นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์: จิตวิทยาว่าด้วย “ความงมงาย” ของคนไทย

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์: จิตวิทยาว่าด้วย “ความงมงาย” ของคนไทย

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์: จิตวิทยาว่าด้วย “ความงมงาย” ของคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ความเชื่อสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ ความเชื่อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมดี และความเชื่อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่ดี 
  • ความเชื่อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี ถ้ารุนแรงมาก ๆ จะเรียกว่าความงมงาย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อที่คนเรามีภาวะที่ขาดความมั่นคงภายใน และมีภาวะสิ้นหวัง
  • “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เป็นกลไกทางจิตที่เรียกว่า “การอ้างเหตุผล” เกิดจากการที่เรากลัวการพิสูจน์ กลัวว่าสิ่งที่เรายึดถือจะสั่นคลอน จึงต้องแก้ด้วยกระบวนการของการอ้างเหตุผล
  • รากฐานของความงมงายที่สำคัญที่สุดคือความรู้สึกไม่มั่นคง ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำและการศึกษาที่เน้นเนื้อหาและการท่องจำ 
  • “วิธีคิดแบบปิด” คือรากของปัญหาเรื่องความงมงาย ความเห็นต่าง และความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น การรับข้อมูลข่าวสารที่ดีของคนในสังคมจึงควรเป็นแบบเปิด

ข่าวการบุกทลายสำนักฤาษีลัทธิ “พระบิดา” ที่นอกจากจะทำให้ใครหลายคนทานอาหารไม่ได้ไปหลายมื้อ ยังเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความแปลกประหลาดและสุขอนามัยของคนในลัทธิ ขณะที่หลายฝ่ายก็สะท้อนเรื่อง “ความงมงาย” ที่ไหลวนอยู่ในสังคม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่สังคมไทยต้องตั้งคำถามกับลัทธิความเชื่อที่ “สุดโต่ง” แล้วอะไรเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังความงมงายเช่นนี้ Sanook พูดคุยกับนายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาเหตุผลของความงมงาย พร้อมสะท้อนปัญหาที่อาจจะดูไม่เชื่อมโยงกันแต่ก็เชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ 

ความเชื่อ ความงมงาย ความหลงผิด 

มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานวิธีคิดที่เรียกว่า “ความเชื่อ” ซึ่งอาจมาจากความเชื่อส่วนตัว ความเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเคารพนับถือ โดยแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่ ความเชื่อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ดี และความเชื่อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี 

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

“ความเชื่อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมหรือสภาวะที่เรียกว่าดี เช่น ความเชื่อในศาสนา เราไม่ต้องการการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ทำให้เราเป็นคนดี ประพฤติดี พวกนี้เรียกว่าความศรัทธา ส่วนความเชื่ออีกประเภทหนึ่ง เป็นความเชื่อที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ทำให้เราเล่นการพนัน เสี่ยงโชค เป็นภาวะที่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองและผู้อื่น พวกนี้เป็นความเชื่อด้านลบ ถ้ารุนแรงมาก ๆ ก็เรียกว่าความงมงาย” นายแพทย์ยงยุทธเริ่มต้นอธิบาย 

ความงมงายที่รุนแรงมาก ๆ จนกระทั่งหลุดออกไปจากความเป็นจริงเลย อันนี้เรียกว่าความหลงผิด ซึ่งความหลงผิดในทางสุขภาพจิต ส่วนใหญ่เราจะถือว่าเป็นภาวะที่ป่วย เช่น มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน แล้วก็มีอาการหวาดระแวง หลงผิด คนที่เป็นโรคไบโพลาร์ก็จะมีความหลงผิด รู้สึกว่าตัวเองมีอิทธิฤทธิ์ มีอำนาจ เป็นคนใหญ่คนโต เป็นโน่นเป็นนี่มาก่อน” 

ทั้งนี้ ความงมงายและความหลงผิดนั้นมีความสัมพันธ์กัน โดยนายแพทย์ยงยุทธระบุว่า คนที่มีความหลงผิดและมีลักษณะการพูดที่สามารถจูงใจคนได้ ก็จะทำให้ผู้อื่นคล้อยตามและเชื่อคน ๆ นั้นได้อย่างไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งคนที่หลงผิดจะถูกเรียกว่า “ศาสดา” หรือ “เจ้าลัทธิ” และคนที่เชื่อก็จะเป็นผู้ที่งมงาย หลงตาม ซึ่งลักษณะแบบนี้ปรากฏให้เห็นทั่วโลก

ทำความเข้าใจเรื่อง “ความงมงาย” 

“ถ้าเรามองความเชื่อ มองคนเหล่านี้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ ก็คืออย่าไปดูถูก เพราะจริง ๆ แล้วทุกคนก็อาจจะมีความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่กับตัวเองไม่มากก็น้อย แล้วเวลาที่คนเรามีภาวะที่ขาดความมั่นคงภายใน มีภาวะสิ้นหวัง มันจะมีโอกาสที่เราจะเกิดความเชื่อที่ผิด ๆ หรือความงมงายได้ เพราะว่าสิ่งที่เราพยายามจะเชื่อและทำด้วยเหตุผล มันก็ยังไม่ได้ผล มันก็ยังไม่ทำให้เราแก้ปัญหาได้สักที เพราะฉะนั้น ช่วงที่คนเราแย่ ๆ ก็ไม่แปลกอะไรที่จะมีความเชื่อผิด ๆ หรือความงมงายได้” นายแพทย์ยงยุทธกล่าว

