สแตนชาร์ดฟ้อง''เอสเอ็มอีแบงก์''

สแตนชาร์ดฟ้อง''เอสเอ็มอีแบงก์''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สแตนชาร์ด ฟ้อง เอสเอ็มอีแบงก์ ฐานเบี้ยวจ่ายดอกเบี้ยและค่าปรับเอฟอาร์ซีดี 3 งวดร่วม 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมยุติสัญญา โยนพิษซับไพรม์ อ้างแนะแบงก์ปรับโครงสร้างทางการเงิน แต่ถูกเมิน กรณ์ ขอดูผลกระบวนการป.ป.ช.ชี้ขาด ก่อนพิจารณาหาทางออก

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย ต่อกรณีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์ ) ธนาคารในสังกัดกระทรวงการคลัง ถูกธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ( ประเทศไทย ) จำกัด (มหาชน) บอกเลิกหรือปิดสถานะในสัญญาธุรกรรมบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ( เอฟอาร์ซีดี) และยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ ( IPIT ) โดยได้เรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดชำระหนี้ของเอสเอ็มอีแบงก์ เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา

เรื่องนี้กระทรวงการคลังคงทำอะไรมากไม่ได้ ขณะนี้เพียงรอกระบวนการตัดสินใจของป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)ว่าท้ายสุดจะตัดสินอย่างไรหรือจะเอาผิดกับตัวบุคคลได้อย่างไร จากนั้นจึงค่อยพิจารณาเพื่อหาทางออกอย่างไร

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา นายวรุณ กาญจนภู รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กฎหมายและบรรษัทภิบาล ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปิดสถานะในสัญญาธุรกรรมออกบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (เอฟอาร์ซีดี) วงเงิน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทำร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ก่อนครบกำหนดปี 2554 พร้อมกับยื่นฟ้องเอสเอ็มอีแบงก์ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว จากการที่เอสเอ็มอีแบงก์เพิกเฉยต่อการชำระดอกเบี้ยและค่าปรับในส่วนของสแตนชาร์ด รวม 3 งวด โดยได้พยายามทวงถามในช่วง 18 เดือน รวมวงเงิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (วงเงิน 1,360 ล้านบาท ) แต่ธนาคารเพิกเฉย ซึ่งการผิดนัดชำระหลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ จนส่งผลต่อการธุรกรรมบริหารความเสี่ยงดอกเบี้ยหลุดนอกกรอบจากที่ตกลง จากที่ 3 งวดก่อนหน้านี้เอสเอ็มอีแบงก์ได้รับผลประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยต่ำเป็นเม็ดเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยก่อนหน้า ผู้บริหารสแตนชาร์ด อ้างว่าได้แนะนำให้เอสเอ็มอีแบงก์ปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวน หลังจากเห็นสัญญาณซับไพรม์ไตรมาส 3 ปี 2550 แต่ธนาคารไม่ตอบสนองข้อเสนอ จนเป็นเหตุให้ดอกเบี้ยออกนอกกรอบเกิดความเสียหาย

การปฏิบัติของเอสเอ็มอี ยังถือว่าอยู่ใน 2 มาตรฐาน เพราะทางแบงก์ได้เพิกเฉยต่อการชำระหนี้ที่มีต่อแบงก์ แต่ยังจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ถือบัตรเงินฝากตามปกติ

นอกจากนี้มูลเหตุของการปิดสถานะสัญญาและฟ้องร้อง ยังมีสาเหตุจากการที่ เอสเอ็มอีแบงก์ประกาศโมฆกรรมในทุกสัญญา โดยไม่บอกกล่าวถึงเหตุผลหรือพยานหลักฐานใดมารองรับ ซึ่งส่งผลเสียภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นที่มีต่อธนาคารและประเทศเนื่องจากเป็นธุรกรรมระหว่างประเทศ

สำหรับมูลค่าการฟ้องร้องค่าชดใช้ นายวรุณ กล่าวว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้เพราะจะส่งผลต่อรูปคดีอีกทั้งต้องรอกระบวนการทางศาลก่อน ส่วนวงเงินตามที่เอสเอ็มอีแบงก์ให้ข่าวว่าอาจต้องชดใช้ให้ธนาคารถึง3,000 ล้านบาท ตนยังไม่สามารถระบุว่าเป็นตัวเลขที่ใช่หรือไม่

ทั้งนี้สัญญาในธุรกรรมที่ทั้งสองธนาคารร่วมกันครั้งนี้ ประกอบด้วย สัญญาการเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่าย สัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากดอกเบี้ย ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะประกาศเป็นโมฆะและปิดสถานะสัญญาต่อกัน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook