ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 5 ปี ทักษิณ คดีถือหุ้น-แก้กฎหมายเอื้อชินคอร์ป

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จําคุก 5 ปี “ทักษิณ ชินวัตร” คดีถือหุ้นชินคอร์ปในระหว่างเป็นนายกฯ และมีการแก้กฎหมายเอื้อธุรกิจจนทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้าน
วานนี้ (14 ม.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ระหว่าง อัยการสูงสุด (โจทก์) และ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือคดีหุ้นชินคอร์ป ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการกระทําฝ่าฝืนกฎหมาย โดยยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น
ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น จําคุก 3 ปี รวมเป็นจําคุก 5 ปี ให้นับโทษจําคุกจําเลย ต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจําคุกของจําเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ข้อหาและคําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวเป็นการกล่าวหา นายทักษิณ หรือ อดีต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต (พ.ศ. 2527) พ.ศ. 2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551
โดยคดีนี้เคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนีคดี โดยจำเลยถูกออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้ว นำมาพิจารณาต่อตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาลและได้ออกหมายจับแล้ว ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับนายทักษิณ มารับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวนี้ด้วย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563