 

นอกจากภาวะขาดความมั่นคงภายในที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเกิดความงมงายแล้ว ปัจจัยเรื่องวัฒนธรรมย่อยก็มีส่วนที่ก่อให้เกิดความเชื่อและความงมงายได้เช่นกัน นายแพทย์ยงยุทธอธิบายว่า วัฒนธรรมย่อยคือความเชื่อของกลุ่มคนที่อยู่รวมกัน ในชุมชนเดียวกัน และจะมีความเชื่อคล้ายกัน เช่น ความเชื่อเรื่องผีปอบ เป็นต้น 

“อีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความงมงายคือ อิทธิพลกลุ่ม เวลาที่คนมีความเชื่อที่รุนแรงจนถึงขั้นงมงายเกิดขึ้น เมื่อเป็นอิทธิพลกลุ่มจะทำให้เกิดการเสริมแรงซึ่งกันและกัน คนที่ไม่เชื่อตามก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดความเชื่อหรือความงมงาย ในขณะที่ขยายตัวขึ้นในวงของคนที่เป็นกลุ่มคนร่วมกัน” นายแพทย์ยงยุทธชี้ 

“รู้ทันตัวเอง” ป้องกันการหลงเชื่อและงมงาย 

เมื่อพูดถึงเรื่องความเชื่อและความงมงาย สิ่งที่ผุดขึ้นตามมาคงหนีไม่พ้นวลีเด็ด “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ซึ่งนายแพทย์ยงยุทธชี้ว่า ความเชื่อต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ แต่ที่คนไม่กล้าพิสูจน์ ก็เป็นเพราะคนเรากลัวว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อจะเป็นสิ่งที่ผิด จึงต้องสร้างเกราะป้องกันตัวเองขึ้นมา 

“ความกลัวตรงนี้ทำให้เกิดเกราะป้องกันตนเอง ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า กลไกทางจิต ซึ่งกลไกทางจิตอันหนึ่งก็คือการอ้างเหตุผล เพื่อให้คนไม่ต้องตรวจสอบ คำพูดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็เป็นกลไกทางจิตประเภทนี้ ทางด้านจิตวิทยาถือว่าเป็นกลไกทางจิตที่สังกัดอยู่ในกลุ่มที่ยังไม่ค่อยมีวุฒิภาวะ เพราะการที่เรากลัวการพิสูจน์ กลัวว่าสิ่งที่เรายึดถือจะสั่นคลอน ความกลัวตัวนี้จึงถูกแก้ด้วยกระบวนการของการอ้างเหตุผล” นายแพทย์ยงยุทธกล่าว

นายแพทย์ยงยุทธระบุว่า การเปิดใจกว้างและรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเป็นวิธีหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้ตัวเองติดกับความงมงาย รวมถึงการค้นหาข้อมูลที่หลากหลาย จะทำให้คนมีมุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากความงมงายเกิดขึ้นจากอิทธิพลกลุ่ม สิ่งแรกที่ต้องทำคือพยายามจำกัดบทบาทของคนที่เป็นผู้นำ และเมื่อทุกคนไม่มีที่ยึดถือความเชื่อที่รุนแรงเหล่านั้นแล้ว การเสริมแรงภายในกลุ่มที่ทำให้เกิดความงมงายก็จะค่อย ๆ ลดความเข้มข้นลง 

“ถ้าเราตัดความเชื่อที่ดี ซึ่งไม่ก่อให้เกิดปัญหาออกไปก่อน เรามาดูความเชื่อที่ไม่ดี ถ้ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ เวลาที่เราขาดความมั่นใจ ขาดความหวัง มันก็อาจจะทำหน้าที่ช่วยอะไรบางอย่างทางด้านจิตใจ เช่น หวังจะถูกหวยสักงวดหนึ่ง สอบให้ผ่าน พวกนี้ก็คือเป็นการทำหน้าที่ในสังคมอย่างหนึ่ง พวกนี้ไม่ค่อยก่อปัญหาหรอก แต่ถ้าเรามีการคิดวิเคราะห์ มีหลักคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เราก็ไม่จำเป็นต้องเสียแรงเชื่อแบบนี้” 

“พูดง่าย ๆ คือ มันจะแยกกันระหว่างคนที่แก้ปัญหาโดยที่มีวุฒิภาวะกับแบบยังต้องอาศัยเรื่องของความเชื่ออยู่ แต่ถ้าเมื่อไรที่เชื่ออย่างหัวปักหัวปำ ไม่สนใจดูหนังสือเพราะเชื่อว่ายังไงบนบานศาลกล่าวก็ผ่านแน่ ทำมาหากินแทนที่จะเก็บเงินไว้ ก็เอาไปเล่นการพนันหรือซื้อหวยทุกงวด แบบนี้เริ่มไม่เป็นผลดีแล้ว แบบนี้ต้องกลับมาทบทวนตัวเราเอง ถ้ามาก ๆ ก็อาจจะต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ว่ามีเหตุอะไรของการขาดความมั่นใจ หรือความสิ้นหวังที่ทำให้เรายึดติดและไปแก้ที่เหตุนั้นจะดีกว่า” นายแพทย์ยงยุทธชี้ 

ความงมงายสะท้อนความเหลื่อมล้ำและการศึกษาไทย

นายแพทย์ยงยุทธอธิบายว่า ความงมงายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสามารถสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ เนื่องจากรากฐานของความงมงายที่สำคัญที่สุด คือความรู้สึกไม่มั่นคง ขาดความมั่นใจ ขาดความมั่นคงในชีวิต 

ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มันทำให้คนกลุ่มใหญ่กลายเป็นคนที่ขาดความหวัง ขาดความมั่นคงในชีวิต ภาวะแบบนี้จะเป็นภาวะที่คนเราหันไปสู่ความงมงายได้ง่าย เราจะเห็นชัดเลยว่าประเทศที่ยิ่งความเหลื่อมล้ำน้อย ภาวะแบบนี้ก็จะน้อย และในมุมกลับกัน ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งประเทศไทยก็ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ก็จะมีมาก เราจึงไม่ค่อยแปลกใจหรอกว่า ทำไมประเทศไทยมีความงมงายมาก” 

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาก็เป็นส่วนสำคัญของปัญหาเรื่องความงมงาย โดยนายแพทย์ยงยุทธชี้ว่า การศึกษาของไทยเน้นเนื้อหาและการท่องจำ มากกว่าความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งทำให้คนในสังคมซึ่งส่วนใหญ่ผ่านระบบการศึกษามา ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ข้อมูลหรือข่าวสารที่ได้รับมา และกลายเป็นปัญหาที่มากกว่าแค่เรื่องความงมงาย

“เราจะเห็นว่าสังคมไทยงมงายเยอะ เฟคนิวส์เยอะ และเฮทสปีชเยอะ พวกนี้ที่จริงเป็นปรากฏการณ์ที่มาจากสภาวะแบบเดียวกัน ซึ่งแน่นอนการมีระบบการศึกษาที่ลดการท่องจำ ให้มาเป็นเชิงสมรรถนะให้มากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่สำคัญมาก ๆ เลย เพราะทุกคนต้องผ่านระบบการศึกษาอยู่แล้ว” นายแพทย์ยงยุทธกล่าว 

ยอมรับความเห็นต่างช่วยแก้ปัญหาความงมงาย 

“ความงมงายมีลักษณะอย่างหนึ่ง ในทางวิชาการเรียกว่าเป็นระบบปิด คือไม่สนใจข้อมูลและความคิดเห็นที่เป็นอย่างอื่น ซึ่งระบบปิดมันเป็นระบบที่ไม่มีวุฒิภาวะ และก่อให้เกิดผลร้ายได้ง่าย นอกเหนือจากเรื่องความงมงาย ก็เช่นกรณีความเห็นแตกต่างทางการเมืองหรือทางสังคม ก็จะทำให้เกิดความเกลียดชัง ไม่ยอมรับความเห็นคนอื่น และนำมาซึ่งความรังเกียจ ที่แสดงออกมาด้วยเฮทสปีช มาก ๆ เข้าก็กลายเป็นความเกลียดชัง และนำไปสู่ความรุนแรง” นายแพทย์ยงยุทธอธิบาย 

“วิธีคิดแบบปิด” คือรากของปัญหาเรื่องความงมงาย ความเห็นต่าง และความเกลียดชังที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคม ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการสื่อสารออนไลน์ ดังนั้น การรับข้อมูลข่าวสารที่ดีจึงควรเป็น “แบบเปิด” และเมื่อได้รับข้อมูลใด ๆ จากระบบออนไลน์ก็ต้องคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนก่อนส่งต่อ รวมถึงไม่เป็นผู้ผลิตข้อความความรุนแรงเองด้วย เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนยอมรับความเห็นต่างและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

“ในเชิงสุขภาพจิตให้ความสำคัญมาก ๆ ก็คือเราอย่าเป็นภาวะของคนที่ปิดรับความเห็นที่แตกต่าง มันก็จะนำไปสู่ทั้งความงมงาย ที่สร้างปัญหาให้กับตัวเองและสังคม แล้วก็เป็นปรากฏการณ์เดียวที่นำไปสู่ความรุนแรง ทั้งเฮทสปีช และความรุนแรงทางกายภาพ ถ้าสังคมไทยรู้จักฉุกคิดแบบนี้ มันจะทำให้เราสามารถก้าวข้ามไปสู่สังคมที่มีวุฒิภาวะ เปิดรับความเห็นที่แตกต่าง และใช้ความแตกต่างให้เป็นประโยชน์ ให้สังคมได้มีทางเลือกในการพัฒนา” นายแพทย์ยงยุทธกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook