮามาสยิงสังหารและจับนักท่องเที่ยวเป็นตัวประกันมากมาย โดยมีคลิปวิดีโอหนึ่งถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ เป็นร่างไร้วิญญาณของนักท่องเที่ยวสัญชาติเยอรมัน ที่กลุ่มฮามาสอ้างว่าเป็นทหารอิสราเอล แต่แท้จริงแล้วเธอเป็นเพียงนักท่องเที่ยวธรรมดาที่ถูกกลุ่มฮามาสสังหารอย่างโหดเหี้ยม 

นายกเศรษฐาประณาม

หลังเกิดเหตุการณ์โจมตี เศรษฐา ทวีสิน นายหรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความลงบน X (เอ็กซ์) ประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ระบุว่าเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก พร้อมแสดงความเสียใจต่อรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล 

ทั้งนี้ นายกฯ ยังระบุว่าได้สั่งการให้กองทัพอากาศเตรียมพร้อมเครื่อง Airbus A340 และ C-130 เพื่ออพยพคนไทยออกจากอิสราเอลทันที

การโพสต์ประณามของนายกฯ ในครั้งนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลไทย โดยประชาชนบางกลุ่มมองว่านายกฯ ไม่ควรใช้คำว่าประณาม ขณะที่ประชาชนไทยยังถูกจับเป็นตัวประกัน เพราะอาจทำให้กลุ่มฮามาสที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียไม่พอใจ และนำไปสู่ความรุนแรงต่อตัวประกันที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น 

ดราม่าพิธากับการช่วยเหลือคนไทย

ด้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่าได้พูดคุยกับทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และมอบหมายให้สุเทพ อู่อ้น เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับแรงงานไทยในอิสราเอลเป็นที่เรียบร้อย พร้อมแจ้งให้ครอบครัวของแรงงานที่ไม่สามารถติดต่อกับญาติที่อิสราเอลได้ สามารถส่งข้อความไปที่อีเมลของเขาได้ เพื่อจะได้รวบรวมประสานงานกับสถานทูต หรือส่งมอบให้กระทรวงการต่างประเทศต่อไป 

หลังพิธาโพสต์ข้อความดังกล่าวไป ก็ไม่วายกลายเป็นดราม่า เมื่อประชาชนบางกลุ่มมองว่านี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ พิธาไม่จำเป็นต้องเข้าไปวุ่นวายหรือทำให้กระบวนการช่วยเหลือประชาชนยุ่งยากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายคนเข้ามาตอบโต้ว่าช่องทางของทางการไทยไม่สามารถติดต่อได้ การที่พิธาเข้ามาช่วยเหลืออีกทางก็ช่วยบรรเทาความกังวลใจของครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอลได้เช่นกัน 

อิสราเอลแก้แค้น

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลได้ออกมาประกาศ ว่าจะ "แก้แค้นครั้งใหญ่ให้กับวันอันชั่วร้ายนี้" แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าอิสราเอลจะตอบโต้กลุ่มฮามาสอย่างไร แต่นี่จะเป็นการยกระดับความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ

Getty Images

ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขในปาเลสไตน์ ได้รายงานว่ามีประชาชนในกาซาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว กว่า 413 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,300 ราย ขณะที่สถานีโทรทัศน์อิสราเอลระบุว่า กลุ่มฮามาสได้สังหารชาวอิสราเอลไปแล้วกว่า 1,000 คน และมีประชาชนอีกจำนวนมากที่โดนจับไปเป็นตัวประกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook